Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในอิหร่าน

โดย คิริฮาระ

การเสียชีวิตของหญิงสาวชาวอิหร่านที่ชื่อ มาห์ซา อามินี วัย 22 ปีเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่สตรีจนนำไปสู่การประท้วงของสตรี นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานในที่สุด มาห์ซาอยู่ในอาการโคมาในศูนย์กักกันหลังจากถูก “หน่วยลาดตระเวนให้คำแนะนำ (guidance patrols)” หรือที่เรียกกันว่า “ตำรวจศีลธรรม” จับกุม และเสียชีวิตสามวันหลังจากอยู่ในโรงพยาบาล ตำรวจศีลธรรมนี้เป็นหน่วยตำรวจพิเศษที่คอยตรวจตราให้ประชาชนทำตามกฎหมายเคร่งศาสนาและควบคุมการแต่งกายให้ “เหมาะสม” พวกตำรวจอ้างว่ามาห์ซาถูกจับเพราะสวมใส่ผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบไม่ถูกต้องคือไม่คลุมผมทั้งหมด พวกตำรวจยังปฏิเสธอีกว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนทุบตีศีรษะของเธอด้วยกระบองและกระแทกเข้าตัวเธอกับรถยนต์ และอ้างอีกว่าเธอเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลว แต่ครอบครัวของเธอยืนยันว่าเธอไม่มีปัญหาหัวใจ

การประท้วงที่เกิดขึ้นใช้คำขวัญว่า “สตรี ชีวิตและเสรีภาพ” สตรีจำนวนมากร่วมกันถอดฮิญาบออกในที่สาธารณะและตัดผมของตนเอง บ้างก็เผาฮิญาบประท้วงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านกฎหมายจารีต

รัฐอิหร่านเป็นรัฐอิสลาม ซึ่งเกิดจากการปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์และเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐอิสลาม เมื่อปี 1979 ซึ่งชนชั้นกรรมาชีพเป็นพลังที่สำคัญด้วยเนื่องจากกรรมาชีพระดมการนัดหยุดงาน แต่แทนที่จะประชาชนจะได้รับสิทธิเสรีภาพ นายอยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำทางศาสนาและผู้นำการปฏิวัติกลับเพิกถอนสิทธิสตรีที่บัญญัติไว้ในกฎหมายครอบครัวที่เคยให้สิทธิในการแต่งกาย หย่าร้าง แต่กลับบังคับให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมศีรษะและต้องได้รับการอนุญาตจากสามีก่อนการหย่าร้างเท่านั้น

การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีดำเนินไปอย่างยาวนาน เช่น มีความพยายามในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิสตรีในวันสตรีสากล ปี 2006 เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานหญิง แต่เมื่อผู้หญิงรวมตัวกันและตำรวจก็บอกว่า “การชุมนุมนี้ไม่ได้รับอนุญาต โปรดแยกย้ายกันไป” และก็สลายการชุมนุมอย่างรุนแรง หรือการลงถนนในเดือนธันวาคมปี 2017 เพื่อประท้วงค่าครองชีพและการทุจริตที่เพิ่มขึ้น ต่อมาเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2018 มีการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า หญิงสาวแห่งถนนปฏิวัติ (The Girls of Revolution Street) ในหลายเมือง คือหญิงสาวหลายคนออกมายืนโบกฮิญาบที่เสียบไว้กับไม้บนถนนอย่างสงบ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ฮิญาบ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ผู้หญิง นั่นคือผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสองที่ถูกกดขี่มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ผู้สื่อข่าวที่ต่อต้านรัฐบาล

นอกจากนี้ แรงงานสตรียังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการกดขี่อีกด้วย สามีต้องอนุญาตให้เธอทำงาน เขาอาจตัดสินว่างานไม่สอดคล้องกับภาระหน้าที่ของผู้หญิงคนนั้น และหยุดเธอไม่ให้ทำงาน ยังมีร่างกฎหมายในรัฐสภา แผนประชากรและความเป็นเลิศของครอบครัว ซึ่งพยายามเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สร้างความเติบโตของประชากร ดังนั้น จึงแนะนำให้จ้างผู้ชายมากกว่าผู้หญิงทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้ผู้หญิงว่างงานมากกว่าผู้ชาย และผู้ชายมีรายได้โดยเฉลี่ยห้าเท่าของค่าจ้างผู้หญิง

การกดขี่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ผู้หญิงอิหร่านประสบปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ในการประท้วงล่าสุดนี้ ประธานาธิบดี เอบรอฮีม แรอีซี กลับโต้ตอบด้วยการบังคับใช้กฎหมายเคร่งศาสนาเข้มงวดขึ้น รวมไปถึงกรณีที่หากสตรีคนใดก็ตามที่โพสต์ภาพลงอินเตอร์เน็ตโดยไม่สวมฮิญาบหรือแต่งกายไม่ตรงตามที่กฎหมายระบุ จะถูกจำกัดสิทธิทางสังคมบางประการเป็นเวลาหกเดือนถึงหนึ่งปี ซ้ำยังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนัก ซึ่งได้ขยายความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ต้องการเสรีภาพ ทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 215 คน และถูกจับกุมอย่างน้อย 1,200 คน ไม่เว้นแม้แต่นักข่าวและได้ปิดกั้นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ส่วนผู้ชุมนุมก็ต่อสู้กลับด้วยการปาก้อนหิน จุดไฟเผารถตำรวจและสถานที่ราชการ มีการประท้วงนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกที่มีการประท้วง โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตเคอร์ดิสถาน และเมืองอื่น ๆ สมาพันธ์แรงงานน้ำมันออกแถลงการณ์ข่มขู่รัฐบาลว่า จะเลิกนัดหยุดงานก็ต่อเมื่อรัฐบาลเลิกสังหารประชาชน การเคลื่อนไหวนี้ยกระดับไปสู่การต่อต้านการปกครองอำนาจนิยมอย่างรวดเร็ว แต่หัวใจยังเป็นเรื่องการปลดแอกสตรี ที่มีแนวร่วมทุกเพศทุกวัย


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com