Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

มอง พ.ค.ท. ในสายตานักมาร์กซิสต์

โดย สมทรง ตรีแก้ว

ตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ประสบความพ่ายแพ้กับรัฐไทย เรามักจะเห็นว่าในช่วงปลายปีของทุกๆ ปี ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา อดีตนักปฎิวัติของพ.ค.ท.ได้ร่วมกันจัดงานรำลึกการต่อสู้ของชาว พ.ค.ท. ซึ่งจัดตามอดีตเขตฐานที่มั่นเก่าของพ.ค.ท. และมีผู้คนเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก ทั้งอดีตนักปฎิวัติ และฝ่ายความมั่นคง

พ.ค.ท.เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในประเทศไทยที่เป็นพรรคของคนจน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2485 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไร้การกดขี่ การต่อสู้ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้ขับเคี่ยวกับรัฐไทยมาอย่างยาวนานและระหว่างการต่อสู้กันนี้ รัฐไทยก็ได้เปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งหลายหน แต่สิ่งเดียวที่รัฐไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ มุ่งกวาดล้างแนวคิดของชาวคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างแข็งขัน ผลของการขับเคี่ยวกัน รัฐไทยชนะพ.ค.ท.และแม้ว่า พ.ค.ท.จะไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่าพ่ายแพ้ แต่ในช่วงตั้งแต่หลังปี 2523 เป็นต้นมา พ.ค.ท.ไม่ได้มีสภาพเป็นองค์กรปฎิบัติการทางการเมืองแต่อย่างใด

หลังจากพ่ายแพ้ไปหลายสิบปี นักต่อสู้ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ได้ร่วมจัดงานรำลึกสหายผู้เสียสละชีวิตในเขตป่าเขาตามเขตงานฐานที่มั่นต่างๆ ของพ.ค.ท.ในการจัดงานรำลึกการต่อสู้ เราจะพบเห็นอดีตเขตฐานที่มั่นต่างๆ ของพ.ค.ท.กว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งประเทศ และใกล้กับศูนย์กลางอำนาจรัฐไทยเพียงแค่ 300 กิโลเมตรก็มี เช่น เขตงานตะนาวศรี ผู้เขียนได้อ่านหนังสือรำลึกตะนาวศรี ซึ่งมีบทความที่เขียนโดยหมอกิ่ง บทความชิ้นนี้ สรุปได้ว่า ภายหลังที่บรรดานักปฎิวัติที่เคยเป็นนักเรียน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา พากันออกจากป่าตามนโยบาย 66/23 ของรัฐบาลไทย สมาชิกและมวลชน พ.ค.ท.บางส่วนก็ยังไม่ยอมจำนนกับรัฐไทย และมีความพยายามอย่างสูงในการรักษาสภาพความเป็นองค์กรปฎิวัติเป็นเวลาเกือบสิบปี จนกระทั่งออกจากป่าคนสุดท้ายในปี 2537

การจัดงานรำลึกของพ.ค.ท.ส่วนใหญ่ก็จะเน้นรำลึกและทำบุญให้แก่สหายที่เสียสละชีวิตในเขตฐานที่มั่น แม้ว่าพ.ค.ท.จะไม่ได้ทำงานเคลื่อนไหวในรูปองค์กรปฎิวัติแล้วก็ตาม แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เราจะเห็นว่ามีคนพยายามรื้อฟื้น พ.ค.ท.ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนแนวทางการเมืองของตนเอง เช่น การประกาศจดทะเบียนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับ ก.ก.ต.อันมีความหมายว่าพวกเขากลับมาดำเนินงานมวลชนโดยเปิดเผย หรือแม้กระทั่งประกาศว่า พ.ค.ท.ร่วมกันปกป้องสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งได้สร้างข้อถกเถียงกันอย่างมากมายในหมู่อดีตผู้ปฎิบัติงาน

กล่าวโดยสรุปคือ จิตใจนักปฎิวัติของชาว พ.ค.ท.นับว่ากล้าหาญ เสียสละเป็นอย่างสูง เอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน ทุ่มเทสรรพกำลังทุกอย่างเพื่อสร้างสังคมใหม่ และแม้ว่าจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ก็ตามแต่จิตใจในการต่อสู้และความเสียสละของชาว พ.ค.ท.ในอดีตยังน่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามในมุมมองของชาวลัทธิมาร์คซิสต์-เลนินนิสต์ เราเห็นว่าแนวทางของพ.ค.ท.มีความแตกต่างกับแนวทางลัทธิมาร์ค-เลนิน เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เรามองว่า พ.ค.ท.ได้รับอิทธิพลจากเหมาเจ๋อตุง ซึ่งเหมาเจอตุงก็ได้นำความคิดสตาลินไปใช้ในการปฎิวัติชาวนา แต่เดิมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นกำลังในการปฎิวัติ แต่หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พ.ค.จ.) ทำแนวร่วมกันพรรคก๊กมินตั๋ง ผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋งก็ทำการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในเมืองจนกระทั่งเหมาถือโอกาสนี้ไปปฎิบัติการทางการเมืองในชนบท โดยอ้างว่าสังคมจีนเป็นสังคมชาวนา และชาวนาเป็นกำลังหลักในการปฎิวัติ

ซึ่ง พ.ค.ท.ก็วิเคราะห์สังคมไทยแบบที่ พ.ค.จ.วิเคราะห์สังคมจีนโดยพ.ค.ท.วิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ทั้งๆที่สังคมไทยมีการปฎิวัติทุนนิยมมาตั้งเเต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การต่อสู้จากในเมืองไปสู่การต่อสู้ในเขตชนบทและทำให้ พ.ค.ท.ทิ้งงานกรรมาชีพในเมืองและเมื่อนักปฎิวัติทยอยออกจากชนบท ทำให้ พ.ค.ท.รักษาสถานภาพองค์กรปฎิวัติไม่ได้ ความล้มเหลวของพ.ค.ท.จึงมาจากแนวคิดทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจากตารางข้างล่างนี้เราได้ทำการเปรียบเทียบความคิดขององค์กรเรากับแนวคิดของสตาลินและเหมา

ลัทธิมาร์คซ์/เลนิน vs ลัทธิสตาลิน/เหมา

ลัทธิตามหลักแนวคิดวิทยาศาสตร์ vs ลัทธิตามคำสั่งผู้นำแบบศาสนาของรัฐ

สังคมนิยมต้องสร้างเป็นระบบสากลและเป็นการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพเอง vs สังคมนิยมสร้างในประเทศเดียวได้และไม่ต้องเป็นการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพ

ชนชั้นกรรมาชีพจำกัดไว้อย่างชัดว่าไร้ปัจจัยการผลิต vs ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนชั้นล่างทั้งหมดซึ่งอาจรวมถึงชาวนา

สากลนิยม-เน้นความสามัคคีของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก vs ชาตินิยมลดความขัดแย้งทางชนชั้น

รัฐสังคมนิยมเป็นเครื่องมือกดขี่ชนชั้นนายทุนและเป็นเครื่องมือชั่วคราวในการสร้างสังคมนิยม vs รัฐเป็นสถาบันถาวรและใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชาติ

ชนชั้นกรรมาชีพควรเป็นอิสระและควรต่อสู้เพื่อประโยชน์ของตนเอง vs ส่งเสริมแนวร่วมระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและนายทุนชาติ

ประชาธิปไตยสูงสุดภายใต้อำนาจของชนชั้นกรรมาชีพโดยผ่านสภาพกรรมาชีพ vs เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ

ชาวนาสร้างสังคมนิยมไม่ได้ vs ชาวนาสร้างสังคมนิยมได้


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com