Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

สังคมนิยมกับการปลดปล่อยสัตว์

โดย ธัญเทพ ทองป้อง / แพรพลอย

จากแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ที่เขียนโดย มาร์กซ์และเองเกิลส์ เมื่อปี 1848 “ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น…” ข้อความดังว่า คงเป็นที่คุ้นหูของชาวสังคมนิยม และสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ การอ่านข้อความดังกล่าวก็อาจจะทำให้เห็นพ้องตามด้วยไม่ยากนัก ข้อความดังกล่าวได้แสดงถึงความเป็นจริงระหว่าง “มนุษย์” ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นหนึ่งกับอีกชนชั้นหนึ่ง ในแต่ละช่วงพัฒนาการประวัติศาสตร์ของสังคมนั้น ทว่าสิ่งที่มักถูกละเลยในทฤษฎีและการถกเถียงของชาวสังคมนิยม คือการกดขี่ระหว่าง “สปีชีส์” หนึ่งต่อสปีชีส์อื่นๆ ซึ่งสปีชีส์ที่ว่าก็คือ มนุษย์ ที่กดขี่ ขูดรีดและใช้งานสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะใช้เป็นอาหาร เช่น หมู ไก่ ปลา วัว เป็นยานพาหนะ เช่น ม้า ช้าง เป็นที่ทดลองสารเคมีและยารักษาโรค เช่น หนู รวมไปถึงใช้เป็นสินค้าหรือปัจจัยการผลิต เช่น สวนสัตว์ ละครสัตว์ อควาเรียม การกดขี่ขูดรีดนี้มีมานานพอๆ กับเท่าที่มีประวัติศาสตร์ และน้อยครั้งนักที่เราจะได้ยินมันถูกพูดถึง แม้แต่ในทฤษฎีของนักปรัชญาปฏิวัติหัวก้าวหน้าที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัยของเรา คือมาร์กซ์และเองเกิลส์

ปัจจุบันมนุษย์มีความตระหนักรู้เรื่องการกดขี่ในหลายรูปแบบเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ผู้หญิง การกดขี่คนต่างสีผิว ในส่วนของการกดขี่สัตว์ การใช้ประโยชน์จากสัตว์ไม่ว่าจะเป็นการกินหรือการเลี้ยงไว้ใช้งาน นอกจากจะเป็นการทรมานสัตว์แล้ว ยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนมากถึง 14.5% ด้วย อุตสาหกรรมเนื้อปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 7.1 พันล้านตันต่อปี มากกว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ฝรั่งเศสและอเมริกาผลิตรวมกัน เมื่อทั้งการกดขี่สัตว์และปัญหาโลกร้อนได้มาบรรจบกัน ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องภาวะโลกร้อนจึงเลี่ยงการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ไม่ได้

ภายในระยะเวลา 60 ปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 60 อุตสาหกรรมเนื้อบนโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 4 เท่า ตามการรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี 1961 จำนวนเนื้อสัตว์ที่ผลิตได้บนโลกอยู่ที่ 70 ล้านตัน ในขณะที่ในปี 2018 จำนวนเนื้อสัตว์ที่ผลิตได้สูงถึง 330 ล้านตัน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสัตว์ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเยอะ เช่น ในการผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำมากถึง 13,500 ลิตร หรือ 4,600 ลิตรสำหรับเนื้อหมู FAO ยังประมาณการอีกว่า กว่า 70% ของพื้นที่เกษตรกรรมบนโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อเลี้ยงสัตว์หรือผลิตธัญพืชเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ และความกระหายในที่ดินของอุตสาหกรรมนี้เองนำไปสู่การถางทำลายป่ากว่า 91% ของพื้นที่ป่าอเมซอนเพื่อเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือไร่ถั่วเหลืองสำหรับทำเป็นอาหารสัตว์

ปัจจุบันโลกกำลังประสบกับผลกระทบจากกิจกรรมอุตสาหกรรมเหล่านี้อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยแล้งอันรุนแรงในจีนหรือยุโรป หรือวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานที่น้ำท่วม ทำให้ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศจมบาดาลภายในชั่วข้ามคืน ทั้งหมดนี้คือราคาที่แท้จริงของการบริโภคเนื้อ อย่างไรก็ตาม เนื้อเป็นแหล่งที่มาของโปรตีนซึ่งสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ แล้วเราจะเอาอะไรมาแทนการไม่กินเนื้อเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารโปรตีน ซึ่งนาย ฌ็อง-ลุค เมลองชง นักการเมืองฝ่ายซ้ายประเทศฝรั่งเศสรณรงค์ให้ประชาชนชาวลดการบริโภคเนื้อผ่านนโยบายสังคมนิยมเพื่อปลดปล่อยสัตว์และลดขนาดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อมลพิษ โดยเขาประกาศว่า “เราต้องหลักการันตีการเข้าถึงอาหารของคนหนุ่มสาว 100% ของอาหารในโรงเรียนต้องปลอดสารพิษและมีเป้าเพื่อเป็นอาหารมังสวิรัติ 100% ทั้งหมดนี้เป็นการวางแผนเชิงนิเวศ ฝรั่งเศสต้องเรียนรู้ที่จะกินโปรตีนจากพืช มนุษยชาติไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่เปลี่ยนอาหารที่กิน”

****************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com