โดย วัฒนะ วรรณ
องค์กรสังคมนิยมแรงงาน เป็นองค์กรสังคมนิยม ใช้แนวคิดมาร์คซิสต์ในการวิเคราะห์สังคม เพื่อต้องให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงประชาธิปไตยปลอมๆ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ เฉพาะทางการเมืองบางส่วน โดยที่อำนางการจัดการเศรษฐกิจยังเป็นเผด็จการที่ควบคุมโดยชนชั้นนายทุนอยู่
เวลาพูดเรื่อง “ชนชั้น” บางคนอาจจะมองว่าเฉย บางคนอาจจะถามว่ายังมีชนชั้นอยู่อีกหรือในยุคนี้ หรือบางคนอาจจะจิตนาการชนชั้น ไพร่-อำมาตย์ ย้อนไปหลัง ๒๔๗๕ หรือบางครั้งมองเรื่องชนชั้นเป็นเรื่องของกรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น
นิยามของชนชั้นในความหมายของมาร์คซิสต์ มองว่าระบบทุนนิยมประกอบด้วยสองชนชั้นหลัก คือ ชนชั้นนายทุน เป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต โรงงาน เครื่องจักร ที่ดิน เงินทุน กับ ชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ซึ่งไร้ปัจจัยการผลิต เป็นแรงงานรับจ้าง ต้องขายแรงงานของตนเพื่อการเลี้ยงชีพ ทั้งคอปกขาว ทำงานในสำนักงาน งานบริการ คอปกน้ำเงิน ทำงานในโรงงาน งานผลิตอุตสาหกรรม ครูอาจารย์ หมอ พยาบาล ฯลฯ
นอกจากนั้นก็ยังมีชนชั้นอื่นๆ อยู่ด้วย เช่นชนชั้นกลางที่มีลักษณะเป็นกลุ่มชนชั้น มีทั้งชนชั้นกลางยากจน พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่แผงลอย เกษตกรยากจน และชนชั้นกลางร่ำรวย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เป็นต้น แต่ชนชั้นกลางก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับชนชั้นกรรมาชีพ แต่อาจจะมีจำนวนมากกว่าชนชั้นนายทุน โดยเฉพาะประเทศที่ระบบทุนนิยมยังพัฒนาไม่มากนัก แต่ด้วยลักษณะผลประโยชน์ที่อยู่ระหว่างสองชนชั้นหลัก ทำให้มีจุดยืนทางการเมืองอาจจะเหวี่ยงไปมาได้ระหว่างสองชนชั้น ชนชั้นกลางรวยอาจจะสนับสนุนทุนนิยม ด้วยต้องการพัฒนาเป็นนายทุนใหญ่ แต่อาจจะไม่ชอบใจนายทุนใหญ่นัก ด้วยไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ก็ไม่ชอบชนชั้นกรรมาชีพ เพราะไม่อยากกลับไปมีชีวิตยากลำบากแบบนั้นอีก แต่ชนชั้นกลางยากจน ที่ใกล้ชิดกรรมาชีพ ลูกหลานอาจจะเป็นกรรมาชีพ อาจจะสนับสนุนข้อเสนอของชนชั้นกรรมาชีพได้
การที่สังคมมีชนชั้นดำรงอยู่จะเกี่ยวพันกับการจัดสรรสินค้าทั้งมวลในสังคมที่ทุกๆ คนร่วมกันผลิตด้วย ชนชั้นนายทุนที่ใช้ “รัฐ” สร้างความชอบธรรมในการอ้างในกรรมสิทธิ์ในสินค้า จะครองส่วนแบ่งส่วนใหญ่เอาไว้ ส่วนที่เหลือที่เพียงพอแค่ยังชีพเท่านั้นแบ่งให้ชนชั้นกรรมาชีพ ส่งผลให้ชนชั้นนายทุนร่ำรวยมหาศาล คนจำนวนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ครอบครองทรัพย์สินเกินครึ่งของทั้งสังคมเกินความจำเป็นที่ใช้สำหรับดำรงชีวิต (คนร่ำรวยที่สุดในไทย 10% ครองทรัพย์สินมากกว่า 77%, KKP Research, 2564) ขณะที่อีกชนชั้นกรรมาชีพกลับยากจน มีรายได้เพียงเพื่อประทังชีวิตเพื่อผลิตแรงงานรุ่นต่อไปเท่านั้น
ถ้ามามองดูอำนาจรัฐในปัจจุบัน เผด็จการทหารอาจจะไม่ใช่นายทุนโดยตรง(ทหารบางคนอาจจะเป็นนายทุน) แต่ก็พึ่งพาเป็นมือเป็นไม้แชร์ผลประโยชน์กันกับนายทุน โดยดูได้จากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอยู่ในอันดับสูงต้นๆ ของโลก แต่ก็ต้องไม่เผลอคิดไปว่า พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เป็นพรรคของชนชั้นล่าง แน่นอน พรรคไทยรักไทย ในอดีต เป็นพรรคที่มีนโยบายให้ประโยชน์กับคนจนจริง แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็สนับสนุนทุนนิยมเสรีเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นต์สัญญาการค้าเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนพรรคก้าวไกล ถึงแม้จะมีนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ที่ให้ประโยชน์กับคนจน แต่ก็ยังนามธรรมเกินไปว่าสุดท้ายแล้วเขาจะทำได้จริงๆ หรือไม่ เนื่องจากเขาไม่กล้าแตะผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนในเรื่องการเก็บ “ภาษีก้าวหน้า” อย่างเป็นระบบจากคนรวย และบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าไม่มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำที่สูงก็ยากที่ลดลง เนี่องจากสัดส่วนแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพยังอยู่เท่าเดิม
สำหรับคนที่รักความเป็นธรรมอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรมโดยแท้จริง ยังมีจิตใจที่ยังต่อสู้ไปท่ามกลางความพ่ายแพ้กระแสการต่อสู้ตกต่ำ ควรหันกลับมาพิจารณาจุดยืนแนวคิด ทาง “ชนชั้น” เพื่อนำมาวิเคราะห์สังคม สร้างจุดยืนทางการเมือง กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ สร้างองค์กรมวลชนรื้อฟื้นการต่อขึ้นมาอีกครั้ง
ถึงเวลาแล้วที่จะเลิกหวัง ลมๆ แล้งๆ ให้คนที่สังกัดคนละชนชั้นหยิบยื่นผลประโยชน์ ความกินดีอยู่ดี และเสรีภาพมาให้ คงเป็นไม่ได้ในเมื่อผลประโยชน์ของเขามาจากการขโมยหยาดเหงื่อแรงงานของเราที่เป็นผู้สร้างให้กับสังคมแต่แรก ถ้าเขาหยิบยื่นมันคืนมาสู่เราก็เท่ากับว่าเขากำลังทำลายชนชั้นของตนเองไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น
ที่มาภาพ PPTV
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6