Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ในวันที่มนุษย์ไร้ซึ่งกรรมสิทธิ์

โดย รุเธียร

ข้อแตกต่างของลัทธิมาร์กซ์ต่อลัทธิเศรษฐศาสตร์การเมืองอื่นคือเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เคยลอยตัวอยู่เหนือสังคม มาร์กซ์ทำการวิเคราะห์การก่อรูปของเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละยุคสมัยผ่านวัตถุนิยมวิภาษวิธีเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า “สังคมจะต้องสลายเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางการผลิต และรูปแบบของทรัพย์สินที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์นั้นในแต่ละรูปแบบของสังคม”

สิ่งที่แยกขาดมนุษย์ออกจากลิงไร้หางที่ร่วมวิวัฒนาการเคียงข้างกันคือการที่พวกเขาใช้แรงงาน คือการสร้างและผลิตซ้ำการดำรงอยู่ทางสังคมของพวกเขาอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้เงื่อนไขสองประการคือ เงื่อนไขภายนอก ได้แก่ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และ เงื่อนไขภายใน คือลักษณะเฉพาะของชาติวงศ์ซึ่งก่อรูปมาตามธรรมชาติของแต่ละชุมชนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองจึงเป็นพื้นฐานของวิวัฒนาการทางสังคม ระบบทุนนิยมไม่ได้มีมาแต่แรกเริ่มแต่เป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ คือผลลัพธ์ของมนุษย์ผู้เต็มเปี่ยมด้วยเจตจำนงอิสระถูกแยกขาดจากกรรมสิทธิ์ที่เคยเป็นของเขา

เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของทุนคือ 1. แรงงานเสรีและการแลกเปลี่ยนแรงงานเสรีกับทุน สิ่งนี้นำไปสู่การผลิตซ้ำทุนที่ไม่ใช่เพื่อมูลค่าในการใช้สอย แต่เป็นมูลค่าในการแลกเปลี่ยนที่มีหมุดหมายต่อการแสวงหากำไรและสะสมทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า 2. การแยกแรงงานเสรีออกจากเครื่องมือ ออกจากที่ดิน “ซึ่งเปรียบเสมือนห้องทำงานในธรรมชาติของเขา” ในยุคบุพกาล มนุษย์มีความสัมพันธ์กับเงื่อนไขทั่วไปทางแรงงานของเขาเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในชุมชน ก่อนที่กรรมสิทธิ์ดังกล่าวจะพัฒนาออกไปเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดเล็กของชาวนา เช่น ในชาติกรีกโรมันและอนารยชน และกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบรวมหมู่ที่พบในประชาคมตะวันออก เช่นในจีน อินเดีย สลาฟ และเมโสอเมริกัน ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ทั้งสองแบบนี้ ปัจเจกชนไม่ได้ปฏิบัติตัวเหมือนเป็นกรรมกร แต่เป็นเจ้าของและเป็นสมาชิกของชุมชนซึ่งใช้แรงงานของตนในการผลิตไปด้วย แม้ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ปัจเจกชนนั้นจะมีสถานะเป็นทาสหรือเลกไพร่ที่ถูกชนชั้นบนกดขี่และขูดรีดก็ตาม แต่สำหรับกรรมกรเสรี กรรมสิทธิ์และกระบวนการผลิตไม่ได้เป็นของเขาอีกต่อไป แต่มันตกเป็นของคนอื่น กรรมาชีพกลายเป็นสินค้าที่แลกได้ด้วยเงินตรา และมนุษย์ได้สูญสิ้นความสามารถในการควบคุมวิวัฒนาการของตนเอง

ทำไมคนส่วนใหญ่ในสังคมทุนนิยมจึงไร้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน? นักมาร์กซิสต์สรุปได้ว่า กรรมสิทธิ์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมหายไป ก็เพราะชนชั้นนายทุนขโมยไปอย่างหน้าด้านและไร้ศีลธรรม และนักมาร์กซิสต์เชื่อว่า ระบบทุนนิยมไม่ใช่พัฒนาการทางสังคมระบบสุดท้ายของมนุษยชาติ และเราคาดว่าระบอบกรรมสิทธิ์ของชนชั้นนายทุนจะสิ้นสูญไปเมื่อระบอบคอมมิวนิสต์มาถึง ดังเช่นที่ มาร์กซกล่าวไว้ว่า “ยุคโบราณให้ความพอใจที่จำกัดแก่เรา ขณะที่โลกสมัยใหม่ทิ้งความไม่พอใจให้แก่เรา หรือถ้ามีความพอใจในตัวเอง ก็เป็นสิ่ง ‘สามานย์’ และ ‘ไร้ค่า’” แต่ความลักลั่นที่ไร้มนุษยธรรมที่สุดของทุนนิยมนี้กลับเข้าใกล้อุดมการณ์แห่งการพัฒนาปัจเจกชนอย่างมีอิสรภาพยิ่งกว่ายุคใด ๆ มันได้เผยโฉมให้เห็นความเป็นไปได้ของสังคมใหม่ที่ผู้ใช้แรงงานจะรวมตัวกันเพื่อขีดเขียนอนาคตให้ตัวเอง คำตอบอื่นที่นอกเหนือไปจากความป่าเถื่อนและระบบทุนนิยม – สังคมคอมมิวนิสต์

สรุปจาก คาร์ล มาร์กซ, การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม, แปลโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์สมมติ, 2561)

ภาพจาก Revolution Festival


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com