Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

เบื้องหลังการกบฏที่อิหร่าน

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

การต่อสู้รอบล่าสุดของประชาชนอิหร่านที่ระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน ต้องเผชิญหน้ากับการปราบปรามที่โหดร้ายป่าเถื่อนจากฝ่ายรัฐ คาดว่าผู้ประท้วงเสียชีวิตเกือบสี่ร้อยคน รวมถึงเด็ก และถูกจับอีกเป็นพัน นอกจากนี้รัฐบาลประกาศประหารชีวิตผู้ถูกจับอีกด้วย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ยิ่งกว่านั้นในต้นเดือนตุลาคมกระแสกบฏลามไปสู่บางส่วนของกรรมาชีพในอุตสาหกรรมน้ำมัน มีการนัดหยุดงาน ปิดถนน และตะโกนด่าผู้นำสูงสุด อะลี คอเมเนอี ล่าสุดคนงานโรงเหล็กในเมือง อิสฟาฮาน ก็นัดหยุดงาน

นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมออกมาประท้วงอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่นำโดยนักศึกษาหญิง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการทุบผนังที่ใช้แยกนักศึกษาหญิงออกจากชาย บนท้องถนนเวลามีการประท้วงมีการปัดผ้าโพกหัวพวกพระตกลงบนพื้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการย่อยปิดร้านค้าประท้วงอีกด้วย

การประท้วงรอบนี้เริ่มต้นจากการฆ่า มาห์ซา อามินี โดยตำรวจในขณะที่เขาถูกขังในคุกตำรวจ เขาเป็นหญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมตัว เนื่องจากเธอไม่ได้สวมฮิญาบในลักษณะ “ถูกต้อง” ตามระเบียบอนุรักษ์นิยม

โพลที่สำรวจความเห็นของประชาชน ทั้งที่เคร่งศาสนาและไม่เคร่งศาสนา พบว่า 70% ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลบังคับให้สวมฮิญาบ ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ระหว่างคนที่เคร่งศาสนากับคนที่ไม่เคร่งศาสนา แต่เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับชนชั้นนำของประเทศ

ในไม่ช้าความไม่พอใจของประชาชนขยายจากเรื่อง มาห์ซา อามินี ไปสู่การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการที่สังคมไร้เสรีภาพ และประท้วงปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังของประชาชนในวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดขึ้นทั่วโลก คนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเป็นนักศึกษาและคนหนุ่มสาวที่เกลียดชังกฎหมายเผด็จการและไม่พอใจกับการที่จะตกงานและยากจนในอนาคต การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงขนาดใหญ่โดยกรรมาชีพเรื่องค่าครองชีพ การตกงาน และการตัดสวัสดิการ ซึ่งในการต่อสู้ของกรรมาชีพนี้ ไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องแต่เป็นการประท้วงรัฐบาลอีกด้วย ปีที่แล้วคนงานในอุตสาหกรรมน้ำมันนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่คนงานที่ประท้วงตอนนี้และตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีสัญญาการจ้างชั่วคราว และทำงานซ่อมแซมโครงสร้างของอุตสาหกรรม ไม่ใช่คนงานหลักในใจกลางอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเคยปิดการผลิตน้ำมันในการปฏิวัติปี 1979 การต่อสู้ครั้งนี้จะมีพลังมากขึ้นถ้าชนชั้นกรรมาชีพในใจกลางเศรษฐกิจออกมาร่วมด้วย

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะยุติการอุดหนุนราคาอาหาร มีการประท้วงบนท้องถนนของประชาชนหลายพัน รัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถพยุงราคาได้เพราะค่าอาหารพุ่งขึ้นเนื่องจากวิกฤตโลก โดยเฉพาะวิกฤตอาหารในตลาดโลกที่เกิดจากสงครามในยูเครน สภาพย่ำแย่ของประชาชนมาจากอีกสองสาเหตุด้วยคือ การปิดกั้นเศรษฐกิจอิหร่านโดยสหรัฐอเมริกา และการใช้นโยบายตลาดเสรีของรัฐบาลอิหร่านในรอบสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามวิดีโอที่เปิดเผยความรุนแรงของตำรวจบนท้องถนนทำให้ประชาชนจำนวนมากโกรธแค้น แม้แต่ในคุกเอวินในกรุงเตหะรานก็มีการต่อสู้ คุกนี้เป็นคุกสำหรับนักโทษการเมืองที่ขังปัญญาชน นักศึกษา และนักต่อสู้ผู้หญิง

นักการเมืองฝ่าย “ปฏิรูป” บางคนแนะให้รัฐบาลประนีประนอมเพื่อจำกัดและลดการประท้วง แต่ดูเหมือนรัฐบาลคิดจะปราบท่าเดียว

นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในอิหร่านรายงานว่า ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกพยายามฉวยโอกาสแทรกแซงความวุ่นวายในอิหร่าน พร้อมขู่ว่าจะช่วยล้มรัฐบาล และออกมาพูดสนับสนุนผู้ประท้วง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้หลงคิดว่าสหรัฐกับตะวันตกเป็นเพื่อนของประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการแต่อย่างใด เขาจำหรือเข้าใจบทบาทตะวันตกในอดีตได้ดี แต่ท่าทีของสหรัฐและตะวันตกเปิดโอกาสให้รัฐบาลอิหร่านโกหกว่าการประท้วงถูกจัดตั้งจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความจริง

ถ้าจะเข้าใจการต่อสู้รอบนี้ เข้าใจบทบาทของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเข้าใจที่มาของชนชั้นปกครองอิหร่านในยุคปัจจุบัน เราต้องศึกษาการปฏิวัติ 1979

ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอิหร่าน

ในปี 1979 มีการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศอีหร่าน ก่อนหน้านั้นอีหร่านปกครองโดยกษัตริย์เผด็จการที่เรียกว่า “พระเจ้าชาห์” พระเจ้าชาห์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาผู้เป็นจักรวรรดินิยมรายใหญ่และตอนนั้นประเทศอีหร่านเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์กรสายลับ “ซีไอเอ” ของสหรัฐในตะวันออกกลาง ทั้งนี้เพราะสหรัฐพยายามปกป้องผลประโยชน์เรื่องน้ำมันในตะวันออกกลางมาตลอด ซึ่งเห็นชัดในกรณีรัฐประหารปี 1953 ที่ล้มนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดฆ ซึ่งมีสหรัฐหนุนหลัง รัฐประหารนี้เกิดจากการที่ โมซัดเดฆ พยายามนำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ของประเทศ ผลของรัฐประหารคือการขึ้นมาของเผด็จการพระเจ้าชาห์

เนื่องจากพระเจ้าชาห์มีองค์กรตำรวจลับ “ซาวัค” ที่โหดร้ายทารุน และมีกองทหารสมัยใหม่ที่มีกำลังถึง 7 แสนคน เขามักอวดดีว่า “ไม่มีใครล้มกูได้” แต่ในขณะที่อีหร่านเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตน้ำมันสูง ประชาชนกลับยากไร้ หมู่บ้าน 87% ในประเทศไม่มีโรงเรียน และเกือบจะไม่มีหมู่บ้านไหนเลยที่มีสถานพยาบาล 80% ของประชากรอ่านหนังสือไม่ได้อีกด้วย

ในปี 1977 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มักเกิดกับทุนนิยมเป็นระยะๆ ปรากฏว่ามีการนัดหยุดงานทั่วไป มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่อิสระจากอิทธิพลของตำรวจ “ซาวัค” และมีการประท้วงทุกรูปแบบ เช่นมีคนเข้าฟังกวีอ่านกลอนต่อต้านรัฐบาลถึง 2 หมื่นคน

พอถึงกันยายนปี 1978 มีประชาชนออกมาชุมนุมต้านกษัตริย์ชาห์ 2 ล้านคนในเมืองเตหะราน กรรมาชีพส่วนที่สำคัญที่สุดของอีหร่านคือคนงานสูบและกลั่นน้ำมัน เขาก็นัดหยุดงาน พนักงานสื่อมวลชนมีการดับรายการวิทยุโทรทัศน์คืนละหนึ่งชั่วโมง พนักงานรถไฟไม่ยอมให้ตำรวจและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นรถไฟ กรรมกรท่าเรือไม่ยอมขนสินค้ายกเว้นอาหารและยา สรุปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรมาชีพยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอีหร่านตอนนั้น แต่เป็นส่วนที่มีพลังมากที่สุดและเป็นส่วนที่ใช้พลังบีบระบบเศรษฐกิจจนพระเจ้าชาห์ต้องหนีออกนอกประเทศ

ฝ่ายค้าน

ปัญหาของการปฏิวัติอีหร่านในปี 1979 เป็นปัญหาเดียวกับการปฏิวัติในยุคปัจจุบันทุกครั้ง คือล้มรัฐบาลแล้วจะเอาอะไรมาแทนที่? ตอนนั้นฝ่ายค้านมีสามพวกคือ

1.พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นการต่อสู้แบบติดอาวุธ ซึ่งมีบทบาทน้อยมากเพราะไม่สนใจบทบาทมวลชน หรือกรรมาชีพ

2.พวกพระศาสนาอิสลามที่ต่อต้านรัฐบาลเก่าเพราะขัดแย้งทางผลประโยชน์กัน พวกนี้ได้เปรียบฝ่ายซ้ายเพราะรัฐบาลพระเจ้าชาห์ไม่ค่อยกล้าปราบปรามสถาบันศาสนาโดยตรง มัสยิดจึงกลายเป็นแหล่งจัดตั้งของพระฝ่ายค้านได้ดี กลุ่มพระเหล่านี้มีฐานสนับสนุนในพวกนายทุนน้อยในตลาดตามเมืองต่างๆ แต่พร้อมจะทำงานกับนายทุนใหญ่

3.ฝ่ายซ้าย “พรรคทูเดย” แนวคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ที่ต้องการทำแนวร่วมรักชาติกับพวกพระ ตามแนวปลดแอก “ประชาชาติประชาธิปไตย” แทนที่จะสู้เพื่อล้มทุนนิยม

กรรมาชีพตั้งสภาคนงาน “ชอร่า”

เมื่อกรรมาชีพอีหร่านเริ่มรู้พลังของตนเอง ก็มีการตั้งสภาคนงานในรูปแบบเดียวกับ “โซเวียด” ของรัสเซีย แต่ในอีหร่านเขาเรียกว่า “ชอร่า” ซึ่งสภาคนงานนี้ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนของรัฐชนชั้นกรรมาชีพได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือฝ่ายซ้ายในอีหร่านไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพในการสร้างสังคมใหม่ เขามองว่าอีหร่าน “ยังไม่พร้อมที่จะปฏิวัติสังคมนิยม” และ “ต้องสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน” ตามสูตรแนวคิดลัทธิสตาลิน ฝ่ายซ้ายจึงสนับสนุนและสร้างแนวร่วมกับพวกพระศาสนาอิสลาม เพื่อ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ในการต่อต้านรัฐบาลเก่า แต่พวกพระอิสลามไม่สนใจที่จะล้มระบบทุนนิยมเลย เขาต้องการปกป้องทุนนิยมในรูปแบบชาตินิยมผสมอิสลามเท่านั้น และพวกพระพยายามทุกวิธีทางที่จะทำลายสภาคนงาน “ชอร่า” ที่ถูกตั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงด้วย

ในที่สุด ทั้งๆ ที่กรรมาชีพมีพลังสูง และทั้งๆ ที่กรรมาชีพออกมาประท้วงถึง 1.5 ล้านคนในวันแรงงานสากลปี 1979 ฝ่ายพระอิสลามที่นำโดย อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้

ทรอตสกี กับ “การปฏิวัติถาวร”

ลีออน ทรอตสกี นักปฏิวัติรัสเซียที่เป็นคู่สหายของเลนิน เคยเสนอตั้งแต่ปี 1905 ว่าในประเทศล้าหลังถึงแม้ว่าจะมีกรรมาชีพน้อยกว่าชาวนา แต่กรรมาชีพจะต้องไม่พอใจกับการสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในกรณีที่มีการล้มเผด็จการ และจะต้องยกระดับการต่อสู้ให้เลยขั้นตอนนี้ไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยม กรรมาชีพจะไม่ได้อะไรเลย และจะยังถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป นี่คือการต่อสู้ที่เรียกว่าการ “ปฏิวัติถาวร” และในการต่อสู้แบบนี้กรรมาชีพจะต้องรบกับระบบทุนนิยมและนายทุนอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่สร้างแนวร่วมกับนายทุน แต่ในขณะเดียวกันกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมกับชาวนายากจนในชนบท

ถึงแม้ว่าการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จะเป็นไปตามที่ทรอตสกีเสนอ แต่บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคหลังๆ เช่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือฝ่ายซ้ายในอีหร่าน ก็ล้วนแต่ปฏิเสธการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น และหันมาเสนอการสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติเพื่อสร้างประชาธิปไตยของนายทุนแทน การปฏิเสธการปฏิวัติถาวรมาจากการที่สตาลินยึดอำนาจในรัสเซีย ทำลายสังคมนิยม และเปลี่ยนแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

อีหร่าน 1979 ไทย ๑๔ ตุลา

แนวทางชาตินิยมต้านจักรวรรดินิยมที่ปฏิเสธบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเสนอให้สู้เพื่อได้มาแค่ขั้นตอนประชาธิปไตยนายทุน แทนที่จะต่อสู้อย่างไม่ขาดขั้นตอนไปสู่สังคมนิยม เป็นแนวทางที่เราได้รับการสั่งสอนมาในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง แนวนี้เป็นแนวที่เปิดโอกาสให้นายทุนไทยฉวยโอกาสครอบงำการเมืองไทยหลังการล้มเผด็จการทุกครั้ง โดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเกิดขึ้นหกปีก่อนการปฏิวัติอิหร่าน แนวนี้นำกรรมาชีพไทยไปเป็นทาสรับใช้นายทุนไทย เช่นเดียวกับแนวทางที่นำกรรมาชีพอีหร่านไปสู่การเป็นทาสของนายทุนอิสลามและความพ่ายแพ้ในปี 1979

บทเรียนที่สำคัญที่สุดคือ (1)กรรมาชีพไม่ควรฝากความหวังไว้กับชนชั้นอื่นเลย ไม่ควรสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ เพื่อสู้กับจักรวรรดินิยมและสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างเดียว นายทุนชาติไม่ใช่มิตร แต่เป็นผู้ขูดรีด และประชาธิปไตยทุนนิยมไม่มีวันยกเลิกการขูดรีดดังกล่าว (2) ฝ่ายซ้ายต้องเน้นพลังมวลชนกรรมาชีพในการต่อสู้ และเข้าใจแนว “ปฏิวัติถาวร”

ปัจจุบัน

ถ้ากรรมาชีพอิหร่านเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองอีกครั้ง จะต้องต่อสู้โดยไม่หลงเชื่อว่าประชาธิปไตยนายทุนจะเพียงพอ หรือพึ่งพามิตรจอมปลอมในรูปแบบรัฐบาลตะวันตก กรรมาชีพและนักสังคมนิยมอิหร่านจะต้องผลักดันการต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจของกรรมาชีพในสังคมและมุ่งสู่สังคมนิยม ต้องเดินตามแนว “ปฏิวัติถาวร” เพราะในอดีตสิ่งที่กรรมาชีพได้จากการต่อสู้เสียสละในปี 1979 คือเผด็จการจากมัสยิดที่กดขี่ขูดรีดแรงงาน และกดขี่สตรีที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ฝ่ายซ้ายในไทยและที่อื่นจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ของชาวอิหร่าน พร้อมกับคัดค้านการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของตะวันตก เพราะผู้ที่จะปลดแอกสังคมคือคนอิหร่านเอง


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com