โดย คิริฮาระ
วันที่ 9 กันยายน 2565 ตามเวลาประเทศไทย พระราชวังบักกิงแฮมแห่งสหราชอาณาจักรออกแถลงการณ์ว่า ราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เสียชีวิตแล้ว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ครองราชย์ได้ 70 ปี หลายคนแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ กับข่าวการเสียชีวิตนี้ คนทั่วไปอาจจะเสียใจอยู่บ้าง แต่ถ้าเรามองด้วยความคิดทางการเมืองเข้าไปจับ เราอาจจะได้มุมมองที่แตกต่างออกไป
ทั้ง ๆ ที่สถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองโดยตรง แต่ก็มีส่วนสำคัญในแง่ของบทบาทเขิงสัญลักษณ์ให้แก่ชนชั้นปกครอง ชนชั้นปกครองในสหราชอาณาจักรพยายามใช้การตายของควีนเอลิซาเบธที่ 2 สร้างกระแส “ความสามัคคีในชาติ” ในบรรดาสื่อกระแสหลักจะพูดถึงประเด็น “70 ปีที่น่ายกย่อง” อีกทั้งยังมีการยกเลิกงานอีเวนท์สาธารณะต่าง ๆ และยังต้องการที่อยากให้สงบศึกทางการเมืองอีกด้วย
ขณะนี้สหราชอาณาจักรมีรัฐบาลที่อ่อนแอ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ได้คะแนนโหวตเพียง 81,000 โหวตจากคนในพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งคิดเป็น 57.4% ในขณะที่คนก่อน (นายบอริส จอห์นสัน) ได้คะแนนคิดเป็น 66.4% และช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็มีการโจมตีเรื่องความชอบธรรมของชนชั้นปกครองด้วย
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสาหลักของชนชั้นปกครองค่อย ๆ พังลง อดีตนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ถูกแฉว่าไปร่วมงานสังสรรค์ในช่วงล็อกดาวน์ ทั้งๆ ที่เขาออกมาสอนประชาชนให้เสียสละและยับยั้งชั่งใจ อีกทั้ง ยังมีเรื่องพฤติกรรมแย่ ๆ ของตำรวจ เช่น เหยียดสีผิวและเหยียดเพศ
สถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรอาจไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองโดยตรง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนอย่างเอลิซาเบธที่ 2 ที่ครองราชย์ยาวนาน มีนายกรัฐมนตรีถึง 15 คน เธอจะไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องเลยหรือ
จากพาดหัวข่าวของสำนักพิมพ์เทลิกราฟว่า “การทำงานชั่วชีวิตเพื่อประเทศชาติ” และในเนื้อข่าวบอกว่า “พวกนักการเมืองเดี๋ยวมาแล้วก็ไป แต่เจ้าแผ่นดินยังอยู่ต่อ ควีนในสถานะที่เป็นกลางและเป็นศูนย์รวมของสถาบันต่างๆ ที่ขัดแย้งกันให้เป็นหนึ่งเดียว” และภาพเช่นนี้ก็จะมีเรื่อย ๆ ในช่วงวิกฤตต่าง ๆ
อีกทั้ง ยังมีข่าวว่าสหภาพแรงงานรถไฟและสหภาพแรงงานโทรคมนาคมได้เลื่อนนัดหยุดงานออกไป เนื่องจากการตายของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในขณะที่การต่อสู้กับรัฐบาลและนายทุนกำลังดุเดือด แต่ฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มทุนก็ไม่ได้หยุดที่จะต่อสู้ทางชนชั้น ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟ ค่าอาหารไม่ได้จะหยุดขึ้นราคาและค่าแรงก็ไม่ได้เพิ่ม และยังมีข่าวการเลื่อนเทศกาลรณรงค์ปัญหาโลกร้อนขององค์กรที่รณรงค์เรื่องนี้อีกด้วย ทั้ง ๆ ที่มีการเตรียมการกันเป็นเดือน ๆ แล้ว และอย่างที่ทราบกันถึงสภาวะโลกร้อนที่รุนแรง ณ ขณะนี้ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อทั้งโลกและสร้างความเสียหายมหาศาลแก่ธรรมชาติและสัตว์ทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ด้วย
ฝ่ายสังคมนิยมในสหราชอาณาจักรหลายกลุ่มยืนยันจุดยืนว่า ต้องยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกับฝ่ายซ้ายในออสเตรเลีย พวกเขามองว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ล้าหลัง ฟุ่มเฟือยและถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองในการปกปิดวิกฤตต่างๆ การปรามการต่อสู้ทางชนชั้นและเป็นการตอกย้ำถึงสังคมชนชั้นอย่างชัดเจน ทั้งส่งเสริมแนวคิด “ในสังคมก็ต้องมีคนที่เกิดสูง เกิดต่ำเป็นเรื่องปกติ”
*******************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6