Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

กรรมาชีพเป็นเหยื่อเสมอไป จริงหรือ?

โดย สหายกลั่น

“แรงงานน่าสงสารจัง”, “เราต้องช่วยแรงงานนะ”, “คนงานอ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรอก”, “เราต้องไปสอนกฎหมายแรงงาน” ฯลฯ เรามักรับรู้ถึงความอ่อนแอของขบวนการแรงงานอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และในปัจจุบันทัศนคตินี้ยังคงเป็นที่เชื่อถืออยู่พอสมควร แต่หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้ว ขบวนการแรงงานมีการต่อสู้มาอย่างต่อเนื่องในไทยและระดับสากล

ความเกรงใจต่อนายจ้างนั้นอาจมีอยู่จริง แต่แรงงานก็กล้าตอบโต้ด้วย เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ก็ยังมีการต่อสู้ของขบวนการแรงงานโดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการนัดหยุดงานถึง 1,211 ครั้ง เช่น การยึดโรงงานของคนงานฮาร่าในปี 2518 การนัดหยุดงานของคนงานโรงงานเหล็กกล้านานถึง 1 เดือน จนได้รับชัยชนะในการเพิ่มค่าจ้างกรณีเผาโรงงานซันโยในปี 2540 ก่อน การยึดโรงงานของคนงานไทยเกรียงในปี 2536 และเซ็นจูรี่ในปี 2541 และไม่นานที่ผ่านมา ปี 2565 ยังมีความพยายามต่อรองและประท้วงของสหภาพแรงงานตามสถานประกอบการในไทย เพื่อเพิ่มค่าจ้าง โบนัส และสวัสดิการอีกด้วย

ภายใต้เผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ ปี 2499 คนงานและนักศึกษาในฮังการีออกมาเดินขบวน ล้มรูปปั้นสตาลินและยึดโรงงาน จนสามารถตั้งคณะกรรมการโรงงานและคณะกรรมการปฏิวัติ ถึงแม้ว่าจะถูกปราบในภายหลัง แต่มันทำให้ชนชั้นปกครองในยุโรปตะวันออกต้องปฏิรูปตัวเอง ปี 2523 ในโปแลนด์ คนงานอู่ต่อเรือเมืองกดานส์ ยึดโรงงาน และพยายามก่อตั้งสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ เรียกว่า โซลิดานอสก์

กรณีของประเทศอินโดนีเซียในยุคเผด็จการซูฮาร์โต ซึ่งมีการสร้างสหภาพแรงงานโดยรัฐในปี 2516 เพื่อควบคุมและปราบปรามการนัดหยุดงาน ภายในสหภาพแรงงานนี้ก็ยังมีสหภาพแรงงานย่อยๆ ที่อิสระจากรัฐ และเกิดคลื่นการนัดหยุดงานเถื่อนขึ้น จนในปี 2528 รัฐต้องเปลี่ยนเป็นสภาแรงงานที่มีโครงสร้างเหมือนทหาร แต่ในช่วงปี 2533 จนถึง 2535 เกิดองค์กรแรงงานใต้ดินเป็นจำนวนมากจนสามารถเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นสามเท่า ในเวียดนาม ปี 2563 ภายใต้วิกฤติโควิด ยังมีการนัดหยุดงานทั่วไปที่ผิดกฎหมาย เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการป้องกันโควิดที่มีคุณภาพและกดดันให้โรงงานต่างๆ จ่ายค่าจ้างในช่วงลาป่วย

ในประเทศจีน ซึ่งเป็นเผด็จการทุนนิยมโดยรัฐที่มีการกดขี่และปราบปรามแรงงานอย่างหนัก ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการลุกฮือครั้งใหญ่ของคนงานฟอกซ์คอนน์และนักศึกษาในมณฑลเหอหนานเพื่อต่อต้านมาตราการโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งไม่สนใจใยดีต่อสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานและตั้งคำถามกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนหน้านี้ก็ยังมีการนัดหยุดงานเถื่อนของกรรมกรก่อสร้าง คนงานภาคบริการ คนงานแพลตฟอร์ม พนักงานขนส่ง และล่าสุด บุคลากรทางการแพทย์และนักศึกษาแพทย์ได้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าจ้างเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากรรมาชีพไม่ได้เป็นเหยื่อเสมอไป และมีพลังสูงในการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของกรรมาชีพเองที่ถูกขูดรีดอยู่ตลอดเวลาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว นักสหภาพ ฝ่ายซ้าย ผู้รักในความเป็นธรรม และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยควรปฏิเสธการมองอย่างผิวเผินดังที่กล่าวในข้างต้น เนื่องจากมันทำให้เราตกอยู่ความหดหู่ สิ้นหวัง และขาดความมั่นใจว่าคนธรรมดาจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ซึ่งขัดกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมา ซ้ำยังทำให้เรามองข้ามการจัดตั้งคนงานพื้นฐานซึ่งส่งผลให้ขาดพลังในการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com