Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

อาชญากรรมในมุมมองมาร์กซิสต์

โดย พัชณีย์ คำหนัก

เป็นที่น่ากังวลใจว่าเมื่อเราอยู่ในสภาพสังคมที่ย่ำแย่ เรามักจะเห็นข่าวอาชญากรรมหลายประเภท จากพื้นที่นอกบ้านถึงในบ้าน เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้มาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ ปิดกิจการ จำกัดการเดินทาง ทำให้เกิดความเครียดด้านเศรษฐกิจ ถูกลดเงินเดือน ลดโอที ตกงาน ยากจน ไปจนถึงคดีสะเทือนใจของคนในสังคม เช่น การประทุษร้ายต่อเด็กและสตรี การล่อลวงเด็กวัยรุ่นบนออนไลน์ให้ทำงานผิดกฎหมาย แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ และการก่ออาชญากรรมทางธุรกิจ ที่มีผู้เสียหายเกือบหมื่นรายและมีมูลค่าความเสียหายนับพันๆ ล้าน เช่นคดีแชร์ลูกโซ่ Forex-3D ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถป้องกันได้ และมักอ้างว่าจับกุมยาก คำถามแรกคือ สาเหตุของอาชญากรรมมาจากตัวปัจเจกหรือตัวระบบสังคมที่เป็นปัญหา

ความหมายและประเภทของอาชญากรรม

อาชญากรรมมีความหมายทั้งทางกฎหมายและสังคมวิทยา คือ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายละเมิดผู้อื่นและการกระทำที่มีความชั่วร้ายในตัวเอง เป็นอันตรายต่อสังคม เช่นการฆาตกรรม ปล้นทรัพย์ แต่ในทางสังคมวิทยา มองไปไกลกว่าทางกฎหมาย ในแง่ที่เป็นปรากฎการณ์ความขัดแย้งของคนในสังคม และกฎหมายที่ตรานั้นอาจมีช่องว่างช่องโหว่ ตามไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ให้อำนาจแก่ผู้มีอำนาจรัฐหรือคนบางกลุ่มมากเกินไป ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ส่วนประเภทของอาชญากรรมที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ได้แก่ 1) อาชญากรรมพื้นฐาน เช่น ตบตีชกต่อย ลักขโมย ฉกชิงวิ่งราว ปล้นทรัพย์เพื่อตอบสนองต่อผู้กระทำเอง 2) อาชญากรรมอุกฉกรรจ์ มุ่งประทุษร้ายต่อตัวบุคคลและทรัพย์สิน ฆาตกรรม กระทำชำเราทางเพศ 3) อาชญากรรมที่ทำโดยมืออาชีพ เช่น มือปืนรับจ้าง รับจ้างทวงหนี้ นักล้วงกระเป๋า 4) อาชญากรรมทางการเมือง เช่น ซื้อสิทธิขายเสียง ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงด้วยความรุนแรง 5) อาชญากรรมคอปกขาว เป็นคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ฉ้อโกงโดยอาศัยฐานะหน้าตาทางสังคม แอบอ้างผู้มีบารมี เช่น แชร์ลูกโซ่ หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ 6) อาชญากรรมทำเป็นองค์การ ทำอย่างเป็นระบบ เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด ลักลอบขนของหนีภาษี ขบวนการค้ามนุษย์ มิจฉาชีพออนไลน์ ที่พัฒนาเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ โดยอาศัยอิทธิพล ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดเสียเอง

เราอาจตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในสังคมที่ไร้เสถียรภาพขาดความปลอดภัย ระบบยุติธรรม การทำงานของราชการ ฝ่ายปกครองที่ไม่เท่าทัน ที่แย่คือ มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กระทำผิด รีดไถ รังแกประชาชน ละเว้นการกระทำ หรือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการนั้นเสียเอง เช่น บ่อนการพนัน ยาเสพติด ค้าแรงงาน หรือรัฐออกกฎหมายกำหนดว่าการกระทำใดเป็นอาชญากรรม เช่น ในอดีตที่การทำแท้งเสรีนั้นผิดกฎหมาย แล้วประชาชนจะหวังพึ่งใครได้

สาเหตุการก่ออาชญากรรมในมุมมองมาร์กซิสต์

สาเหตุมีทั้งปัจจัยทางร่างกายจิตใจของผู้กระทำผิด และปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในครอบครัวและสภาพสังคม ยังรวมถึงสถานการณ์ที่บีบบังคับ ระดับการยับยั้งชั่งใจกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของปัจเจก ในที่นี้ เราจะใช้แนวคิดมาร์กซิสต์มองอาชญากรรม ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดกระแสหลัก เพื่อให้เห็นความผิดปกติของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม และหยุดการผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างในฐานะที่เป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพ มากกว่าเข้าไปดูสาเหตุความผิดปกติทางร่างกาย ปมทางจิตใจ กรรมพันธุ์ ที่นักจิตวิทยาหรือนักอาชญาวิทยาศึกษาวิจัย ที่ท้ายสุดมองว่า ปัจจัยภายในและภายนอกก็เชื่อมโยงกันไม่มากก็น้อย

วิลเลียม บองเช นักมาร์กซิสต์ มองว่า อาชญากรรมเป็นปรากฎการณ์ของความขัดแย้งภายในสังคม ที่มีพื้นฐานมากจากปัจจัยทางชนชั้น เขายังอธิบายว่า การเติบโตของสังคมทุนนิยมมีส่วนสำคัญในการเพิ่มอัตราอาชญากรรมในสังคม เพราะเป็นระบบการแข่งขัน ที่ผู้แข็งแรงสุดจะเป็นผู้อยู่รอด และเป็นระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ความมั่งคั่งมาจากการกดขี่ขูดรีดผู้ใช้แรงงานจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น

ลัทธิมาร์กซ์เห็นว่า อำนาจการเมืองการบริหารถูกยึดครองโดยชนชั้นนายทุน และกฎหมายเป็นภาพสะท้อนของอุดมการณ์ของชนชั้นนายทุน ระบบกฎหมาย (ทนายความ ผู้พิพากษา และศาล) และตำรวจ ล้วนรับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน สถาบันดังกล่าวนี้ใช้เพื่อควบคุมมวลชน ป้องกันการปฏิวัติ และสอนให้ประชาชนอยู่ในจิตสำนึกที่ผิดพลาด (The Marxist Perspective on Crime ในเว็บไซต์ Revisesociology.com) กล่าวคือ

1.ระบบทุนเสริมสร้างอาชญากรรม

2.กฎหมายถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นนายทุน ทำงานทางอุดมการณ์และเน้นแสวงหาผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเอง ลงโทษฝ่ายตรงข้าม ไม่รับผิดชอบต่อกรณีความยากจนที่เลวร้ายที่สุด หรือในอดีตที่รัฐทุนนิยมล่าอาณานิคมแต่ไม่ถูกลงโทษ เช่นจักรวรรดินิยมอังกฤษ

3.ทุกชนชั้นก่ออาชญากรรมได้ แต่อาชญากรรมของชนชั้นนายทุนมีราคาแพงกว่าอาชญากรรมบนท้องถนนของคนชั้นล่าง ซึ่งนักมาร์กซิสต์เน้นที่อาชญากรรมคอปกขาว คนรวย อาชญากรรมของพวกบรรษัท อาชญากรรมเชิงสถาบัน เช่น ละเลยเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งถูกลงโทษน้อยกว่าคนจน

4.รัฐเลือกบังคับใช้กฎหมาย ระบบยุติธรรมทางอาญามักเน้นการใช้เจ้าหน้าที่รัฐและการลงโทษคนชายขอบ คนจน ซึ่งสะท้อนการทำงานเชิงอุดมการณ์ของชนชั้นนำ

ทุนนิยมสร้างแรงผลักดันให้ก่ออาชญากรรม

ทุนนิยมพร่ำบอกให้ปัจเจกทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสสร้างตัว เพื่อประโยชน์ของตัวเองมากกว่าส่วนรวม โฆษณากระตุ้นความต้องการบริโภคทางวัตถุ บ้านสวย รถหรู สร้างจินตภาพ รสนิยม ไลฟ์สไตล์ เช่น วาทกรรมปลุกความฝันของชาวอเมริกันทุกชนชั้น (American Dream) ทำให้สหรัฐเป็นดินแดนแห่งความหวังของคนทั่วโลกหลังสงครามเวียดนาม แต่คนมักเอื้อมไม่ถึง เพราะไม่สามารถจ่ายได้ เพราะระบบทุนสร้างความเหลื่อมล้ำและความยากจน ที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมสูงขึ้น และเพิกเฉยปัญหาการกดขี่ทางเชื้อชาติสีผิว และการกดขี่แรงงาน

ทุนนิยม ผลประโยชน์ส่วนตัวและอาชญากรรม

เดวิด กอร์ดอน นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์ กล่าวว่า สังคมทุนนิยมคือ ‘สังคมหมากินหมา’ ซึ่งแต่ละบริษัทและแต่ละปัจเจกได้รับการพร่ำบอกให้แสวงหาผลประโยชน์ของตนเองก่อนผลประโยชน์ของผู้อื่น ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นความโลภของบรรษัทที่กระทำผิดศีลธรรมอย่างเหลือเชื่อ เพราะเป้าหมายของระบบคือกำไรสูงสุด แม้จะทำลายผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมก็ตาม

มาร์กซิสต์ชี้ให้เห็นว่า ในสังคมทุนนิยม มีแรงกดดันในการแข่งขันอย่างมหาศาลเพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้น ประสบความสำเร็จมากขึ้น และทำกำไรได้มากขึ้น เพราะในระบบการแข่งขันเป็นวิธีเดียวที่จะอยู่รอดได้ ในบริบทดังว่านี้ การละเมิดกฎหมายอาจดูเหมือนไม่สำคัญเมื่อเทียบกับแรงกดดันที่อยากจะประสบความสำเร็จ และการฝ่าฝืนกฎหมายก็ส่งผลกระทบต่อคน เช่น อาชญากรทางเศรษฐกิจ โจร หัวขโมย สิ่งที่พวกเขาทำคือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่สนใจเหยื่อแต่อย่างใด

ทุนนิยม บริโภค/วัตถุนิยมและอาชญากรรม

บริษัทต่างๆ เช่น Coca Cola และ McDonald’s ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ทุกปีในการโฆษณา ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของตนให้กลายเป็นภาพที่น่าหลงไหล ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงของผลิตภัณฑ์ รวมถึงกระบวนการผลิตที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ การโฆษณาเกินจริงและทำให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ทำให้คนต้องไขว่คว้า ไม่พอใจสถานะที่เป็นอยู่ และอาจทำสิ่งที่ผิดกฎหมายได้

เมอร์ตันและไนติงเกลได้ชี้ให้เห็นว่า บางคนที่ปรารถนาจะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จของสังคมอาจไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะการโฆษณาชวนเชื่อไปเพิ่มความตึงเครียดว่าจะควรจะทำตามกฎหมายหรือทำตามเป้าหมายความสำเร็จทางวัตถุนั้น

ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำและอาชญากรรม

ระบบทุนนิยมเป็นอาชญากรรมเพราะมันสร้างความเหลื่อมล้ำและความยากจน กล่าวคือ ระบบทุนสร้างความไม่เท่าเทียมที่รุนแรง คือ มีคนบนสุด หรือพวก ‘Superclass’ พวกเจ้าของบรรษัทระดับโลก กับคนล่างสุด ชาวสลัม เด็กเร่ร่อน และผู้ลี้ภัยในโลกที่กำลังพัฒนา

ซิคมันท์ บาวแมน นักสังคมวิทยา อธิบายว่า คนรวยสุด ๆ ใช้ชีวิตในชุมชนที่มีรั้วรอบขอบชิดและเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวหรือรถหุ้มเกราะพร้อมผู้ติดตามรักษาความปลอดภัย ถ้าพวกเขามีเงินมากพอ ก็จะย้ายไปอยู่ที่ที่ดีกว่า และส่งลูกไปโรงเรียนเอกชน กระนั้น คนจนกับคนรวยก็ไม่ให้แยกขาดจากกันจริง

ความไม่เท่าเทียมมหาศาลนี้ทำให้ผู้คนที่อยู่เบื้องล่างรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม โกรธและคับข้องใจที่ไม่มีการกระจายความมั่งคั่งนั้น รวมทั้งภาวะไร้อำนาจการต่อรอง ด้วยเหตุนี้ ระบบทุนนิยมจึงทำให้เกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมบนท้องถนน ที่บ้านเป็นจำนวนมาก และมากขึ้นหากเกิดในประเทศเผด็จการที่ผู้คนเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม

วิลเลียม แชมบลิส กล่าวว่า “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” แสดงถึงการตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งขันและความไม่เท่าเทียมกันของชีวิตคนในสังคมทุนนิยม” เพราะกรรมสิทธิ์เอกชนคือหัวใจของระบบนี้ คนค้ายามองตัวเองเป็นผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม ความปรารถนาภายในคือความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จ ที่การละเมิดกฎหมายเป็นความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย

ด้วยเหตุนี้ นักมาร์กซิสต์จึงเชื่อว่า สังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น จากการมีค่านิยมของความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำกว่า ดังเห็นได้จากประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีความสุขและมีอัตราอาชกรรมที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ (ดูจากดัชนีอาชญากรรมรายประเทศกลางปี 65) แม้ประเทศนั้นจะยังเป็นทุนนิยม แต่ต้องมองว่า รัฐสวัสดิการเกิดจากการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ความขัดแย้งทางชนชั้นนำไปสู่การต่อสู้และเปลี่ยนแปลง หากแรงงานเป็นฝ่ายชนะก็จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ลดความยากจน ได้รับความยุติธรรม แต่หากพ่ายแพ้ก็ถูกกดปราบยิ่งขึ้น เราจึงยังคงเห็นการต่อสู้ของแรงงานและผู้ถูกกดขี่ดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดในระบบทุนนิยม

*********************************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com