Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

SOTUS เป็นเพียงแค่การรับน้องอย่างทารุณหรือไม่

โดย สหายไผ่แดง

เมื่อพูดถึงโซตัส (SOTUS) หลายคนอาจนึกถึงภาพของการการรับน้องอย่างทารุณและละเมิดสิทธิเสรีภาพในสถานศึกษา หรือ อาจนึกถึงการที่มีรุ่นพี่ในสถาบันการศึกษาใช้ความอาวุโสกระทำการพูดจาข่มขู่และกดขี่รุ่นน้องอย่างรุนแรง แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันผู้คนเริ่มตระหนักรู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและลดทอนความเป็นมนุษย์ ในหลายสถาบันก็เริ่มออกมายกเลิกระบบโซตัส อย่างที่เห็นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่นั่นเพียงพอแล้วหรือเปล่าในการที่เราจะต่อต้านระบบโซตัส ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็นถึงมุมมองที่มากกว่าที่ได้กล่าวไปข้างต้น

หากเราย้อนไปในอดีตจะพบว่าระบบโซตัสมีจุดเริ่มต้นมาจากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ และโซตัสเข้ามาในสยามช่วงปี 2440 โดยแนวคิดนี้ถูกใช้กับโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนในเวลาต่อมาโรงเรียนนี้ได้กลายมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอุดมการณ์โซตัสก็ได้ถูกถ่ายทอดผ่านคำขวัญและเพลงประจำสถาบัน อย่างไรก็ตามความนิยมของโซตัสลดลงในช่วงทศวรรษ 2510s โดยสอดคล้องกับกระแสการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชน ซึ่งในช่วงนั้นขบวนการนักศึกษามีการเริ่มทำค่ายอาสาเน้นหนักไปแนวทางการต่อสู้เพื่อผู้ถูกดขี่ และมีการหันมาสนใจพูดถึงปัญหาสังคมต่างๆมากขึ้น แต่ในช่วงกระแสการต่อสู้ภาคประชาชนถูกปราบอย่างหนักหน่วงโดยรัฐในช่วงปี 2519 รัฐบาลเผด็จการทหารได้ออกนโยบายการศึกษาและวัฒนธรรมปลูกฝังค่านิยมชนชั้นและการเชื่อฟังผู้มีอำนาจผ่านสื่อและสถาบันทางสังคมต่างๆ พร้อมทั้งนำโซตัสกลับเข้ามาใช้ในสถาบันการศึกษา จะเห็นได้ว่าแนวคิดโซตัสเป็นแนวคิดที่พยายามปลูกฝังให้ผู้คนยอมรับกับการถูกกดขี่และทำให้ผู้ยอมรับกับวัฒนธรรมที่มีการแบ่งชนชั้น

แม้โซตัสว่าจะเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้ผู้คนในสถาบันการศึกษาสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งเดียวกันมากเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ไม่เคยพัฒนาไปสู่แนวคิดในการสร้างความสมานฉันท์ของชนชั้นกรรมาชีพได้เลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นยังเป็นการทำลายจิตสำนึกทางชนชั้นเพราะเป็นการทำให้กรรมาชีพไม่กล้าตั้งคำถามกับหัวหน้างาน หรือผู้ที่มีลำดับขั้นที่สูงกว่าในที่ทำงาน ไปจนถึงการตั้งคำถามกับการมีอยู่ของระบบชนชั้น

นอกจากนี้สาเหตุหนึ่งที่ SOTUS ยังคงดำเนินอยู่ได้ยังสะท้อนถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม นักเรียนและนักศึกษาที่จะไปเป็นกรรมาชีพในอนาคต จำเป็นจะต้องสอบแข่งขันกันเองเพื่อที่จะได้เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษามีชื่อเสียง และบางคนจำเป็นจะต้องพึ่งพาอาศัยรุ่นพี่ในสถาบันการศึกษาเพื่อให้ตนเองมีงานทำและยังคงอยู่รอดในระบบทุนนิยม

หากเราจะต่อต้านโซตัส การยกเลิกระบบโซตัสในผ่านทางกฏระเบียบของสถานศึกษานั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะว่าโซตัสไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเผด็จการรับน้อง หรือ เผด็จการห้องเชียร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นคุณค่าหรือจิตสำนึกบางอย่างที่สนับสนุนให้ระบบชนชั้นดำเนินต่อไปได้ เราจำเป็นต้องการส่งเสริมวัฒนธรรมการถกเถียงตั้งคำถาม สร้างกลุ่มศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์ และรวมตัวกันด้วยแนวคิด Solidarity (ความสมานฉันท์) เพื่อต่อสู้กับ SOTUS


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com