Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

สงครามรุกรานยูเครนจะจบลง ต้องเอาชนะรัสเซียหรือเจรจาสันติภาพ

โดย พัชณีย์ คำหนัก

นับจากวันแรกที่กองทัพรัสเซียรุกรานยูเครนก็เข้าสู่เดือนที่ 9 แล้วซึ่งไม่มีทีท่าว่าสงครามจะจบลง แต่อาจรุนแรงขึ้นอีกดังคำขู่ของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี คำถามคือ เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะอะไร ซึ่งจะพิจารณาประเด็น 1) การต่อสู้ทางทหารไปมาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่นำไปสู่ความตึงเครียดยิ่งขึ้น 2) ขบวนการต่อต้านสงครามในยูเครนในรัสเซียและประเทศตะวันตกมีพลังยับยั้งเพียงใด 3) มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปและอเมริกาได้ส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจในยุโรปและเอเชีย และ 4) ทางออกต้องเอาชนะรัสเซียหรือต้องเจรจาสันติภาพ

ความพ่ายแพ้ของรัสเซีย ณ กันยายน 2565

แม้รัสเซียจะสามารถล้อมปราบยูเครนจากทางตะวันออกมาทางใต้ได้ในช่วง 3-4 วันแรก แต่โพลความคิดเห็นในรัสเซียได้สะท้อนว่าชาวรัสเซียเริ่มเบื่อหน่ายสงคราม เพราะทหารรัสเซียอย่างน้อย 15,000 นายถูกสังหารใน 11 สัปดาห์ของการสู้รบ มากกว่าที่เสียชีวิตในสงครามในอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1980 แต่ต่อมาในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ทหารรัสเซียสูญเสียแนวรบคาร์คิฟให้แก่ยูเครน รวมทั้งเมืองอิซูมและเมืองคูเปียนสก์ กล่าวโดยสรุปคือเป้าหมายของรัสเซียคือต้องการผนวกดินแดนยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของตนเอง นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้าย Vladyslav Starodubtsev จากองค์กร Sotsyalnyi Rukh ยูเครนระบุว่า รัสเซียพยายามแก้ตัวหรือหาคำอธิบายต่างๆ เพื่อรุกรานยูเครน รวมถึงการอ้างการขยายตัวขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

การตอบโต้ของยูเครนและนาโต

แนวร่วมยุติสงครามในสหราชอาณาจักร มองว่า ตั้งแต่เริ่มต้นการรุกราน การตอบสนองของตะวันตกได้เพ่งเล็งไปที่การแก้ปัญหาทางการทหาร ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการรุกราน กองกำลังของนาโตได้ระดมกำลังทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น เป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้นคือชัยชนะทางทหารต่อรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้กระบวนการเจรจาการทูตหยุดชะงัก การป้องกันประเทศของยูเครนได้รับการสนับสนุนอาวุธมูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และพันธมิตรนาโตอื่นๆ สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้กับยูเครนและให้เงินช่วยเหลือทางทหารกว่า 2.5 พันล้านปอนด์ ผลที่ได้คือความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่สงครามตัวแทน (proxy war) ขณะนี้ รัสเซียยังคงยึดครองพื้นที่ของยูเครนไว้ได้ราว 1 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ การรุกรานยูเครนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมหลายหมื่นคน มีชาวยูเครนลี้ภัยกว่า 13 ล้านคน

การต่อต้านสงครามในยูเครน เราจะพบว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในยูเครนมี 4 รูปแบบ คือ

1) ขบวนการต่อต้านสงครามของประชาชนในรัสเซีย เช่น ขบวนการสตรีต่อต้านสงคราม (FAR) กลุ่มท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ในไซบีเรีย คอคาซัส ตะวันออกไกล ชุมชนต่อต้านสงครามในออนไลน์นับร้อยชุมชน อย่างไรก็ตาม ขบวนการยังไม่เข้มแข็งพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลปูติน เนื่องจากรัฐบาลปูตินปราบปราม คุกคามผู้ชุมนุมอย่างหนัก มีการดำเนินคดีกับผู้ประท้วง ปิดสื่อต่างๆ อย่างหนักหน่วง จากรายงานของ OVD-Info ที่ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของรัสเซีย ชาวรัสเซียกว่า 16,000 คนถูกจับกุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ดังนั้น กลุ่มต่อต้านสงครามต่างๆ มองหาวิธีการต่อต้านสงครามใหม่ๆ เพราะการประท้วงบนท้องถนนกับการรณรงค์อย่างสันติถูกปราบปรามและขัดขวางอย่างมาก และสื่อครอบงำสนับสนุนการทำสงครามตลอดเวลา นั่นคือ การต่อต้านอย่างเงียบ ๆ สังเกตไม่เห็น เช่น ลอบวางเพลิงสำนักงานทะเบียนและเกณฑ์ทหาร โดยมีการปาระเบิดขวดใส่ไปแล้ว 14 ครั้ง หรือกรณีที่ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียถูกปิดกั้นโดยกลุ่ม Stop the Trains เพื่อขัดขวางเสบียงของทหารเมื่อปลายเดือนมิถุนายน

2) การหนีเกณฑ์ทหาร การรบที่ยืดเยื้อเกินกว่าที่ปูติดคาดไว้ ทำให้รัฐบาลประกาศเกณฑ์ทหารรอบใหม่ 300,000 นายเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา นำมาสู่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนราว 40 เมือง มีคนถูกจับกุม 2,000 คน มีการเผาทำลายสำนักงานเกณฑ์ทหาร และต่อต้านการเกณฑ์ทหารโดยเดินทางออกนอกประเทศครั้งใหญ่ราวสองแสนคน

3) การต่อต้านรัสเซียของชาวยูเครน สิ่งที่ชาวยูเครนรวมทั้งฝ่ายซ้ายต้องการคือ สิทธิในการกำหนดอนาคตของตัวเอง และไม่ต้องการที่เป็นเหยื่อของพวกฝ่ายขวาคลั่งชาติ จึงสนับสนุนการต่อต้านรัสเซีย Taras Bilous นักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายชาวยูเครนมองว่า การเจรจามักจะมีการกำหนดประเด็นเงื่อนไขว่าประเทศใดประเทศหนึ่งต้องยอมจำนน หรือหยุดยิงชั่วคราว แต่ก็ไม่เคยเกิดสันติภาพอย่างแท้จริงเห็นได้จากกรณีดอนบาส หยุดยิงเพียง 7 ปีและความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นอีก สำหรับฝ่ายซ้ายจำนวนมากในต่างประเทศมักอภิปรายในมุมมองภูมิรัฐศาสตร์ที่กว้าง แต่นักสังคมนิยมควรสนใจผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อน นั่นคือความเจ็บปวดของชาวยูเครน นอกจากนี้ ฝ่ายซ้ายในยูเครนเห็นด้วยกับการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา เพราะหากมองในแง่ประวัติศาสตร์ สงครามในยูเครนไม่ใช่สงครามตัวแทนเหมือนสงครามเวียดนามที่เป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและจีนอย่างชัดเจน และยังมีสงครามปลดปล่อยชาติของชาวเวียดนามจากสหรัฐฯ อีกด้วย เช่นเดียวกับสงครามกลางเมืองระหว่างผู้สนับสนุนเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เกือบทุกสงครามซ้อนกันหลายชั้น และลักษณะเปลี่ยนไปได้ในระหว่างนั้น โลกสามารถเป็น “โลกหลายขั้ว” (multi-polar world)

เช่นเดียวกับ Vladyslav Starodubtsev จากองค์กร Sotsyalnyi Rukh ยูเครน บอกว่า 99% ของคนในสังคม รวมทั้งฝ่ายซ้ายมองตรงกัน คือ ต้องการให้ยูเครนเอาชนะรัสเซีย และสนับสนุนการส่งอาวุธหนักให้ยูเครน การคว่ำบาตรมากขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องของการอยู่รอด เป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ถูกพวกฟาสซิสต์ที่โหดร้ายยึดครองแบบนี้ การเจรจากับรัสเซียจะไม่สามารถหยุดการกระทำอันโหดร้ายของระบอบเผด็จการปูตินได้เพราะเขาจะรุกรานพื้นที่อื่นต่อไป อย่างที่ทำมาแล้วกับเชชเนีย จอร์เจียและยึดครองไครเมีย

4) การต่อต้านสงครามในประเทศสมาชิกนาโต เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส

ก่อนการรุกรานยูเครนเป็นเวลานานหลายปี รัฐบาลเครมลินได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า หากนาโตยังคงส่งกองกำลังและอาวุธจำนวนมากมายังชายแดนรัสเซียต่อไป จะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากรัสเซีย แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศที่มีชื่อเสียงของอเมริกาบางคนก็ยังสนับสนุนเหตุผลนี้ วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอคนปัจจุบัน ได้รับคำเตือนถึงเรื่องการยั่วยุและผลที่จะตามมาจากการขยายอิทธิพลของนาโตในรัสเซียมานานกว่า 20 ปีแล้ว

ฝ่ายซ้ายในประเทศสมาชิกนาโตเรียกร้องให้ รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนและให้ประเทศของตนเองถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกนาโต เช่น เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมในฝรั่งเศสหลายพันคนต่อต้านการสนับสนุนการทำสงครามของประธานาธิบดีมาครงที่ทำให้สงครามยืดเยื้อ จึงเรียกร้องให้นายมาครงถอนตัวออกจากนาโตและลาออก เดือนมิถุนายน ผู้ประท้วงเดินขบวนต่อต้านนาโตก่อนการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ผู้จัดงานกล่าวว่า พันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ไม่ใช่ทางออกของสงครามในยูเครน และผู้ผลิตอาวุธของสหรัฐฯ ทำกำไรมหาศาลจากสงคราม เมื่อเดือนกันยายน ผู้ชุมนุมประมาณ 70,000 คนประท้วงในกรุงปรากเพื่อต่อต้านรัฐบาลเช็ก เรียกร้องให้รัฐควบคุมราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และคัดค้านสหภาพยุโรปและนาโต

ผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

การใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ กีดกันการส่งออกสินค้าของรัสเซีย ยกเว้นสินค้าจำเป็น ยกเลิกการเดินทางเข้า-ออกรัสเซีย ถอนการลงทุนและธุรกิจในรัสเซียกว่า 600 แห่ง ซึ่งนำมาสู่การหดตัวของรายได้ การผลิต เงินเฟ้อ สินค้าราคาแพงขึ้นในประเทศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อประชาชนในยุโรปและทวีปอื่นในเวลาต่อมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกเลิกซื้อก๊าซจากรัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นทำให้คนจนต้องแบกภาระ สงครามได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศต่างๆ ในตอนใต้ของโลก เช่น ศรีลังกา ทั้งมีแนวโน้มว่าจะเกิดไฟฟ้าดับในประเทศต่างๆ ในยุโรป

มาถึงจุดนี้ บทเรียนที่ต้องพิจารณาคือ ลัทธิจักรวรรดินิยมที่รัฐทุนนิยมแข่งขันกันครอบครองพื้นที่ทางยุทธศาสตร์และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก และก่อสงครามอย่างที่เคยเป็นมา หากไม่มีการต่อต้านสงครามของชนชั้นแรงงาน มีแนวโน้มว่าอาจเกิดสงครามนิวเคลียร์ การรุกรานครั้งนี้จะยุติลงได้ก็ด้วยการกดดันของขบวนการภาคประชาชนในยุโรปและเอเชีย ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ กดดันให้รัฐบาลของตัวเองถอนตัวจากนาโต เรียกร้องการเจรจากับรัสเซียให้หยุดยิง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศด้วย


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com