โดย แพรพลอย
ตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดในโลกในปี 2012 ตามรายงานของนิตยสารฟอร์บส์ตกเป็นของนายคาร์ลอส สลิม เจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมชาวเม็กซิโก ผู้ครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด 69 พันล้านดอลลาร์ในขณะนั้น (หรือ 89 พันล้านดอลลาร์เมื่อรวมกับอัตราเงินเฟ้อจากปี 2012-2022) ในปี 2022 ตำแหน่งนี้ตกเป็นของนายอีลอน มัสก์ เจ้าพ่อธุรกิจเทคโนโลยีที่มีทรัพย์สินรวมกันอยู่ที่ 219 พันล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจากฟอร์บส์วันที่ 5 เมษายน 2022) มูลค่าทรัพย์สินของตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดในโลกเพิ่มขึ้นถึง 246% ในระยะเวลาเพียงแค่สิบปี และเมื่อปีที่แล้วอีลอน มัสก์ก็ได้ตัดสินใจควักเงินจำนวน 44 พันล้านดอลลาร์ในกระเป๋าลงทุนซื้อทวิตเตอร์และเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัวในวันที่ 27 ตุลาคม 2022 ด้วยทรัพย์สมบัติที่มีตรงนี้ มักส์สามารถซื้อทวิตเตอร์ได้ถึง 5 ครั้งในขณะที่สลิมสามารถซื้อทวิตเตอร์ได้แค่ 2 ครั้งแม้จะนำทรัพย์สินทั้งหมดไปรวมกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว
ต่อมา มัสก์ปลดพนักงานจำนวน 3,700 คนออกหลังเข้ามานั่งในออฟฟิศทวิตเตอร์ นอกจากนี้ ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทม์ยังไล่พนักงานจำนวน 24 คนที่วิจารณ์ตนเองออก ซึ่งขัดกับเหตุผลที่อ้างว่าจะเข้ามาเพิ่มเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Free speech) ในทวิตเตอร์ ละครสัตว์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมในทวิตเตอร์ แสดงให้เห็นว่ามัสก์เป็นผู้บริหารทวิตเตอร์ได้ไม่ใช่เพราะว่าฉลาด แต่เพราะรวยมีเงินซื้อทวิตเตอร์ก็เท่านั้น
ตามการรายงานของบลูมเบิร์ก มัสก์สั่งให้พนักงานพิมพ์โค้ดในช่วง 30 วันที่ผ่านมามาให้ตนเองตรวจสอบ เพื่อเป็นการคัดเลือกว่าใครเหมาะสมที่จะทำงานในทวิตเตอร์ต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามัสก์ไม่เข้าใจการทำงานของทวิตเตอร์ และก็แสดงให้เห็นว่า “โรงงานนั้นเป็นของคนงาน” หรือ “ทวิตเตอร์นั้นเป็นของพนักงานทวิตเตอร์” เพราะคนที่มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานและสร้างความมั่งคั่งให้แก่ทวิตเตอร์ตัวจริงคือพนักงานที่โดนไล่ออกไม่ใช่มัสก์ เจ้าของบริษัทคนอื่นก็คล้ายกับมัสก์ คนกลุ่มนี้ได้เป็นเจ้าของบริษัทเพียงเพราะมีเงินทุน ไม่ใช่เพราะทำงานมากกว่าลูกจ้าง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราได้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของพนักงานทวิตเตอร์ที่เรียกตัวเองว่า “ทวีป” (Tweep) จากการสร้าง “คู่มือรับมือกับการโดนไล่ออกสำหรับชาวทวีป” ที่มีการระบุถึงกฎหมายแรงงานและสิทธิที่ชาวทวีปมี หรือจากการช่วยเหลือและช่วยเผยแพร่เรื่องราวการโดนกดขี่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ และเราก็ได้เห็นการลาออกจากงานชุดใหญ่ของชาวทวีปเพื่อต่อต้านมัสก์เช่นกัน
แต่ “การลาออก” ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการต่อสู้กับนายทุน ถ้าเราไม่เข้าควบคุมและเปลี่ยนที่ทำงานแย่ ๆ นี้ให้กลายเป็นที่ทำงานที่ดี แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าที่ทำงานใหม่ที่กำลังจะไปทำไม่เหมือนที่เก่า? แรงงานทักษะสูงหรือแรงงานที่ต้องได้รับการฝึกฝนเป็นเวลานานจะมีความมั่นใจในตัวเองสูง เนื่องจากสามารถไปทำงานที่ใดก็ได้ด้วยความสามารถที่มีอยู่ แต่ก็มีลูกจ้างอีกหลายคนเช่นกันที่ไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้ เช่น ลูกจ้างต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอเมริกาด้วยวีซ่า H-1B ในทวิตเตอร์ ซึ่งวีซ่านี้กำหนดให้ลูกจ้างคนใดที่ลาออกจากบริษัทที่ระบุไว้ในวีซ่าต้องออกจากประเทศภายใน 60 วันนับจากวันสุดท้ายที่ทำงานในบริษัทนั้น ดังนั้น การลาออกนอกจากจะไม่สามารถทำลายการกดขี่แล้ว ยังเพิ่มภาระงานให้กับเพื่อนกรรมาชีพที่ต้องจำใจอยู่ในบริษัท
การปลดพนักงานออกเกิดขึ้นในบริษัทอื่นเช่นกันไม่ใช่แค่ที่ทวิตเตอร์ เช่น ปีที่แล้วเมตา (Meta) ก็ปลดลูกจ้างออกถึง 11,000 คน หรือแอมะซอน (Amazon) ก็ปลดพนักงานออกถึง 10,000 คนในปีเดียวกัน ดังนั้น คำพูดติดปากของพวกเสรีนิยมที่ว่า “คนรวยสร้างงาน” จึงเป็นเพียงแค่นิทานหลอกเด็ก
การปลดลูกจ้างออกของบริษัทเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงขาลงของบริษัทที่อัตราการเติบโตเริ่มตกลง และผู้ถือหุ้นเริ่มบ่นว่าค่าแรงหรือจำนวนลูกจ้างในบริษัทมากจนเกินไป ต้องตัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ออกเพื่อเพิ่มผลกำไร แต่ถ้าไปคุยกับลูกจ้างโดยตรงจะพบว่า ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม เช่น ในเว็บไซต์นิวยอร์กโพสต์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมก่อนแอมะซอนประกาศปลดลูกจ้างในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รายงานว่า ลูกจ้างที่ทำงานในคลังสินค้าของแอมะซอนต้องทำงานมากถึง 12 ชั่วโมงต่อกะ ดังนั้น การปลดลูกจ้างจึงเป็นวิธีที่นายทุนใช้เพื่อเอาใจผู้ถือหุ้นและทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น และทันทีที่ราคาหุ้นขึ้น บริษัทเหล่านี้จะเริ่มจ้างพนักงานอีกครั้ง และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมทวิตเตอร์จึงประกาศจ้างพนักงานอีกครั้งไม่กี่วันหลังจากที่ปลดพนักงานออกชุดใหญ่ ในปี 2022 มัสก์ก็ไล่พนักงานเทสล่าออก 10% เช่นกัน โดยระบุในอีเมลว่าที่ประกาศไล่พนักงานออกว่า “มีลางสังหรณ์ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี”
แต่ลูกจ้างคือคนที่มีชีวิตไม่ใช่ตัวเลข นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นแต่การทำกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว และจะเป็นแบบนี้ไปตลอด การรวมตัวกันหรือตั้งสหภาพจึงเป็นวิธีการเดียวที่ลูกจ้างผู้ไร้ปัจจัยการผลิตมีแต่ตัวสามารถใช้ได้ในการปกป้องตัวเองจากความรุนแรงของนายทุน เหมือนที่เลนินเคยกล่าวไว้ในหนังสือ “ว่าด้วยการนัดหยุดงาน” ว่า “ตราบใดที่ลูกจ้างต้องเผชิญหน้ากับนายจ้างในลักษณะปัจเจก กรรมาชีพจะเป็นทาสรับใช้ถาวรที่จำต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อกินข้าวมื้อเดียวในลักษณะคนรับใช้ที่สงบนิ่งไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อกรรมาชีพยื่นข้อเรียกร้องร่วมกันและไม่ยอมก้มหน้าเคารพเหล่าถุงเงินทั้งหลาย กรรมาชีพจะเลิกเป็นทาสและกลายเป็นมนุษย์ เขาเริ่มเรียกร้องว่างานที่เขาทำต้องมีส่วนทำให้เขามีชีวิตอยู่อย่างเป็นมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่รับใช้แต่พวกคนรวยที่ไม่เคยทำงานเอง”
ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทมากในการประท้วงตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะทั้งในไทยหรือในต่างประเทศ ผู้ชุมนุมมักใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลหรือวีดีโอความรุนแรงของตำรวจเหมือนในวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านในการประท้วงต้านเอเปค หรือการชุมนุมใหญ่ในอิหร่านที่รู้จักกันในนาม “การประท้วงสีเขียว” ในปี 2009 ผู้ชุมนุมก็ใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร จนมีชื่อเรียกเล่น ๆ อีกชื่อหนึ่งว่า “ปฏิวัติทวิตเตอร์”
แต่ทวิตเตอร์ก็เป็นเหมือนกับแพลตฟอร์มทางการสื่อสารอื่น ๆ ที่มีข่าวปลอม (Fake news) อยู่ในนั้น และทวิตเตอร์ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระจายข่าวปลอมของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดอย่างผู้สนับสนุนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนำไปสู่การบุกสภาอเมริกาในวันที่ 6 มกราคม 2021 หลังจากเหตุการณ์นี้พนักงานทวิตเตอร์จำนวน 300 คนได้ร่วมลงนามต่อสู้เรียกร้องภายในองค์กรให้ลบแอคเคาท์ของทรัมป์ออกจากระบบอย่างถาวรจนสำเร็จ และมัสก์ก็เป็นคนขุดทรัมป์กลับขึ้นมาบนทวิตเตอร์อีกครั้งโดยอ้างเสรีภาพการแสดงออก ถ้าชาวทวีปหรือพนักงานทวิตเตอร์เป็นผู้ควบคุมบริษัททวิตเตอร์ การกลั่นกรองเสรีภาพในการพูดหรือการตัดสินใจจะมาจากคนทำงานโดยตรงไม่ใช่จากนายทุนโลภมากอย่างอีลอน มัสก์
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6