Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

กรรมาชีพจะสู้หรือไม่? ในวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน

โดย สหายกลั่น

ในวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูงลิ่ว การตัดสวัสดิการ ค่าแรงที่ถูกแช่เข็ง และการลดค่าแรง คงมีนักเคลื่อนไหวออกมาป่าวประกาศว่า “ชนชั้นแรงงานคงออกมาสู้อย่างแน่นอน!” เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนและความไม่พอใจไปทั่ว แต่เราต้องพิจารณาจากประสบการณ์ครั้งก่อน ๆ ในประวัติศาสตร์ ตามงานเขียนของ ลีออน ทร็อตสกี้ นักปฏิวัติและมาร์กซิสต์ ในเรื่อง “ในวิกฤติเศรษฐกิจกรรมาชีพจะสู้หรือไม่?”

งานเขียนดังกล่าวให้ข้อสังเกตว่า ความยากลำบากท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ อาจทำให้กรรมาชีพกลัวการตกงานสูงและภวังค์กับความอยู่รอดของตนอยู่มาก ในทางกลับกัน ในช่วงที่เศรษฐกิจเศรษฐกิจเติบโต มันอาจให้ช่องว่างหายใจแก่ชนชั้นกรรมาชีพ “ในปี 1910, 1911 และ 1912 สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นช่วยรวมพลังและให้กำลังใจกับกรรมาชีพที่เคยหดหู่ถดถอย เพราะกรรมาชีพรู้สึกตัวอีกครั้งว่าตนเองสำคัญมากในระบบการผลิต”

แต่ตามสภาพความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปหรือตายตัว และงานเขียนดังกล่าวก็มีข้อสรุปทำนองเดียวกัน จากนั้น เราลองมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ

เมื่อไม่นานมานี้ นับตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน ณ ตอนนี้ มีการต่อสู้อย่างต่อเนื่องของชนชั้นแรงงานทั่วโลก ในสหราชอาณาจักรฯ มีการนัดหยุดงานของคนงานไปรษณีย์ รถไฟ รถบัส คนงานภาคสาธารณสุข คนงานนอกระบบ (ภารโรง พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานแพลตฟอร์ม) คนงานภาคบริการ ภาคการศึกษา คนงานในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป (คนงานเบเกอรี่ ในบริษัทเจค็อบส์) คนงานท่าเรือ เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ การตัดสวัสดิการและการลดค่าแรง จน ลิซ ทรัสส์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายก

ในสหรัฐฯ มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มดั่งไฟลามทุ่ง ทั้งแอมะซอน สตาร์บัคส์ มหาวิทยาลัย โรงเรียน แม้ว่าจะถูกพวกผู้บริหารโจมตีอยู่ตลอดเวลา ในโปรตุเกส พนักงานภาครัฐนัดหยุดงานประท้วงเรื่องค่าจ้าง ในเกาหลีใต้ คนงานขนส่งสินค้านัดหยุดงานประท้วง โดยต้องการค่าแรงเพิ่มขึ้นท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น และในประเทศอื่นๆ อีกมากมาย โดยเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้าง สภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น การทำงานที่ปลอดภัย และสวัสดิการ เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพอันสูงลิ่ว

ในขณะเดียวกันนอกจากการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการร่วมต่อสู้ในประเด็นอื่นๆ ด้วย ในออสเตรีย มีการนัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องการแก้ไขวิกฤติโลกรวน สหภาพแรงงานในอสเตรเลียได้ออกมาสนับสนุนชนเผ่า Gomeroi ในการต่อต้านการส่งท่อส่งแก๊สบนพื้นที่ชนเผ่า

ท้ายสุด ทร็อตสกี้สรุปว่า “ประเด็นที่เราต้องพิจารณาคือ ถ้ามีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเรามีการเตรียมพร้อมทางการเมืองในหมู่กรรมาชีพมากน้อยแค่ไหน” สิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากฟากฟ้าหรือเสกขึ้น มีการปลุกระดมและร่วมกันศึกษาบทเรียนต่าง ๆ โดยคนหนุ่มสาวที่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ไม่นานและฝ่ายซ้ายจำนวนมากที่เข้าร่วมการต่อสู้เหล่านี้ ถึงแม้ว่าการต่อสู้ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้กรรมาชีพรุกสู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การนัดหยุดงานเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องสนับสนุน ร่วมต่อสู้ และศึกษา เพราะว่าการนัดหยุดงานเป็นเสมือน โรงเรียนการทำสงคราม เป็นการเผยให้เห็นว่ากลไกรัฐมีจุดยืนอยู่ข้างชนชั้นนายทุนและทำงานอย่างไร แต่ก็มิใช่ สงคราม จริง


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com