โดย สหายกลั่น
ที่ผ่านมา นักวิชาการกระแสหลักมักมองเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่าเป็น “อุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์” ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “ความเข้าใจผิดทางการเมือง” เช่นแนวคิดแบบ “รัฐราชการ” ของ ริกซ์ (Riggs 1966) นักวิชาการ ฝ่ายขวาจากสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950 ที่เสนอว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยในสมัยนั้นไม่สนใจและไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง หรือพวกนักรัฐศาสตร์กลไกที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง ที่มองว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนคือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และการลงคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่การประท้วงบนถนน ซึ่งมุมมองเหล่านี้ไม่เคยยอมรับอย่างจริงจังว่า พลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมเกิดจากคนชั้นล่าง ทั้งยังมองข้ามการต่อสู้ของมวลชนชั้นล่าง และถ้าจะทำความเข้าใจบทบาทของชนชั้น ก็จะต้องมองย้อนกลับไปก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ขบวนการนักศึกษาที่ลักษณะมวลชนที่สำคัญคือ การประท้วงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ที่ถูกมองว่าไม่โปร่งใส
ในช่วงท้ายๆ ของเผด็จการมีการจัดกลุ่มเสวนาปัญหาทางสังคมโดยเริ่มจากชุมนุมวรรณศิลป์ มธ. และการจัดทำวารสาร ”สังคมศาสตร์ปริทัศน์” (เริ่มปี 2507) โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อเขียนทั้งจากนักวิชาการและนักศึกษา มีการจัดพิมพ์ “หนังสือเล่มละบาท” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม มีการจัดค่ายอาสาต่าง ๆ ทำให้นักศึกษามีความใกล้ชิดกับชาวนาและแรงงานมากขึ้น ทั้งยังเป็นการฝึกฝนพัฒนาความมั่นใจ พร้อมกับการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพที่มีความสำคัญต่อกระแสการต่อสู้ก่อน 14 ตุลา เพราะในระหว่างปี 2508-2514 มีการนัดหยุดงานถึง 113 ครั้ง และในเดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม 2516 มีการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้น 40 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่การนัดหยุดงานยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
บทบาทของมวลชนดังกล่าวเป็นผลจากการพัฒนาพลังการผลิตเศรษฐกิจทุนนิยมภายใต้เผด็จการทหาร มีการขยายตัวของจำนวนกรรมาชีพในเมืองอย่างรวดเร็ว ด้วยการดึงชาวนาจากชนบทมาเป็นแรงงานในเมือง และจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 15,000 คน ไปเป็น 50,000 คน โดยมีสัดส่วนเป็นลูกหลานกรรมาชีพเพิ่มขึ้น 46% มีกรณีของการนัดหยุดงานที่โรงงานผลิตเหล็กล้าที่ยาวนานถึง 1 เดือนจนได้รับชัยชนะในการปรับปรุงที่ทำงาน ปล่อยตัวแรงงานที่ถูกจับ และค่าชดเชยสำหรับค่าแรงที่เสียไประหว่างการนัดหยุดงาน รวมถึงกระแสการขบถทั่วโลกในช่วงเวลานั้น เช่น การนัดหยุดงานทั่วไปที่ฝรั่งเศส และการประท้วงต่อต้านสงครามในเวียดนาม สอดคล้องกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกปลายทศวรรษที่ 1960 ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของกรรมาชีพและความคิดของนักศึกษาในไทย
ชัยชนะของมวลชนจาก 14 ตุลา 16 เกิดจากการที่ชนชั้นกรรมาชีพได้เข้าร่วมกับนักศึกษาในการขับไล่เผด็จการถนอม-ประภาส-ณรงค์ และความรุนแรงจากทหารก็ไม่ได้เกิดจาก “ความเข้าใจผิดทางการเมือง” แต่เป็นความไม่ยอมสละอำนาจของชนชั้นปกครองเดิม จึงใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง แต่ด้วยจำนวนมวลชนจากกรรมาชีพนับหมื่นนับแสน และความเป็นอัมพาตทางเศรษฐกิจจากการนัดหยุดงาน ทำให้เผด็จการทหารอยู่ต่อไม่ได้
ชัยชนะใน 14 ตุลา ได้เสริมสร้างกำลังใจของนักศึกษา กรรมาชีพ และชาวนาอย่างก้าวกระโดด การต่อสู้ทางชนชั้นมีความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน พนักงานธนาคาร พนักงานหนังสือพิมพ์ อาจารย์ และข้าราชการ ได้ออกมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจการเมือง มีการขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพที่มีความหมายจริง ๆ นั่นคือความพยายามในการรวมตัวกันของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนายากจนที่เข้มข้นขึ้น มีการประท้วงเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และปัญหาราคาของผลผลิตที่ตกต่ำ เป็นต้น
ที่มาภาพ ศิลปวัฒนธรรม
**************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6