Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

เศรษฐกิจนอกกฎหมาย เหรียญอีกด้านของระบบทุนนิยม: จากคดีตู้ห่าวถึงการฟอกเงินข้ามชาติ

โดย พัชณีย์ คำหนัก

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพสูง คนตกงานยากจน กับปัญหาโรคระบาดที่ผ่านมา ธุรกิจนอกกฎหมาย เช่น ยาเสพติดยังคงเติบโต มีเม็ดเงินที่เกิดจากธุรกิจนี้อยู่เป็นจำนวนหลายพันล้าน มีข่าวจับยาเสพติดที่มาจากไทยในประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง และล่าสุดตลอด 2 เดือนมานี้ คดีตู้ห่าว (หรือนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์) ทุนจีนสีเทากลายเป็นประเด็นที่มีคนติดตามในวงกว้าง ซึ่งเป็นคดีที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และมีการยึดทรัพย์ไปแล้วมูลค่ากว่าสี่พันล้านบาท ทั้งขยายผลไปถึงผู้ต้องหาทุนจีนเพิ่มเป็น 5 กลุ่ม รวมผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมนับร้อย ที่แย่กว่านั้นคือเป็นคดีที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่รัฐ ระบบยุติธรรม การที่ตู้ห่าวเดินเข้าเดินออกบนตึก ปปง. และโยงใยเกี่ยวก้อยไปถึงครอบครัวของนายพลอดีต ผบ.ตร. เข้าหานักการเมืองด้วยการบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ 3 ล้านบาท

ในอดีตธุรกิจนอกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติด ลักลอบน้ำมันเถื่อน ค้าประเวณี ค้าแรงงานพม่าเข้าไทย บ่อนการพนัน มีมูลค่า 2-4 แสนล้านบาทต่อปีคือ ปี 2536-38 คิดเป็นร้อยละ 8-13 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP (ผาสุก พงษ์ไพจิตร สังศิต พิริยะรังสรรค์และนวลน้อย ตรีรัตน์. หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า เศรษฐกิจนอกกฎหมายกับนโยบายสาธารณะในประเทศไทย ปี 2543) ต่อมาในปี 2557 เว็บไซต์ Havocscope ผู้รวบรวมสถิติจากแหล่งข่าวต่างๆ ระบุว่า เศรษฐกิจนอกกฎหมายของไทยอยู่ที่ประมาณ 13% ของ GDP หรืออันดับที่ 21 ของโลก (เรียงตามมูลค่า) (ธานี ชัยวัฒน์. เศรษฐกิจนอกระบบ: อะไร อย่างไร ทำไม. 26 มิถุนายน 2557) และยังสร้างงานเป็นจำนวนนับล้านๆ คน

ข้าพเจ้ามองว่า เศรษฐกิจนอกกฎหมายเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของระบบทุนนิยมทั่วโลก เพราะเป็นปัญหาร่วมกันของประเทศอื่นๆ จึงเป็นปัญหาเชิงระบบที่ไม่ว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หน่วยงานของรัฐในประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ ดังนั้น สิ่งที่น่าคิดต่อคือ 1) เศรษฐกิจนอกกฎหมายและการฟอกเงินเฟื่องฟูเพราะได้รับความสะดวกจากการค้าการลงทุนเสรี เทคโนโลยีและการสื่อสารทันสมัย รัฐลดกฎระเบียบการควบคุม การเดินทางคล่องตัวในระบบทุนโลกาภิวัตน์ และเป็นที่ดึงดูดของคนทั่วไปเพราะปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำ 2) เป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ดึงทรัพยากรออกจากระบบเศรษฐกิจปกติ ทำให้เกิดเงินเฟ้อ การเก็งกำไร เป็นการหลบเลี่ยงภาษีทำให้รัฐขาดรายได้ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่ามีเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ถูกซ่อนไว้เพื่อหลบเลี่ยงภาษี 3) ระบบรัฐทุนนิยมขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและแรงงานในการควบคุมตรวจสอบระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่นายทุน ผู้มีอำนาจรัฐ คนเพียงหยิบมือเดียวคอยกุมตลาด ปัจจัยการผลิต กำไร เงินและอำนาจบริหารอื่นๆ อีกทั้ง รัฐยังปล่อยให้มีการกดขี่แรงงานในภาคส่วนนี้ แทนที่จะจัดการให้ขึ้นมาบนดินและคุ้มครองสิทธิแรงงาน และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

เศรษฐกิจนอกกฎหมายกับการฟอกเงิน

เศรษฐกิจนอกกฎหมาย หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในบัญชีรายได้ประชาชาติ เป็นกิจกรรมที่ไม่มีการเสียภาษีและกฎหมายไม่ให้การรับรอง ยกตัวอย่าง การค้ายาเสพติด หากวัดขนาดตลาดผู้ใช้และประเภทยาเสพติด ในรายงาน World Drug Report 2017 ระบุว่า ประเทศไทยในปี 2557 มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดประมาณ 1.8 ล้านคน ในปี 2558 มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ถือเป็นกำลังซื้อที่มหาศาล และเป็นตลาดที่บังคับให้ผู้ซื้อต้องซื้อ ส่วนจำนวนคดียาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนศาล ในปี 2557 มีประมาณ 3.6 แสนคดี ในปี 2558 ไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนคดี โดยกระทรวงยุติธรรมได้รับงบประมาณในการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเฉลี่ยปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการผลิตมากขึ้น

ส่วนการฟอกเงินเป็นการดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดใดๆ เปลี่ยนเป็นเงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งบุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการฟอกเงินนอกจากจะมีมูลเหตุมาจากการค้ายาเสพติด ยังมีมูลเหตุอื่นๆ อีกนับ 28 มูลเหตุตามกฎหมายของ ปปง. เพิ่มขึ้นจากอดีต เช่น การค้ามนุษย์ ฉ้อโกงประชาชน การพนัน องค์การสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ได้ประมาณการจำนวนเงินที่ฟอกทั่วโลกในปี 2557 มีประมาณร้อยละ 2 – 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก หรือประมาณ 800,000–2,200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินที่ถูกฟอกในปี 2555 ประมาณ 1,562,801 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากจำแนกเป็นรายประเทศ พบว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการฟอกเงินมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยเป็นต้นทางการฟอกแล้วส่งต่อไปยังปลายทางทั้งภายในประเทศและประเทศปลายทางอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะเคย์แมน มูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 848,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 29.8 ของโลก) สำหรับไทย มีมูลค่า 24,953 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 0.9 ของโลก)

ผลกระทบจากเศรษฐกิจนอกกฎหมาย

กิจกรรมเศรษฐกิจนอกกฎหมายหากขยายไปมากจะเป็นการดึงทรัพยากรออกจากธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐขาดรายได้ เกิดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ มีผลสั่นคลอนเสถียรภาพ นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจในการลงทุน มีการเก็งกำไรในราคาที่ดิน ที่อยู่อาศัย คอนโดจนคนทำงานคนรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อได้ ประชาชนขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ อีกทั้ง ยังบ่อนเซาะค่านิยมการทำงานหนัก และการทำงานอย่างสุจริต แสวงหาทางลัดหารายได้ที่สูงกว่าปกติ เช่น ธุรกิจหวยใต้ดิน บ่อนการพนันเป็นแหล่งดึงดูดเงินอย่างมหาศาลจากเกษตรกร คนงาน พ่อค้าแม่ค้า ผู้มีรายได้น้อยหรือยาเสพติดก็ดึงดูดนักเรียน เยาวชน การค้าบริการทางเพศ ทำให้มีจำนวนหญิง/ชายขายบริการกว่า 2 แสนคน (ผาสุก พงษ์ไพจิตร 2543) อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ยังไม่ค่อยกล่าวกันนักคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมที่ทำให้คนต้องแสวงหาทางรอด ความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่างานจะมีลักษณะอย่างไร กับปัญหาการทุจริตและความรุนแรงเชิงโครงสร้างของระบบทุนเอง

การทุจริตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันระบบทุนนิยมกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ คนงานหลายล้านคนทั่วโลกกำลังสูญเสียความเป็นอยู่และอนาคต ถึงกระนั้นเราก็ยังเห็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และมีมหาเศรษฐีหน้าใหม่ ในช่วง 10 ปีตั้งแต่วิกฤตการเงิน 2008 การคอร์รัปชันและอาชญากรในสถาบันการเงินรายใหญ่ของโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้มีการปรับปรุงกฎหมาย แต่รัฐทุนนิยมไม่มีความตั้งใจที่จะทำให้สถาบันการเงินที่ทุจริตส่วนใหญ่เลิกกิจการ เพราะมองว่าเป็นการดีกว่าหากปรับเงินพวกเขาและรีดเงินสกปรกเติมเข้าไปในกองทุนของรัฐ ดังตัวอย่าง สถาบันการเงินที่มีรายชื่ออยู่ในไฟล์ที่รั่วไหลหลายครั้งของ FinCEN หรือเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการก่ออาชญากรรมทางการเงิน ได้เปิดโปงให้เห็นทั้งข้อตกลงแบบลับๆ การฟอกเงินและการก่ออาชญากรรมทางการเงินของธนาคาร ล่าสุดถูกตัดสินว่ามีความผิดในอาชญากรรมการฟอกเงิน เช่น ธ. HSBC อนุญาตให้ผู้ฉ้อโกงโอนเงินหลายล้านเหรียญ USD ที่ถูกขโมยมา แม้เจ้าหน้าที่สืบสวนระบุแล้วว่าเป็นเงินฉ้อโกง (The FinCEN leaks and the corruption of capitalism. 30 ก.ย. 63. ในเว็บไซต์ In Defence of Marxism) ธนาคารเดนมาร์กหรือดอยซ์แบงก์โอนย้ายเงินสกปรกให้องค์กรอาชญากรรม ผู้ก่อการร้าย และผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งจ่ายค่าปรับไป 630 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการเลิกจ้างพนักงานทั่วโลก 18,000 คนเพราะไม่สามารถแข่งขันกับธนาคารอื่นได้

ระบบทุนนิยมเหลื่อมล้ำ

นอกจากเศรษฐกิจนอกกฎหมายและการฟอกเงิน เหรียญอีกด้านของทุนนิยม ทว่า แม้ในกิจกรรมเศรษฐกิจที่ถูกมองว่าถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ระบบนี้ ก็มีการขูดรีดและก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น เพราะ 1) ระบบทุนนิยมขึ้นอยู่กับตลาด ยิ่งขยายกิ่งก้านสาขา ยิ่งมีโอกาสสร้างกำไร สะสมทุนมากขึ้น และสร้างเทคโนโลยีแพลตฟอร์มหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด แต่มาจากการขูดรีดเอาเปรียบแรงงาน กดค่าจ้างและสวัสดิการ สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย 2) เทคโนโลยีและทรัพยากรมีความซับซ้อนขึ้น คนรวยสามารถเข้าถึงและเพิ่มความมั่งคั่งได้ แต่คนจนกลับนำไปสู่การว่างงานที่เพิ่มขึ้น หรือจ้างงานต่ำระดับ งานไม่มั่นคง ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการมีชีวิตที่ดี กอปรกับความกดดันในการหาเงินอย่างรวดเร็ว จึงทำให้คนจนมีส่วนร่วมในกิจกรรมนอกกฎหมาย เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางวัตถุ จึงมักหันไปหาอาชญากร ที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน 3) ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน กลไกตลาดที่ไม่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนจน ทำให้ผู้คนจำนวนมากเต็มใจที่จะซื้อสินค้าหายากอย่างผิดกฎหมายและซื้อขายสินค้าลอกเลียนแบบ

ดังที่ คาร์ล มาร์กซ์ กล่าวไว้เมื่อนานมาแล้วว่า การหลอกลวงและอาชญากรรม การหลีกเลี่ยงกฎและกลอุบายเป็นหัวใจของระบบทุนนิยมและตลาดโลก เราได้มาถึงจุดที่เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า บริษัททุนไม่เพียงแต่สามารถขูดรีด และปฏิบัติต่อพนักงานของตนในทางที่ผิด ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังสามารถฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com