Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ต้องไปไกลกว่าการเลือกตั้งในการเมืองกระแสหลัก

โดย สหายกลั่น

การวินิจฉัยว่าประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อได้โดยไม่ขัดต่อวาระ 8 ปี ความน้ำเน่าในรัฐสภา ไม่ว่าจะมีการ “แจกกล้วย” ส.ส.พรรคฝ่ายค้านย้ายไปพรรครัฐบาล ส.ว.ทั้งหมดก็มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการและมีวาระถึงปี 2567 ตามมาด้วยกระแสการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2566 และความอ่อนแอของการปลุกกระแสการลงถนนตั้งแต่ปลายปี 2564 บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหันไปพึ่งพรรคกระแสหลักที่เป็นของชนชั้นนายทุน ในรูปธรรม ถึงแม้ว่ามีการชูสโลแกนรัฐสวัสดิการ แต่ยังไม่มีการทำนโยบายภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการในระยะยาว และยังมีความลังเลต่อการยกเลิกมาตรา112 อีกด้วย

กล่าวอย่างสั้น ๆ คือการทำนโยบายก้าวหน้าสำหรับคนส่วนใหญ่ในระยะยาว จะกระทบต่อผลประโยชน์ชนชั้นนายทุน และกติกาการเลือกตั้ง ก็ล้วนถูกสร้างโดยแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมทั้งสิ้น ถึงแม้ว่ากลไกรัฐสภาจะดูแย่ แต่ในช่วงที่กระแสการต่อสู้ของประชาชนสูง การเมืองในระบบรัฐสภาก็ได้ให้ผลประโยชน์แก่ประชาชนอยู่บ้าง และยังเป็นพื้นที่ในการสะท้อนการทำงานและแนวคิดของพรรคต่าง ๆ แต่ชนชั้นกรรมาชีพไม่ควรหลงคิดไปว่าพวกชนชั้นนายทุนใจดีกับพวกเรา และกรรมาชีพไม่ควรพอใจกับผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆที่กลไกรัฐสภาหยิบยื่นให้

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในไทยนั้นมีมาโดยตลอด บางครั้งเปิดเผย บางครั้งซ่อนเร้น และเป็นพลังหลักในการสร้างประชาธิปไตยอีกด้วย เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่คนหนุ่มสาวได้คลุกคลีและเข้าร่วมขบวนการแรงงาน ซึ่งสามารถขับไล่เผด็จการทหารได้ พฤษภา 35 ที่นักวิชาการกระแสหลักมักนิยามว่าเป็นม็อบชนชั้นกลาง เนื่องจากผู้ชุมนุมที่เห็นใช้มือถือ มีฐานะดี แต่ในการชุมนุมนี้ ช่วงตอนกลางวันจะมีแต่ชนชั้นกลางดังกล่าวมาชุมนุม เพราะมีฐานะดีจนไม่ต้องทำงานทุกวัน แต่ในช่วงเย็นถึงกลางคืน คือเวลาเลิกงานของกรรมาชีพ และชนชั้นกลางกลับบ้าน แต่ด้วยการเข้าร่วมของกรรมาชีพทำให้มีผู้ชุมนุมจำนวนมหาศาล ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดชัยชนะที่กรรมาชีพสู้มาจะถูกฉกฉวยโดยกลุ่มนายทุน “ก้าวหน้า” ณ ขณะนั้น แต่มันเป็นหลักฐานยืนยันว่า พลังที่แท้จริงคือพลังมวลชนโดยเฉพาะกรรมาชีพ และยังมีความก้าวหน้าอีกมากมายที่กรรมาชีพต่อสู้เพื่อให้ได้มา เช่น สิทธิลาคลอด 90 วัน สิทธิ์ในการรวมกลุ่ม ค่าจ้างขั้นต่ำ ฯลฯ

ในวิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ การสร้างขบวนการชนชั้นกรรมาชีพเป็นสิ่งที่ต้องทำ การรอหวังพึ่งพรรคกระแสหลักในการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่เพียงพอเพราะไม่ได้ทำให้การขูดรีดแรงงานหยุดชะงักลง การรื้อฟื้นขบวนการแรงงานจึงเป็นสิ่งเร่งด่วนสำหรับขบวนการประชาธิปไตย เนื่องจากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของทุนนิยมจะสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ไม่ว่าจะใช้แนวชาตินิยมในการบั่นทอนพลังของกรรมาชีพสากล แนวอนุรักษ์นิยมที่โทษแต่ตัวบุคคลหรือแรงงานว่า “ขี้เกียจ” โทษความ “ใจเสาะ” ของแรงงานรุ่นใหม่ หรือลัทธิคลั่งชาติที่ป้ายสีใส่กรรมาชีพ “ต่างชาติ” ล้วนเพื่อเบี่ยงประเด็นที่แตะต้องชนชั้นนายทุน และกรรมาชีพอาจมีความกลัวในการตกงานด้วย หากเราจะรักษาสิทธิเสรีภาพและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ การร่วมสร้างองค์กรของกรรมาชีพ อาจจะเริ่มจากการรวมกลุ่มตามสถานประกอบการ สถานศึกษา ตามย่านต่าง ๆ ที่เราใช้ชีวิตอยู่เป็นประจำ ต้องเข้าร่วมถกเถียงในสหภาพแรงงานที่มีอยู่ ด้วยวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นความคิดของคนงานพื้นฐานเป็นหลัก มากกว่าที่จะสนใจผู้นำสหภาพ “หมูอ้วน” และจะต้องสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยภายในอีกด้วย ในอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการฝึกฝนให้ขบวนการเรามีความมั่นใจ คุ้นชินกับการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเอาจริงเอาจัง การนำตนเอง การประสานงาน และการสร้างความคิดของกรรมาชีพโดยไม่ตกหลุมความคิดของชนชั้นปกครอง

ภาพจาก BBC

***********************

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6


Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com