โดย แพรพลอย
ทุนนิยมสัญญาว่าจะตอบสนองความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุด (infinite wants) แต่กลับตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อย่างอาหารไม่ได้ วิกฤตอาหารนั้นเกิดขึ้นก่อนสงครามยูเครน จากปี 2557 ถึง 2564 ตามการรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จำนวนคนที่ประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเดิม 565 ล้านคนเป็น 924 ล้านคน โดยจำนวนผู้ประสบกับปัญหานี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2562 ถึง 2564 ในปี 2564 กว่า 2.3 พันล้านคนหรือคิดเป็น 29.3% ของประชากรโลกประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางหรือรุนแรง นอกจากนี้ภายใน 2 อาทิตย์หลังรัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน ราคาธัญพืชเพิ่มขึ้น 50% ในขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรยังไม่ทันได้ถูกทำลาย
ราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้น 33.6% ในช่วงปีที่ผ่านมา ตามการรายงานขององค์กรอ๊อกซ์แฟม ที่ตีพิมพ์ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 และจะเพิ่มขึ้นอีก 23% ในปีนี้ ประเทศที่มีรายได้น้อยจ่ายค่าอาหารแพงกว่าประเทศที่มีรายได้มากถึง 2 เท่าเมื่อเทียบตามสัดส่วนรายได้ เช่น กว่า 60% ของรายได้คนจนชาวโมซัมบิกซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่จนที่สุดในโลกหมดไปกับค่าอาหาร ความจนไม่เคยมีราคาแพงเท่านี้มาก่อน
ในช่วงเดียวกันนี้เองกลุ่มมหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของกิจการอาหารอย่างคาร์กิล (Cargill) อาเชอร์ แดเนียล มิดแลนด์ (Archer Daniels Midland) บังจ์ (Bunge) และหลุยส์ ไดรฟัส (Louis Dreyfus) กลับมีเงินเพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์ทุกสองวัน เช่น บริษัทคาร์กิล (Cargill) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 บริษัทอาหารข้ามชาติที่ควบคุมกว่า 70% ของตลาดธัญพืชระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 ในช่วงการระบาดของโควิด บริษัทนี้มีรายได้สูงถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในปี 2021 บริษัทมีรายได้สุทธิ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุบสถิติทำกำไรได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และตั้งเป้าว่าจะทำกำไรเพิ่มขึ้นอีกในปี 2565 ดังนั้น ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าชนชั้นนายทุนมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น
แล้วทำไมในศตวรรษที่ 21 ความหิวโหยยังคงเป็นปัญหาอยู่ วิกฤตนี้เป็นผลโดยตรงมาจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และนโยบายความร่วมมือทางการค้าองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่เผยแพร่และยัดเยียดนโยบายเสรีนิยมใหม่ให้แก่ประเทศลูกหนี้หรือประเทศทางซีกโลกใต้ ตลอดช่วงระยะเวลา 30 ถึง 40 ปีที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้ใช้ความเป็นเจ้าหนี้บีบบังคับให้ประเทศลูกหนี้รับนโยบายเสรีนิยมใหม่ผ่านมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อรีดเงินคืน บังคับให้รัฐบาลประเทศลูกหนี้ยกเลิกงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและมาตรการสำรองอาหารในประเทศยามมีวิกฤตอาหารเพราะมองว่าเป็นงบประมาณที่สิ้นเปลือง
เกษตรกรรายย่อยในประเทศซีกโลกใต้อย่างอินเดีย เม็กซิโก หรืออียิปต์ต้องไปกู้เงินจากธนาคารเอกชนที่คิดดอกเบี้ยสูงแทน ทำให้เป็นหนี้ท่วมหัว และนำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือการออกจากภาคการเกษตรไปทำงานอย่างอื่น เปิดโอกาสให้บริษัทอาหารข้ามชาติรายใหญ่เข้ามาเป็นผู้เล่นรายเดียวในตลาดอุตสาหกรรมเกษตร
แม้พื้นที่ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผ่านการแผ่ขยายของทุนในอุตสาหกรรมอาหารจากการแย่งชิงที่ดินของชาวบ้านอย่างรุนแรงและการถางทำลายป่า แต่ความหิวโหยก็ยังไม่หมดไปเพราะที่ดินดังกล่าวไม่ได้สำหรับการเพาะปลูกพืชเพื่อการบริโภคของมนุษย์โดยตรง เช่น กว่า 35% ของธัญพืชที่ผลิตได้บนโลกถูกแปรรูปเป็นอาหารของสัตว์ในอุตสาหกรรมเนื้อ และกว่า 10% ของธัญพืชที่ผลิตได้บนโลกถูกแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเกษตร (agrofuel) หรือที่รู้จักกันในนามเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) ตามการสนับสนุนของรัฐบาลซีกโลกเหนือเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือกแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยคาดหวังว่าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษลง แต่ข้อมูลจากรายงานของเอ็นจีโอการขนส่งและสิ่งแวดล้อมยุโรปหรือ T&E กลับออกมาในทางตรงกันข้าม โดยภาพรวมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการใช้งานแล้ว เชื้อเพลิงเกษตรที่รัฐบาลซีกโลกเหนือลงทุนไปนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบ 4%
การถางทำลายป่าผนวกกับมลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรมนั้นใช้ปุ๋ยเคมีเยอะเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก นำไปสู่ภาวะหน้าดินถูกทำลายจากการใช้สารเคมีมากเกินควร ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นและทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง ตามการรายงานของ FAO หนึ่งในสามของหน้าดินบนโลกมีความเสื่อมโทรมในระดับปานกลางถึงมาก
องค์กรเหล่านี้กดดันให้ประเทศในเขตร้อนเปลี่ยนการผลิตข้าวหรือข้าวสาลีมาผลิตโกโก้ กาแฟ ชา กล้วย ถั่วลิสง ฝ้าย หรือน้ำตาลที่ถูกจัดว่าเป็นพืชเศรษฐกิจโดยพวกเสรีนิยมเพื่อการส่งออกแทน ซึ่งเป็นการทำลายเอกภาพทางอาหาร และทำให้ประเทศในซีกโลกใต้อย่างอาร์เจนตินาและเลบานอนต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากประเทศทางซีกโลกเหนือ
ไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายขององค์กรเหล่านี้ เช่น ในปี 2559 รัฐบาลบราซิลได้ยื่นหนังสือต่อ WTO กล่าวหาว่าการที่รัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนชาวไร่อ้อยเป็นการละเมิดเงื่อนไขของ WTO ที่ห้ามมิให้รัฐบาลประเทศสมาชิกอุดหนุนเกษตรกรในประเทศและทำให้ราคาอ้อยตกต่ำ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยซึ่งนำโดย คสช. จึงระงับการอุดหนุนดังกล่าวเพราะต้องการการยอมรับจากต่างชาติ
ชนชั้นปกครองรับรู้ถึงหายนะที่ตนเองสร้างขึ้น เช่นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับวิกฤตอาหารที่อาจนำไปสู่การก่อจลาจล หรือการอนุญาตให้ประเทศลูกหนี้พักชำระหนี้ของไอเอ็มเอฟแทนการยกเลิกหนี้ที่เป็นต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางอาหาร
และไม่มีประโยชน์อะไรที่องค์กรอย่าง WTO เลือกนางอึงโกซี โอโกนโจ อิเวลา ชาวไนจีเรียมาดำรงเป็นผู้อำนวยการผู้หญิงผิวดำคนแรกในปี 2564 หากนโยบายยังคงมุ่งเน้นไปที่ผลกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงผิวดำหลายล้านคนต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการ
วิกฤตอาหารไม่ได้มาจากความไม่อุดมสมบูรณ์ของโลกแต่มาจากความโลภของชนชั้นปกครองที่มาจากทั้งซีกโลกเหนือและใต้ โลกเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้ความอดอยากหายไป อุปสรรคใหญ่คือชนชั้นนายทุนที่ไม่ยอมละทิ้งกำไรดังนั้น วิกฤตอาหารจึงเป็นเรื่องที่แก้ได้โดยการถอนรากถอนโคนโมเดลธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรของพวกเสรีนิยม ลดอำนาจของนายทุน เพิ่มอำนาจเกษตรกรรายย่อย สร้างอธิปไตยทางอาหารโดยอิงจากภาคประชาชนไม่ใช่ภาคธุรกิจ บนหลักของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่ใช่การแข่งขันและการบังคับ ลดการนำเข้าส่งออกอาหาร ยกเลิกหนี้สาธารณะที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้ประเทศลูกหนี้มีเงินไปพัฒนาและลงทุนภายในประเทศ ห้ามไม่ให้มีการครอบครองที่ดินส่วนตัวขนาดใหญ่ แจกจ่ายที่ดินให้เกษตรกรรายย่อย สร้างแหล่งสำรองอาหารสาธารณะ หยุดขายแหล่งน้ำให้แก่เอกชน หยุดและห้ามเอาภาษีของประชาชนไปอุดหนุนผู้ผลิตเชื้อเพลิงเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ยุติการเก็งกำไรของสินค้าอาหารในตลาดหุ้น รัฐต้องควบคุมราคาอาหารและรับประกันรายได้ของเกษตรกรให้มากพอที่จะทำให้เกษตรกรปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองได้เพื่อลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง และทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับราคาที่เป็นธรรม ระงับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาหารเพื่อการันตีว่าผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงอาหารได้
*****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6