Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ถึงเวลา “สหภาพแรงงาน” ในสถาบันการศึกษาไทย

โดย สหายดีดี

แรงงานในสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีแนวโน้มที่ถูกบีบให้ไปอยู่ในสถานะที่ยากลำบากมากขึ้นและมีอำนาจต่อรองน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากการถูกผลักให้ออกนอกระบบจนทำให้ถูกตัดสวัสดิการ และการงานไม่มั่นคงโดยเฉพาะพนักงานชั่วคราวที่

ข้อมูลล่าสุดที่มีการสำรวจเมื่อปีการศึกษา 2564 ภาคเรียนที่ 1 พบว่าแรงงานเหล่านี้มีจำนวนรวมกันสูงถึง 221,497 คน ปัจจุบันคงเหลือ ”มหาวิทยาลัยของรัฐ” เพียง 8 แห่งมีแรงงานรวมกัน 14,636 คน ขณะที่ ”มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เพิ่มขึ้นเป็น 26 แห่งมีแรงงานรวมกันสูงถึง 127,838 คน

สถาบันอุดมศึกษาประเภทต่างๆ เหล่านี้มีจำนวน ”ข้าราชการ” ลดลงขณะที่จำนวน ”พนักงานมหาวิทยาลัย” สูงขึ้นและจำนวนของ ”ลูกจ้างประจำ” มีจำนวนน้อย แต่ “ลูกจ้างชั่วคราว” มีจำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่ยังอยู่ใน ”สายสนับสนุน” ซึ่งพบว่ามีการลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ”สายวิชาการ” ที่มีจำนวนน้อยกว่า

ดังจะยกตัวอย่างกรณีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่พบว่าในสายวิชาการที่เป็น ”อาจารย์ประจำ” ซึ่งมีกำลังคนรวมกันทั้งสิ้น 32,144 คนนั้นเหลือคนที่เป็นข้าราชการเพียง 2,812 คน แต่เป็นพนักงานของรัฐสูงถึง 26,506 คน เป็นลูกจ้างประจำ 380 คน แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวถึง 2,446 คน ขณะที่สายสนับสนุนที่มีกำลังคนรวมกันทั้งสิ้น 94,848 คน พบว่าเป็นข้าราชการเพียง 1,636 คน แต่เป็นพนักงานของรัฐสูงถึง 68,301 คน เป็นลูกจ้างเป็นลูกจ้างประจำ 7,753 คน แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวถึง 16,790 คน

ในปัจจุบันจึงได้มีการหาทางออกหลายแนวทาง ในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักๆ แนวทางแรกคือการเสนอให้หาทางออกตามช่องทางและขั้นตอนในระบบที่มีอยู่ ได้แก่การพยายามใช้ช่องทางของกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงการเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย ส่วนแนวทางที่ 2 คือการผลักดันให้มีพนักงานรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นทั้งในระดับภายในสถาบันและระหว่างสถาบัน แนวทางนี้จะมีการต่อรองที่เข้มข้นขึ้น และจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว

แต่การพัฒนาความเข้มแข็งของการเคลื่อนไหวและการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานก็มีความซับซ้อนตามสภาพของแรงงานที่มีหลายกลุ่มดังที่กล่าวแล้ว เช่น กลุ่มอาจารย์กับกลุ่มพนักงานสายสนับสนุนซึ่งจริงๆ แล้วก็ล้วนเป็นกรรมาชีพด้วยกัน แต่เมื่อเกิดความเดือดร้อนก็มักไม่เชื่อมกันทั้งที่อาจารย์มีกลไกบางอย่างเช่นสภามหาวิทยาลัยที่มีอำนาจต่อรองมากกว่าอยู่บ้าง ยิ่งกว่านั้นสภาเหล่านั้นยังอาจเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการบีบบังคับพนักงานเสียเองก็มี

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวกันของแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้สูง เพราะก่อนนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทยดังกรณีการรวมตัวกันของกลุ่มอาจารย์ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 หรือเคยเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อตั้งสหภาพแรงงานในมหาวิทยาลัยเกริกซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในช่วงปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้น

อีกทั้งยังมีบทเรียนของการรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานในสถานศึกษาในต่างประเทศจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ เช่น The National Tertiary Education Union (NTEU) ในออสเตรเลียที่มีสมาชิกจากทั่วประเทศเกือบ 30,000 คน หรือการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานในสถานศึกษาในอเมริกา เป็นต้น

บทเรียนที่ได้รับจากการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานพบว่านอกจากจะเป็นผลดีต่อการปกป้องสวัสดิการของคนทำงานแล้วยังรวมถึงการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน การสอน การพัฒนาสิทธิของนักศึกษา รวมถึงการร่วมรณรงค์กับแรงงานในภาคส่วนอื่น และประเด็นทางสังคมอื่นๆด้วย ปัจจุบันในไทยได้มีการจัดพูดคุย ตั้งวงศึกษาถึงเรื่องนี้กันบ่อยครั้ง ประกอบกับมีบทเรียนทั้งในไทยและต่างประเทศอยู่ไม่น้อย สหภาพแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินจะเอื้อมถึง ทั้งนี้สายวิชาการและสายสนับสนุนจะต้องไม่แบ่งแยก แต่จะต้องร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยสำนึกของกรรมาชีพร่วมกัน. (ข้อมูลทั้งหมดสืบค้นจาก https://info.mhesi.go.th)

ภาพจาก Solidaity-US


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com