Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ระบบทุนนิยมทำให้เกิด “โรคอ้วน” รุนแรงขึ้น

โดย วัฒนะ วรรณ

โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขื้นในระบบทุนนิยม ความยากจนมักจะทำให้มันรุนแรงขึ้น หรือบางโรคมาจากปัญหาของระบบการทำงานของทุนนิยมโดยตรง เช่น โรคอ้วน

จากข้อมูลของ “เครือข่ายไร้พุง” ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน(2564) พบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs องค์การอนามัยโลกให้นิยามโรคอ้วนว่า “เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้”

โรคอ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ระบบทางเดินหายใจ ปัญหานอนกรน นอนไม่เต็มตื่น ในระยะยาวจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ฯลฯ

สาเหตุของโรคอ้วนเกิดจากการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเกินกว่าที่ร่างการต้องการใช้ เช่นอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง รวมถึงภาระร่างกายทเผาผลาญพลังงานได้น้อย เนื่องจากมีมวลกล้ามเนื้อน้อยหรือออกกำลังน้อย

สาเหตุที่ถูกพูดถึงมักจะเน้นไปที่พฤติกรรม “ส่วนบุคคล” ที่ไม่มีวินัยมากพอในการดูแลสุขภาพ มากกว่าจะพิจารณาสภาพสังคมเศรษฐกิจการเมืองอย่างเป็นระบบ แต่นักมาร์คซิสต์จะใช้วิธีการมองปัญหาต่างๆ แบบ “วิภาษวิธี” โดยจะมองความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ แบบองค์รวม แต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งกัน ระบบทุนนิยมต้องการกำลังแรงงานที่แข็งแรง สภาพร่างกายสมบูรณ์เพื่อประสิทธิภาพของการผลิตสินค้า โดยพยายามบอกให้กรรมาชีพดูแลสุขภาพตนเองให้ดี แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความขัดแย้งกัน ด้วยต้องการรักษา “กำไร” เอาไว้ในระดับสูงที่ได้จากการขูดรีดมูลค่าแรงงาน จึงไม่จะยอมนำมูลค่าเหล่านั้นมาให้สวัสดิการเพื่อบริการสุขภาพที่ดี

ด้วยความต้องการกำไรมาก ระบบการทำการผลิตจึงเน้นที่การทำงานแบบเข้มข้น ทำงานซ้ำเดิมเป็นเวลานานท่ามกลางแรงงานจำนวนหนึ่งที่ตกงาน แทนที่จะจ้างแรงงาน 2 คน เพื่อลดชั่วโมงการทำงาน กลับเลือกจ้างแรงงานเพียง 1 คนเพื่อลดค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเพื่อให้เพียงพอต่อการยังชีพ ด้วยสภาพการทำงานแบบนั้นย่อมสร้างความเหนื่อยล้าจนแรงงานไม่สามารถจะเหลือกำลังเพื่อจะออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพได้มากนัก

จากข้อมูลของ จีเอฟเค ประเทศไทย บริษัทวิจัยทางการตลาด ระบุว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยสูงที่สุดในเอเชียที่สัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่อยู่ที่ 48 ชั่วโมง แต่สำหรับประเทศไทยที่ไม่ลงทุนระบบขนส่งมานานการเดินทางที่ยาวนานก็เป็นปัญหาด้วย ข้อมูลจาก Baania องค์กรที่รวบรวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ส่วนใหญ่คนเมืองใช้เวลาเดินทางไปทำงานเฉลี่ย 2 ชั่วโมง/วัน

ด้วยสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงในไทย คนส่วนใหญ่จะยากจนมากท่ามกลางเศรษฐกิจติดอันดับโลกจำนวนมาก คนจนมีรายได้ไม่มากจึงไม่สามารถเลือกที่จะกินอาหารได้มากนัก อาหารที่มีราคาถูกจึงมักจะเป็นอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลที่ให้พลังงานสูง

นอกจากนั้น หากกรรมาชีพต้องการจะออกกำลังกายท่ามกลางการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยยาวนานก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากสถานที่ออกกำลังกายที่สะดวกกลับเป็นของเอกชนที่มีราคาแพง ส่วนสถานที่ออกกำลังกายของรัฐ เช่นสวนสาธารณะกลับมีจำนวนน้อยมาก จากข้อมูลของ Rocket Media Lab กรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้จริงเกินเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ 4 ตรม./คน อยู่เพียงแค่ 4 เขต ประกอบด้วย ปทุมวัน ประเวศ จตุจักร พระนคร จะพบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชั้นในที่ราคาที่ดินมีราคาแพง แต่กรรมาชีพต้องอาศัยอยู่นอกเมืองที่ไกลออกไป

นอกจากส่วนสวนสาธารณะที่มีน้อยและกระจุกตัว กิจกรรมที่มีบริการส่วนใหญ่ก็เป็นระดับพื้นฐานให้ไปเดินวิ่งที่รัฐลงทุนไม่มาก กิจกรรมอื่นๆ ดูจะจำกัดจำเขี่ยเนื่องจากรัฐไม่พยายามเพิ่มการลงทุน เพื่อดูแลสุขภาพคน เช่น ห้องฟิตเนสที่มีคุณภาพดี กิจกรรมทางน้ำ และกีฬาประเภทอื่นๆ ที่ตอบสนองรสนิยมที่หลากหลาย

ทั้งหมดที่กล่าวมา เรากำลังพูดถึงรัฐทุนนิยมที่มีความร่ำรวยจนมีเศรษฐีติดอันดับโลกมากมายด้วยการทำงานของกรรมาชีพ แต่สิ่งที่พบคือรัฐนายทุนไม่ต้องการลดกำไร เพื่อนำเงินมาลงทุนดูแลสุขภาพกรรมาชีพ โรคอ้วน และโรคอื่นๆ จึงถูกผลักเป็นภาระที่กรรมาชีพต้องดูแลตนเอง ถูกทำให้เป็นความผิดส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่โรคเหล่านี้เกิดจากระบบการจ้างงานที่เอาเปรียบ


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com