โดย สมทรง ตรีแก้ว
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change ) หรือ IPPC ตีเผยแผ่รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง IPPC จัดทำรายงานขึ้นทุกๆ 7 ปี สาระสำคัญรายงานดังกล่าวระบุว่าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และปริมาณก๊าซคาร์บอนก็มีจำนวนมากขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีส่วนต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ และคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น 1.5 หรือสูงกว่านี้และภายใน ค.ศ. 2040 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ IPPC เสนอคำแนะนำว่าการลดปริมาณคาร์บอนจำนวนมหาศาลเท่านั้นที่จะหยุดยั้งสถานการณ์นี้ไม่ให้เกิดเร็วขึ้น
ในระหว่างการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 หรือ COP 27 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ ตั้งแต่วันที่ 6 -18 พ.ย. นี้ รัฐบาลไทยนำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมต.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แถลงต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยมุ่งที่จะแก้ไขวิกฤตโลกร้อนอย่างจริงจังโดย “ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชน”
ในมุมมองของนักมาร์กซิสต์ การลดปริมาณคาร์บอน ,การที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกร้อนให้อยู่ตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสและการจัดทำแผนเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวมาข้างต้น รัฐต้องประกาศยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ และต้องหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม แสงแดด ฯ และต้องเปลี่ยนการผลิตเพื่อมุ่งแสวงหากำไรมาเป็นการผลิตเพื่อใช้ในสังคม นอกจากนี้แล้วนายวราวุธ แถลงต่อเวทีว่า “รัฐบาลไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ในปี ค.ศ.2030 หากได้การสนับสนุนระหว่างประเทศ” ซึ่งฟังแล้วเป็นเรื่องที่วิตกกังวลเป็นอย่างมากเพราะทำให้เห็นว่ารัฐไทยมีเงื่อนไขในการลดก๊าซเรือนกระจก นั่นหมายความว่า หากระหว่างประเทศไม่สนับสนุนทางการเงินก็จะไม่ทำ อันเป็นการโยนความรับผิดชอบต่อโลกทิ้งอย่างไม่แยแส ทั้งๆ ที่ไทยไม่ใช่ประเทศยากจนและมีทรัพยากรเพียงพอในการแก้ปัญหาโลกร้อน ดังจะเห็นได้จากนายทุนไทยติดอันดับมหาเศรษฐีระดับต้นๆ ของโลกอยู่หลายตระกูล
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? ทำไมต้องเอามาใช้ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และถ้าจะลดปริมาณก๊าซคาร์บนอย่างรวดเร็ว ทำไมถึงไม่แก้ไขสภาพอากาศแปรปรวนอย่างถอนรากถอนโคน ดังที่เราเสนอมาข้างต้น
เดิมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เคยถูกโฆษณาอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยชนชั้นปกครองพยายามบอกกับประชาชนว่าการพัฒนาแบบตะวันตกทำให้เกิดวิกฤตและปัญหาสังคม ดังนั้นการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจจึงต้องมีลักษณะเฉพาะเพราะสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนตะวันตก และแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงเหมาะสำหรับลักษณะสังคมไทย และการพัฒนาไม่ต้องเดินตามแนวทางการพัฒนาแบบประเทศตะวันตก ในความเป็นจริงมีแต่พวกเผด็จการและชนชั้นนายทุนเท่านั้นที่พอใจกับแนวคิด ”เศรษฐกิจพอเพียง” เพราะชนชั้นปกครองได้ประโยชน์จากคำสอนนี้ เนื่องด้วยแนวคิดนี้ทำให้เบี่ยงเบนการสร้างความมั่งคั่งและการกอบโกยผลกำไรของชนชั้นผู้ปกครองได้อย่างแยบยล และเมื่อนำแนวคิดนี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน มันลดทอนปัญหาเรื่องการแก้ไขปัญหาโลกร้อนให้เป็นเพียงเรื่องปัจเจกบุคคลไม่เกี่ยวกับการกระทำของรัฐแต่อย่างใด ซึ่งเปิดโอกาสให้ชนชั้นนายทุนกอบโกยกำไรได้อย่างเต็มที่โดยไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม พอล เฮนลี่ เคยวิจารณ์ในหนังสืออันโด่งดัง เมื่อปี 2549 ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงเศรษฐศาสตร์จอมปลอม” ในปี 2550 โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับประเทศไทย วารสาร “อีคอนโนมิสต์” วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น “ขยะเพ้อฝัน” และเป็นการเสนอความคิดด้านเดียวในเรื่องทฤษฏีที่ไม่เคยถูกพิสูจน์ในโลกจริงว่าใช้ได้ผล
ดังนั้น ในความเห็นของนักมาร์กซิสต์ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “ลัทธิ” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ปฎิเสธความรับผิดชอบและการดูแลประชาชนเมื่อประชาชนได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ทั้งๆ ที่ประชาชนจ่ายภาษีให้กับชนชั้นปกครอง ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากันได้ดีกับแนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่มีแนวทางการผลิตเพื่อแสวงหากำไรขั้นสูงสุด กล่าวสรุปคือ เมื่อรัฐไทยบอกว่านำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการแก้ไขหรือรับมือกับวิกฤตโลกร้อน มันหมายความว่า ชนชั้นปกครองไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ชนชั้นนายทุนคือต้นตอปัญหานี้ และเมื่อผลกระทบโลกร้อนเกิดขึ้นกับประชาชน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฤดูร้อนที่ยาวนาน หรือ มลภาวะเป็นพิษ รัฐจะไม่ช่วยเหลือประชาชน และปล่อยให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อนไปโดยลำพัง ดังเช่น ที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา แล้วรัฐลักษณะแบบนี้เราจะมีไปทำไม?
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6