Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

สันติภาพ ที่ดิน ขนมปัง บนธงแดงแห่งการปฏิวัติบอลเชวิค

โดย รุเธียร

ตั้งแต่ปี 1905 เป็นต้นมา ความไม่พอใจของประชาชนต่อระบอบซาร์ การรวมตัวของกรรมกรชาวนาคู่ขนานไปกับการทำงานทางความคิดของแนวคิดก้าวหน้าที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพรรคบอลเชวิคซึ่งเป็นพรรคมาร์กซิสต์ปฏิวัติภายใต้การนำของเลนินและทรอตสกี้ ได้กลายเป็นเสียงย้ำเตือนว่ารัสเซียกำลังจะเกิดการเปลี่ยนยุคสมัยในไม่ช้า

เดือนมีนาคม (กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินเก่า) ปี 1917 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง กรรมกรสตรีจากโรงงานสิ่งทอทั่วเมืองเปโตรกราดออกมาเดินขบวนฉลองวันสตรีสากลและแสดงความไม่พอใจต่อความอดอยากที่เกิดขึ้น ปลุกชนวนให้กรรมกรจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ กว่า 3 แสนคนนัดหยุดงานและทหารชั้นผู้น้อยก่อกบฏเพื่อต่อต้านสงครามและเผด็จการพระเจ้าซาร์ ท้ายที่สุด ด้วยการเคลื่อนไหวอันเข้มแข็งของกรรมกรก็ทำให้การปกครองอันกดขี่ของระบอบซาร์และราชวงศ์โรมานอฟต้องล่มสลายลง

การปกครองแบบอำนาจคู่ขนานระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งมีเคเรนสกี้เป็นนายกรัฐมนตรี และสภาโซเวียตคนงานถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนถัดมา แต่ก็เป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ เลนินเดินทางกลับหลังจากการเนรเทศโดยขบวนตู้รถไฟปิด เขาเรียกร้องผ่าน “นิพนธ์เดือนเมษายน” ให้กรรมกรยึดอำนาจรัฐและเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมในทันที พร้อมกับชูคำขวัญ “สันติภาพ ที่ดิน ขนมปัง” และ “อำนาจทุกประการแด่โซเวียต”

บอลเชวิคได้รับการสนับสนุนจากกรรมกรและมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นจากการปราบปรามกบฏคอร์นีลอฟ การบริหารรัฐบาลของชนชั้นนายทุนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมากเพราะไม่ได้ยุติสงครามและไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นำไปสู่การเรียกร้องของบอลเชวิคให้สภาโซเวียตก่อการปฏิวัติยึดอำนาจ วันที่ 6 พฤศจิกายน (24 ตุลาคม) กองทัพแดงของคนงาน ทหารและกะลาสีเรือเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในกรุงเปโตรกราด ทั้งโรงพิมพ์ ที่ทำการโทรเลขและไปรษณีย์ คนงานเข้าปิดล้อมพระราชวังฤดูหนาวในคืนของวันนั้น และในเช้าของวันที่ 7 พฤศจิกายน (25 ตุลาคม) รัฐบาลเฉพาะกาลก็ได้ถูกโค่นลงและอำนาจรัฐตกเป็นของสภาโซเวียตโดยสมบูรณ์

สิ่งแรกที่รัฐบาลโซเวียตทำหลังการปฏิวัติคือการประกาศกฤษฎีกาสันติภาพเพื่อถอนตัวออกจากสงครามโลก ยกเลิกกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างถาวรโดยไม่มีการชดเชยและเวนคืนที่ดินทุกประเภทมาเป็นของรัฐโดยอยู่ภายใต้ความควบคุมของสภาชาวนา รวมถึงจัดสรรที่ดินสำหรับการเกษตรแก่ชาวนาอย่างเสมอภาค มีการกำหนดมาตรการปันส่วนอาหารและประกันความอดอยาก กำหนดชั่วโมงการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง สาธารณสุขและการศึกษาแบบให้เปล่า ค้ำประกันเรื่องสุขภาพและการว่างงาน ให้กรรมกรเข้าควบคุมโรงงาน ปฏิรูประบบศาลและยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมในยุคซาร์ รัฐบาลโซเวียตส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศด้วยการยกเลิกกฎหมายว่าห้ามหย่าร้างตามจารีตในสมัยซาร์ ให้สิทธิชาวมุสลิมในกิจการศาสนา แยกศาสนาออกจากรัฐและแยกโรงเรียนออกจากศาสนา รวมถึงให้สิทธิพลเมืองแห่งรัสเซียทุกเชื้อชาติสามารถการปกครองตนเองและแยกออกเป็นรัฐเอกราชได้ แตกต่างไปจากพวกเสรีนิยม นี่คือความก้าวหน้าอย่างถึงที่สุดของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

ถึงแม้ว่าภายหลังการปฏิวัติ สงครามกลางเมืองและความล้มเหลวในการปฏิวัติสากลจะทำให้รัฐกรรมาชีพต้องอ่อนแอและพังทลายลงอย่างสิ้นเชิงหลังมรณกรรมของเลนิน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในครั้งนั้นสร้างผลสะเทือนอย่างมหาศาลในทั่วทุกมุมโลก บอลเชวิคกลายเป็นฝันร้ายของนายทุนและจักรวรรดินิยมผู้กดขี่ แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับกรรมกรชาวนาที่ถูกเหยียบย่ำ การปฏิวัติในครั้งนั้นยังเป็นเครื่องย้ำเตือนให้แก่เราอยู่เสมอ ว่าโลกใบใหม่เป็นไปได้ และไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากเบื้องบนแต่เกิดจากสองมือและสามัคคีภาพของกรรมกรผู้ใช้แรงงานเอง


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com