Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

น้ำท่วมซ้ำซาก ทุกข์ของคนจน ปัญหาจากการเมืองชนชั้น

โดย วัฒนะ วรรณ

ฝนตกทีไรน้ำท่วมทุกที่ ชีวิตคนจน กรรมาชีพ ที่ต้องเผชิญอยู่เป็นประจำ จะว่าชินอาจจะได้ แต่ก็ยากจะทนไหว เนื่องจากส่งผลกระทบกับชีวิตมากกว่าคนร่ำรวยหลายเท่านัก

ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นจากการเดินทาง ซึ่งไม่เคยถูกนับเป็นชั่วโมงทำงาน วันไหนฝนตกหนัก รถก็ติดหนัก รถไฟฟ้าก็แสนแพง กว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่น บางคนถึงบ้านเที่ยงคืนก็ยังมี ไม่มีการชดเชยใดๆ เช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องตื่นไปทำงานเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินพิเศษตามชั่วโมงที่เพิ่มขึ้น หรือได้สิทธิ์หยุดงานในวันรุ่งขึ้น เป็นต้น

บางครอบครัวน้ำท่วมสูงเข้าบ้าน ข้าวของเครื่องใช้เสียหาย จำเป็นต้องลดคุณภาพชีวิตลง เนื่องจากรายได้ของกรรมาชีพในระบบทุนนิยมถูกจ่ายให้ในระดับเพียงแค่ยังชีพอยู่เพื่อทำงานต่อไปได้เท่านั้น การที่จะต้องนำเงินจำนวนหนึ่ง มาใช้จ่ายซ่อมแซม จัดหา เครื่องใช้ใหม่ เท่ากับต้องยอมลดคุณภาพชีวิตลง ในขณะที่คุณภาพชีวิตเดิมก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่ก่อนแล้ว

สำหรับชนชั้นกลางล่าง พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย พนักงานขับรถรับจ้าง ฯลฯ ล้วนมีรายได้ประทังชีวิตวันต่อวัน นั่นเท่ากับรายได้ต้องหายไป นั่นหมายความว่าชีวิตครอบครัวต้องยากลำบากเพิ่มอย่างเลี่ยงไม่ได้

บางคนอาจจะบอกว่าปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ แก้ไขไม่ได้ ด้วยสภาพพื้นที่ราบลุ่ม ด้วยสภาพการวางผังเมืองเละเทะเกินเยียวยา บ้างพูดถึงปริมาณน้ำมากเกินปกติ ฯลฯ

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเมืองแบบกรุงเทพฯ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก คงมีองค์กรประกอบหลายส่วน แต่ประเด็นสำคัญมันเกี่ยวข้องกับการเมือง “ชนชั้น” ด้วย ชนชั้นนายทุนจะไม่ยอมลดกำไร ลดความมั่งคั่งลงแน่นอน เพื่อแก้ไขปัญหาให้คนจนทุเลาลง ทั้งๆ กำไร ความมั่งคั่งเหล่านั้นสร้างโดยกรรมาชีพทั้งนั้น

ระยะสั้นต้องเริ่มตั้งแต่ลดผลกระทบบรรเทาปัญหา เช่น จ่ายเงินชดเชยรายได้ ทั้งขาดรายได้ ทั้งชั่วโมงการเดินทางกลับบ้านจากการทำงานเพิ่มขึ้น ลดชั่วโมงการทำงานลง ปรับปรุงสภาพบ้านเรือนให้สามารถรับการเพิ่มขึ้นของน้ำท่วมสูงเกินปกติได้ เป็นต้น ระยะยาวต้องลงทุนหาวิธีจัดการบริหารน้ำ พังเมืองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ซึ่งทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณเพิ่ม งบประมาณมาจากไหน ถ้าไม่เก็บเพิ่มจากคนรวยมากๆ บริษัทใหญ่ ในอัตราสูงพิเศษ แต่รัฐบาลตัวแทนของนายทุนคงไม่ทำ ถ้าไม่การต่อสู้เรียกร้องของมวลชนขนาดใหญ่

รวมถึงการฝากความหวังไว้กับผู้ว่าฯ ชัชชาติก็คงจะผิดหวัง ด้วยชัชชาติก็มาจากชนชั้นนำและเขาพูดเสมอว่าจะไม่ทะเลาะกับฝ่ายใด พร้อมจะร่วมมือทำงาน ฟังดูก็เผินๆ ก็อาจจะดูดี แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า ฝ่ายต่างๆ ในปัจจุบันก็คือรัฐบาลที่เติบโตมาจากเผด็จการทหาร ที่ทำรัฐประหารเพื่อคนรวยมาในอดีต การไม่ต่อสู้กับรัฐบาลก็เท่ากับยอมรับสภาพสังคมเช่นเดิม

แน่นอนอำนาจผู้ว่าในการจัดการเรื่องต่างๆ มีจำกัด ในเชิงกฎหมาย แต่ถ้าต่อสู้แต่ในกรอบกฎหมาย ที่ถูกสร้างมาเพื่อผลประโยชน์ชนชั้นนายทุน ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ ต้องไม่ลืมว่า “ชัชชาติ” ก็เป็นนักการเมือง เขาสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

การพิจารณาปัญหาน้ำท่วมด้วยมุมมองที่อิงกับผลประโยชน์ทางชนชั้นช่วยให้มองเห็นสภาพจริงในสังคม ที่ถูกกระทำให้เหมือนเป็นธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้ว มันผิดธรรมชาติ ความมั่งคั่งทั้งมวลที่มนุษย์รวมกันสร้างด้วยกำลังแรงงานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แทนที่จะถูกนำมาบรรเทาความเดือดร้อน แก้ไขปัญหาของผู้สร้างความมั่งคั่งแต่แรก กลับถูกขโมยไปปรนเปรอสร้างความสุขสบายให้กับชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง ชนชั้นนายทุน ท่ามกลางความยากลำบากแสนสาหัสของกรรมาชีพ ยังไม่สายเกินไปที่กรรมาชีพทั้งหลายจะกลับมาพิจารณาสร้างพรรคของกรรมาชีพเอง โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมที่จะนำพาความเท่าเทียมที่แท้จริงมาสู่สังคม การทำงานของกรรมาชีพจะต้องถูกนำมาเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยเสมอหน้ากัน

ที่มาของภาพ มติชน

*****************************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


         

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com