โดย รุเธียร
ในงานเขียนของมาร์กซ์เรื่อง Pre-Capitalist Economic Formations ซึ่งเป็นฉบับร่างก่อนที่จะเขียนว่าด้วยทุน มาร์กซ์พูดถึงรูปแบบของกรรมสิทธิ์ที่พัฒนาออกมาจากชุมชนบุพกาล (อันเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวและสังคมแบบชนชั้น) แต่ละหนทางแสดงถึงรูปแบบการแบ่งงานทางสังคมที่ดำรงอยู่ อย่างหนึ่งคือกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดเล็กของชาวนาเสรีในสังคมแบบทาสและศักดินา อย่างหนึ่งคือกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมหมู่ของชุมชนในประชาคมตะวันออก (Marx 1857-58) หรือที่เรียกว่าเป็นวิถีการผลิตแบบเอเชีย ซึ่งเติบโตอยู่ในจีน ฮินดูสถาน สลาฟ ตะวันออกกลางและเมโสอเมริกัน
เออร์เนสต์ แมนเดล เสนอลักษณะสำคัญของวิถีการผลิตแบบเอเชียไว้ดังนี้ คือ 1. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 2. ระบบสังคมหมู่บ้านมีพลังเกาะกลุ่มอย่างเหนียวแน่น และคงสภาพอยู่ได้เป็นเวลานาน 3. พลังเกาะแน่นดังกล่าว เสริมด้วยการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกแรงงานระหว่างการผลิตทางการเกษตรและหัตถกรรม 4. โดยสภาพทางภูมิศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ผลได้ของการผลิตทางการเกษตรจึงต้องอาศัยงานชลประทานขนาดใหญ่ (กรณีพิพาทแย่งน้ำโรหิณีระหว่างญาติวงศ์ของสิทธารถะพุทธะ หรือบารายในรัฐกัมพูชาโบราณก็ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน-ผู้เขียน) 5. สามารถรวบเอาผลผลิตส่วนเกินของสังคมเข้าไว้ในความครอบครอง และรวบอำนาจอยู่ได้อย่างมั่นคง (Mandel 1971)
มาร์กซ์ยังพูดถึงรูปแบบเอเชียในจดหมายที่เขาเขียนโต้ตอบกับเองเกลส์อีกว่า “ในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมว่าชุมชนหมู่บ้านอันแสนเรียบง่ายเหล่านี้, ถึงแม้จะดูไม่เป็นพิษเป็นภัย, ได้เป็นรากฐานของเผด็จการตะวันออกเสมอมา, มันควบคุมบังคับจิตใจของมนุษย์ให้อยู่ภายใต้ขอบเขตที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้, ทำให้จิตใจมนุษย์กลายเป็นเครื่องมือที่ปราศจากการต่อต้านของความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์, เป็นทาสการปกครองโดยประเพณี, สูญเสียพลังงานทางประวัติศาสตร์และความสง่างามทั้งหมด…เราต้องไม่ลืมว่าชุมชนเล็ก ๆ เหล่านี้ถูกทำให้เปรอะเปื้อนด้วยการแบ่งแยกของระบบวรรณะและทาส, พวกเขาทำให้มนุษย์ยอมศิโรราบต่อเหตุการณ์ภายนอกแทนที่จะยกมนุษย์ให้เป็นเจ้าของเหตุการณ์, มันเปลี่ยนรูปแบบสังคมที่สามารถพัฒนาตนเองได้ให้กลายเป็นชะตากรรมตามธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลง” (Marx 1960)
ด้วยลักษณะดังกล่าว เอกภาพซึ่งปรากฏในรูปของผู้เผด็จอำนาจหรือบรมเดชานุภาพตะวันออก (Oriental despotism) จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง ในขณะที่ชุมชนเป็นเพียงผู้สืบทอดทางมรดกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่เสมือนว่าหยุดนิ่งของชุมชนตะวันออกยังคุกรุ่นด้วยความขัดแย้งทางขนชั้นเสมอมา แต่ก็ด้วยลักษณะนั้นที่ตรึงให้มันไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระบบทุนนิยมด้วยตนเองเหมือนกับศักดินายุโรป เมื่อวันเวลามาถึง ทุนนิยมตะวันตกซึ่งพัฒนาไปถึงขั้นสูงสุดในโฉมหน้าของจักรวรรดินิยมได้ส่งมอบโชคชะตาที่เลวร้ายยิ่งกว่าการกดขี่แบบเดิมและสร้างกรรมาชีพกลุ่มใหม่คือประชาชนที่ตรากตรำในประเทศล้าหลัง มีอนาคตอยู่เพียงอย่างเดียวคือรอให้เจ้าที่ดินเดิมและนายทุนแล่เนื้อเถือหนัง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกส่วนของเอเชียรวมถึงไทยจะต้องเป็นวิถีการผลิตแบบเอเชีย และในส่วนต่าง ๆ ของโลก ระบบเศรษฐกิจการเมืองก่อนทุนนิยมก็แตกต่างกันออกไป แต่ทุนนิยมเท่านั้นที่เป็นระบบโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ทุกส่วนของโลกคล้ายคลึงกันไปหมด กรรมาชีพจึงปราศจากปิตุภูมิและการปฏิวัติสังคมนิยมมีความเป็นสากล ไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านี้สังคมจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6