โดย พัชณีย์ คำหนัก
ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 มีการเลิกจ้างพนักงานโรงงานเป็นจำนวนมาก ในหลายอุตสาหกรรม จนกระทั่งขณะนี้ยังมีการเลิกจ้างไม่ขาดสาย กระทั่งปิดโรงงาน ย้ายกิจการไปต่างประเทศ เช่น บริษัทพานาโซนิค ผู้เขียนขอเสนอตัวอย่างการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานในการต่อรองปรับปรุงสภาพการจ้างงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากกรณีการเลิกจ้างพนักงานที่ไม่มีองค์กรสหภาพแรงงานที่มักเกี่ยวข้องกับกำไรขาดทุน การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อให้อยู่รอด หรือแสวงหาโอกาสเพื่อทำกำไรอย่างยั่งยืน
การต่อต้านการเลิกจ้างเริ่มต้นเมื่อผู้บริหารของบริษัท เอ็นเอ็กซ์พีแมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างด้วย รวมทั้งหมด 12 คน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ที่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้นายจ้างต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานกลาง ไม่สามารถเลิกจ้างได้ทันทีตามอำเภอใจ ผู้บริหารอ้างว่าพวกเขากระทำผิดตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คือจัดประชุมใหญ่ไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งเป็นการประชุมของสหภาพแรงงานเอง ไม่เกี่ยวกับบริษัท และสหภาพฯ ได้ยืนยันว่า กรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 12 คน ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ กล่าวหา
สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 เป็นตัวแทนพนักงานในการปรับปรุงสภาพการจ้างมานานจนดีขึ้นตามลำดับ และสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัท ให้ความร่วมมือกับบริษัทจนผลผลิตก้าวหน้า มีผลกำไรมาโดยตลอด แม้ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญวิกฤติการณ์โควิดเมื่อสองปีที่ผ่านมา แต่บริษัท NXP ประเทศไทยยังทำกำไรในปี 2564 ถึง 993,455,285 บาท ด้วยจำนวนพนักงานประมาณ 3,200 คน เป็นผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำ ชิพ เซ็นเซอร์รายใหญ่ให้แก่บริษัทผลิตรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก่อตั้งเมื่อปี 2517 มีทุนจดทะเบียน 4,939,000,000 บาท สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่มาของการเลิกจ้าง
จากข้อกล่าวหาว่าองค์ประชุมของการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562 ไม่เป็นไปกฎหมายนั้น สหภาพแรงงานฯ โต้แย้งว่า การจัดประชุมใหญ่มีขึ้นตามปกติทุกปีคือ มีสมาชิกเวียนกันมาลงชื่อเข้าร่วมประชุมจำนวน 840 คน เพราะพนักงานกะต่างๆ มีเวลาทำงานไม่ตรงกัน เมื่อประธานสหภาพแรงงาน เห็นว่า จำนวนสมาชิกที่อยู่ในที่ประชุมครบองค์ประชุมแล้ว ประธานฯ จึงเปิดการประชุมและให้สมาชิกพิจารณาวาระต่าง ๆ หลายวาระ โดยในวาระที่ 8 ได้พิจารณาเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของสมาชิกและพนักงานที่ไม่เป็นสมาชิก ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติมอบหมายให้สหภาพแรงงานฯ เป็นตัวแทนในการดำเนินการต่อกรณีที่ฝ่ายบริหารของบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งดำเนินคดีในศาลด้วย
•บริษัทไม่ขึ้นค่าจ้างประจำปี 2563 ตามที่ตกลง
เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ผู้บริหารของบริษัทฯ ได้ประกาศชะลอการปรับค่าจ้างประจำปี 2563 ให้แก่พนักงานทุกคน สหภาพแรงงานฯ เห็นว่า การชะลอการปรับค่าจ้างดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของสมาชิกสหภาพและพนักงาน สหภาพแรงงานฯ จึงได้เข้าพบและเจรจากับฝ่ายบริหารเพื่อรับทราบเหตุผลและความจำเป็นของบริษัทฯ แต่การเจรจาไม่เป็นผล และฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ก็ได้ประกาศไม่ปรับค่าจ้างประจำปี 2563 ให้แก่พนักงานในที่สุด ซึ่งสหภาพฯ ได้ขอเจรจาอีกแต่ไม่เป็นผล สหภาพฯ จึงเห็นสมควรฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงานเพื่อให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง
สหภาพแรงงานฯ ฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงาน
ต่อมาเมื่อ 22 ก.พ. 65 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่สหภาพแรงงานฯ ฟ้องบริษัทฯ เรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยยังมองว่า สหภาพฯ จัดทำเอกสารรายงานการประชุมใหญ่อันเป็นเท็จเพื่อที่จะฟ้องร้องบริษัทให้ได้รับความเสียหายดังที่ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ กล่าวอ้าง สหภาพแรงงานฯ จึงยุติคดีโดยไม่อุทธรณ์ต่อ เพราะต้องการที่จะรักษาระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงาน ฯ กับบริษัทฯ ไว้ กระนั้น ผู้บริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ มีคำสั่งให้คณะกรรมการสหภาพแรงงาน/กรรมการลูกจ้างหยุดทำงานโดยได้รับค่าจ้าง และห้ามไม่ให้เข้าไปภายในบริเวณโรงงาน ทำให้กรรมการสหภาพแรงงานเดือดร้อน รายได้น้อยไม่พอกับรายจ่าย และยังทำให้สมาชิกของสหภาพแรงงานเกิดความหวาดหวั่นในการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน เพราะเห็นตัวอย่างที่คณะกรรมการถูกกระทำจากฝ่ายบริหารดังกล่าว นอกจากนี้ การที่ฝ่ายบริหารมีคำสั่งไม่ให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานเข้าทำงาน ยังเป็นการทำให้บริษัท ฯ ไม่ได้รับผลผลิตจากการทำงานของลูกจ้างที่ถูกสั่งให้หยุดงานดังกล่าวไปโดยปริยายด้วย
การร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)
ในประเด็นของการจัดประชุมสหภาพแรงงานไม่ครบองค์ประชุม กรรมการสหภาพที่ถูกเลิกจ้างคนหนึ่งได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส) เมื่อเดือนมิ.ย. 65 ว่าบริษัทละเมิดกฎหมายและขอกลับเข้าทำงาน ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) วินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 65 ว่าบริษัทเลิกจ้างกรรมการสหภาพเป็นการกระทำไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 121และ 123 ของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ คำวินิจฉัยระบุว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานที่ฟ้องร้องบริษัท ไม่ได้จัดทำเอกสารการประชุมอันเป็นเท็จมาดำเนินคดีกับบริษัท การกระทำของผู้แทนสหภาพแรงงานขาดเจตนาและเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อหรือเกิดความเสียหายแก่บริษัท เป็นการรักษาสิทธิตามกฎหมาย ไม่เป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง จึงมีคำสั่งให้บริษัทรับกรรมการสหภาพที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย ให้ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 10 วัน แต่บริษัทได้ใช้สิทธิ์ทางศาลแรงงานขออุทธรณ์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เป็นผลให้คำสั่งรับกลับเข้าทำงานต้องยืดเยื้อออกไปอีกเป็นเวลานาน สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า บริษัทใช้กระบวนการทางศาลเพื่อกดดันให้กรรมการสหภาพแรงงานทนทำงานต่อไปไม่ได้
จุดยืนของสหภาพแรงงาน
สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง เห็นว่า การกระทำของบริษัท แม้จะเป็นการใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน แต่ถือเป็นการอาศัยกระบวนการทางกฎหมายในอันที่จะทำลายสิทธิ เสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและสิทธิการเจรจาต่อรอง แทรกแซงการประชุมของสหภาพแรงงาน แสดงถึงการกระทำที่ต้องการทำลายอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน
สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่งจึงเรียกร้องให้บริษัทรับกรรมการสหภาพแรงงาน 11 คนกลับเข้าทำงานภายใน 30 พฤศจิกายน 2565 นี้
ในมุมมองนักสังคมนิยม สหภาพแรงงานคือองค์กรที่ปกป้องสิทธิและประโยชน์ของลูกจ้าง การเลิกจ้างกรรมการเป็นการทำลายอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐาน และสุดท้ายสหภาพแรงงานอาจถูกควบคุม และมาตรฐานการทำงาน การจ้างงานก็จะถูกนายจ้างกำหนดเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่อาจประกันได้ว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานขึ้น ดังสภาพปัญหาที่กล่าวข้างต้น
องค์กรสังคมนิยมแรงงานขอประณามการกระทำของนายจ้างและขอเรียกร้องให้สหภาพแรงงานทุกแห่งสนับสนุนการต่อสู้ และถอดบทเรียนจากปัญหานี้ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรม สังคมที่ไม่มีใครต้องตกงานจากการเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการ
ที่มา สัมภาษณ์กรรมการสหภาพแรงงาน NXP และเอกสารคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 73/2565
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6