โดย สหายดีดี
การที่ใครสักคนได้ทำงานในมหาวิทยาลัยยังคงเป็นภาพลักษณ์ที่ดูดีในสายตาของคนจำนวนมาก อีกทั้งเราไม่ค่อยจะได้ยินข่าวคราวการออกมาเรียกร้องสวัสดิการหรือเสนอปัญหาของคนเหล่านี้นักจึงคิดไปว่าพวกเขาคงจะมีความสุขกันดีในดินแดนแห่งเสรีภาพทางวิชาการจนน่าวางใจที่จะส่งบุตรหลานของเราไปเล่าเรียน
แต่ถ้าใครได้มีโอกาสพูดคุยลึกๆ กับคนทำงานทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยก็อาจจะพบกับภาพที่เป็นตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาได้ไม่ยากนัก
ภาพลักษณ์ที่ดีข้างต้นคงมาจากความทรงจำในอดีตที่มหาวิทยาลัยเคยเป็นส่วนราชการซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเต็มจำนวน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมาก่อน แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไทยได้ใช้นโยบายแปรรูปกิจการสาธารณะจำนวนมากให้เป็นเอกชน (privatization) ตามแนวทางของลัทธิเสรีนิยมใหม่ มหาวิทยาลัยก็ถูกแปรรูปเช่นกันโดยให้ออกนอกระบบมาอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐแทน หลังปี 2540 มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงได้ทยอยออกมาสร้างระบบการบริหารของตนเองแตกต่างกันไปเพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ คนทำงานในมหาวิทยาลัยค่อยๆถูกเปลี่ยนสถานะจาก “ข้าราชการ” มาเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” มหาวิทยาลัยกลายสภาพเป็นเหมือนองค์กรธุรกิจที่มีทีมผู้บริหารเป็นนายจ้าง พนักงานทั่วไปกลายเป็นลูกจ้าง และเพื่อให้มหาวิทยาลัยของตนสามารถอยู่รอดและแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นได้ผู้บริหารจำนวนมากก็เลือกวิธีการขูดรีดพนักงานอย่างหนัก
การที่พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วไปมักจะไม่ค่อยเรียกร้องปัญหาของตนนั้นมาจากลักษณะเฉพาะของแปรรูปจากราชการมาเป็นเอกชนที่มีความคลุมเครือ “ไม่สุด” จึงเปิดโอกาสให้ผู้บริหารเลือกใช้ทั้งความเป็นราชการและความเป็นเอกชนในส่วนที่จะเอื้อต่อการขูดรีดแรงงานได้ เครื่องมือที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยใช้เป็นหลัก (ซึ่งต่างไปจากผู้บริหารองค์กรธุรกิจทั่วไป) คือใช้กฎหมายที่ได้รับการส่งมอบความชอบธรรมมาจากรัฐ โดยรัฐได้กำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องมีพระราชบัญญัติของตัวเอง และสามารถออกกฎระเบียบ ข้อบังคับในการบริหารมหาวิทยาลัยของตนเองมาบังคับใช้ได้คล้ายกับองค์กรธุรกิจ ยิ่งพยายามเลี้ยงตัวเองตลอดจนการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยและพยายามทำให้มหาวิทยาลัยของตนเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก (world ranking) เข้มข้นขึ้นเท่าไหร่การออกระเบียบของผู้บริหารมาขูดรีดพนักงานก็สาหัสยิ่งขึ้นเท่านั้น
ที่ผ่านมาพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ค่อยออกมาส่งเสียงมากนัก เหตุผลสำคัญหนึ่งเกิดจากทั้งรัฐและผู้บริหารมหาวิทยาลัยพยายามรักษาช่องว่างของกฎหมายเอาไว้เพื่อบังคับคนทำงาน หลังปี 2540 รัฐบีบให้คนทำงานหลุดออกมาจากสถานะของข้าราชการ มาทำงานในองค์กรรูปแบบใหม่ที่เปรียบเสมือนองค์กรของผู้ประกอบการอื่นๆ แต่แทนที่จะปล่อยให้พนักงานมีสถานะของการเป็นลูกจ้างเพื่อให้สามารถใช้กฎหมายทั่วไปโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแรงงานได้ รัฐกลับกำหนดให้ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 แทนและประดิษฐ์คำว่า “พนักงานมหาวิทยาลัย” “พนักงานของรัฐ”ขึ้นมา พร้อมกันนั้นรัฐก็ได้กำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีพระราชบัญญัติ และออกกฎระเบียบมาบังคับใช้ด้วยตัวเองซึ่งมักจะลิดรอนสิทธิของพนักงานดังกล่าว เช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งระบุไว้ในพระราชบัญญัติว่ากิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน เป็นต้น พนักงานมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงถูกครอบอยู่ในกฎระเบียบที่แตกต่างกัน แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันก็ยังมีการออกกฎระเบียบให้เกิดการแตกแยกย่อยลงไป เช่น การแบ่งประเภทของพนักงาน การแบ่งการบริหารไปตามคณะวิชา การไม่เปิดโอกาสให้มีการรวมกันเป็นสหภาพแรงงานของพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น
ในดินแดนแห่งปัญญาที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงกลายเป็นดินแดนแห่งการปิดประตูตีแมวโดยผู้บริหาร พนักงานมีคุณภาพชีวิตแย่ลงทุกวัน ส่งผลให้คุณภาพของการเรียนการสอนด้อยลง ค่าเทอมสูงขึ้น ลูกหลานของคนยากจนมีโอกาสเข้าเรียนได้น้อยลง คนที่ได้ประโยชน์ก็เห็นจะมีเพียงผู้บริหารและรัฐนายทุนเท่านั้น
ที่มาภาพ ผู้จัดการออนไลน์
*****************************
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6