Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

กลไกตลาดคือต้นเหตุน้ำท่วมในปากีสถาน

โดย สมทรง ตรีแก้ว

ปากีสถานเผชิญกับฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 แม้ว่าก่อนหน้านี้หน่วยงานดัชนีความเสี่ยงความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก จัดอันดับให้ปากีสถานอยู่ลำดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีต้นเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้บาดาลเป็นเวลานานหลายเดือน สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของปากีสถาน ระบุว่า ณ วันที่ 16 กันยายน 2565 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วม 1,508 ศพ ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 536 ราย และประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนน้ำและอาหาร สูญเสียพืชผลทางการเกษตรมากกว่า 33 ล้านคน

หน่วยงานหลายฝ่ายต่างยืนยันตรงกันว่า มหาอุทกภัยนี้มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ทำให้ฝนตกหนักปริมาณมหาศาลและธารน้ำแข็งที่ละลายตัวไหลบ่าลงมาจากทางตอนเหนือของประเทศ เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน กล่าวว่า ประเทศที่ร่ำรวยเป็นต้นเหตุที่ก่อมลพิษหนักจนทำให้สถานการณ์โลกรวนย่ำแย่ลงถึงขั้นวิกฤต พร้อมเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ออกมาตรการที่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง รวมถึงการจ่ายค่าเสียหายเพื่อชดใช้ให้กับประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ คำกล่าวหาของเรห์มานไม่เกินความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากปากีสถานเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้งหมดทั่วโลก แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากปัญหาโลกร้อน สำหรับประเทศไทยนั้นนายวราวุธ ศิลปะอาชา รมต.สิ่งแวดล้อมออกมายอมรับเมื่อเดือนสิงหาคมว่าไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชนชั้นกรรมาชีพและนักเคลื่อนไหวคนหนุ่มสาวต้องตระหนักแล้วว่าโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และมันส่งผลกระทบต่ออนาคตของพวกเราในทุกๆ ด้านแม้ว่าคนธรรมดาส่วนใหญ่จะไม่ได้ก่อปัญหาโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือ คาร์บอนไดออกไซน์ แต่ก็มีก๊าซอื่นๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ด้วย เช่น ก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกมันถูกผลิตขึ้นโดยผ่านธรรมชาติและผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน มันจะถูกผลิตขึ้นเมื่อมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่น ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซ แหล่งผลิตก๊าซคาร์บอน หลักๆคือ โรงไฟฟ้าที่เผาถ่านหิน,น้ำมัน,ก๊าซ และระบบขนส่งที่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวและเครื่องบิน พวกเสรีนิยมมักเสนอว่ามนุษย์ทุกคนในโลกต่างมีส่วนทำให้เกิดโลกร้อน ในฐานะนักมาร์กซิสต์ เราขอโต้แย้งว่า วิกฤตโลกร้อนไม่ได้เกิดจากการกระทำของคนส่วนใหญ่ดังเช่นพวกเสรีนิยมมักพาดพิงอย่างหน้าด้าน แต่กลไกตลาดคือต้นเหตุของวิกฤตโลกร้อนเพราะระบบทุนนิยมใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบไม่จำกัดไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่คิดถึงอนาคต เพราะมุ่งแต่แสวงหากำไรสูงสุดและกระทำอย่างป่าเถื่อนโดยไม่คำนึงถึงมวลมนุษยชาติ

ข้อเสนอในการแก้ปัญหาวิกฤติโลกร้อน คือจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังนี้ [1] หยุดใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ ในการผลิตไฟฟ้าและหันมาใช้ไฟฟ้าจากแสงแดดกับลมแทนและเลิกใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือน [2] สร้างระบบขนส่งมวลชนที่ประหยัดพลังงาน เช่น รถไฟ,รถเมล์ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดด กับลม ยกเลิกการใช้รถยนต์แบบเติมก๊าซ หรือน้ำมัน, ลดการใช้เครื่องบินส่วนตัว [3] ยกเลิกระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ผลิตก๊าซเรือนกระจก [4] ต้องนำการวางแผนการผลิตโดยประชาชนส่วนใหญ่มาใช้แทนกลไกตลาด นั่นหมายความว่าต้องระงับยกเลิกกลไกตลาด ยึดอำนาจรัฐมาเป็นของกรรมาชีพ ในขณะที่การปฎิวัติยังมาไม่ถึงเราจะต้องรณรงค์การแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และผ่านพรรคการเมืองก้าวหน้าในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายในกลางปี 2566


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com