Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

การทุจริตในรัฐทุนนิยมทำลายประชาธิปไตย

โดย พัชณีย์ คำหนัก

การทุจริตเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากนักการเมืองและนักธุรกิจจำนวนมากทั่วโลกมีส่วนร่วมในการกระทำที่ผิดกฎหมายเพื่อแสวงหากำไรและสะสมทุน ผู้เขียนต้องการชวนผู้อ่านมาวิเคราะห์ปัญหาการทุจริตในรัฐทุนนิยม คือ ชนชั้นปกครองใช้รัฐเพื่อรักษาสถานะที่เป็นอยู่ของระบบทุนนิยมไว้อย่างไร โดยจะยกสภาพปัญหา รูปแบบวิธีการทุจริต สาเหตุ และการทำลายประชาธิปไตย

นิยามการทุจริต

การทุจริต คือ การใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ อำนาจและอิทธิพลที่ตนมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องของตน ซึ่งระบบโครงสร้างบริหารรัฐมีการกำหนดตำแหน่งอำนาจหน้าที่เป็นชั้นๆ และมาจากการแต่งตั้งมากกว่าการเลือกตั้ง ยิ่งมีตำแหน่งสูงยิ่งมีโอกาสทุจริต หากไร้กลไกการตรวจสอบ

ลักษณะการกระทำการทุจริต

ปัญหาการทุจริตส่วนใหญ่เกิดมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจอยู่ในมือคนส่วนน้อยที่มีทุน มีความรู้ อำนาจทางการเมือง อำนาจในการครอบงำข้อมูลข่าวสาร ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไร้อำนาจ ยากจน ได้รับการศึกษาต่ำ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่ำ อยู่อย่างกระจัดกระจาย มีการรวมกลุ่มน้อย อีกทั้ง มีวัฒนธรรมแบบเล่นพรรคเล่นพวก ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในระบบราชการและระบบการเมือง คนมีอำนาจน้อยจำต้องพึ่งพาคนมีอำนาจกว่าให้มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับตน ใช้เส้นสายให้ได้รับบริการหรืองานที่ดี หรือข้าราชการเรียกร้องหรือรับเงินหรือสิ่งตอบแทน การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน และการเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย โดยการสร้างการขาดแคลนเทียม เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาล บริษัทติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ร่ำรวย การใช้อิทธิพลทางการเมืองหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ การใช้อำนาจของตำรวจ ทหาร และข้าราชการในทางที่ผิด (ข่มขู่ คุกคามและทำร้ายให้เกิดความเกรงกลัวในการชุมนุมประท้วงนโยบายรัฐบาลและในการเลือกตั้ง) เป็นต้น และการทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ คือ ในรัฐบาล ศาล สื่อ สถาบันการศึกษา ธุรกิจและภาคประชาสังคม ตลอดจนทุกภาคส่วนตั้งแต่ด้านสุขภาพ การศึกษา ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐาน

ล่าสุดเมื่อ 27 ธันวาคม 2565 ตำรวจ ปปป. เข้าจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คาโต๊ะทำงาน ข้อหารีดส่วย หลังจากมีผู้เสียหายร้องเรียนถึงพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา แลกกับการไม่ถูกโยกย้ายตำแหน่งในหน่วยงาน และมีการเรียกรับเงินจากหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ เป็นรายเดือน จำนวนเงินหลายแสนบาท จนนำมาสู่การตรวจสอบส่วยภายในกรมอุทยานฯ ครั้งใหญ่ และถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการทุจริตของรัฐบาล หรือกรณีเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้อมูล “ทะเบียนราษฎร-การค้า” ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้วันละ 2 หมื่นเดือนละ 6 แสนบาท ก่อให้เกิดปัญหาการนำข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ไปใช้ติดต่อหลอกลวงนักธุรกิจนสามารถดูดเงินจากบัญชีออนไลน์ได้

หรือกรณีที่ใหญ่กว่านั้นคือการทุจริตของกรมศุลกากรในอดีต จากนโยบายเปิดการค้าเสรีมากขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงขึ้นอยู่กับภาคการค้าระหว่างประเทศถึงร้อยละ 65 มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทำให้เกิดปัญหาประการหนึ่งคือ ภาคเอกชนต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อเร่งรัดการทำงาน กับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนช่วยเอกชนหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรหรือจ่ายในอัตราต่ำ

ความรุนแรงของการทุจริต

การทุจริตได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือควบคุมชีวิตประจำวันของประชาชนทุกฝีก้าว หุ้นส่วนในธุรกิจโทรคมนาคม กล้องวงจรปิด เครื่องมือแพทย์ กิจการด้านอุตสาหกรรมอาหาร การดักฟังทางโทรศัพท์อันเป็นละเมิดสิทธิ์ของประชาชนโดยตรง และมีการพัฒนาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีการใช้เงินจำนวนมากเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐของอาชญากร หรือเพื่อให้เข้าถึงประโยชน์มหาศาลจากงบประมาณแผ่นดิน และยากต่อการตรวจสอบ ข้อสำคัญมีแนวโน้มไปสู่การก่ออาชญากรรมระดับโลก หรืออาชญากรรมข้ามชาติ ที่จะนำไปสู่การทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สวัสดิภาพและความยุติธรรมทางสังคม ยกตัวอย่าง รูปแบบการทุจริตที่ส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตย คือ การทุจริตในระบบศาลตุลาการ ทำลายหลักการพื้นฐานของความเสมอภาคตามกฎหมาย และลิดรอนสิทธิของประชาชนในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ไม่ให้ประกันตัว พิจารณาคดีปิดลับ หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่เงินและอิทธิพลอาจตัดสินว่าคดีใดจะได้รับความสำคัญหรือยกฟ้อง บั่นทอนความยุติธรรมและประชาธิปไตย

การทุจริตมีสาเหตุมาจากธรรมชาติของระบบทุนนิยม

การทุจริตเกิดขึ้นและเติบโตภายใต้ระบบทุนนิยม ที่เปลี่ยนเงินให้เป็นพระเจ้าที่แท้จริง ทุกสิ่งได้รับอนุญาตและเป็นที่ชื่นชมหากสิ่งนั้นก่อให้เกิดการสะสมความมั่งคั่งร่ำรวย การขโมยมูลค่าจากการทำงานของแรงงานว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม การเก็งกำไร การที่สินค้าถูกผลิตขึ้นในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเพื่อมุ่งเอากำไร ไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น หากเจ้าของทุนก่อตั้งร้านขนมปัง ร้านขนมปังนั้นอาจปิดตัวลงหากทำกำไรไม่ได้ แม้ว่าจะมีผู้คนที่ต้องการขนมปังเพื่อความอยู่รอดก็ตาม

ปัญหาการกดขี่ขูดรีดและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม รัฐเองก็ล้มเหลวที่จะเข้ามาแทรกแซงนายทุน สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกกดขี่ขูดรีด รับใช้ประชาชน คาร์ล มาร์กซ์ ศึกษาลักษณะธรรมชาติของรัฐทุนนิยม เขามองว่า รัฐทุนนิยมก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการครอบงำคนทำงานและผู้ถูกกดขี่โดยใช้กฎหมาย ศาล ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้ง และทหาร นายทุนกลุ่มต่างๆ ต่อสู้กันเองเพื่อควบคุมกลไกต่างๆ ของรัฐด้วย และ มาร์กซ์อธิบายว่า “รัฐ….เป็นพื้นที่ในการปลุกปั่นให้มีการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันที่อื้อฉาวที่สุด รวมทั้งเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ ของชนชั้นนายทุน และเป็นเวทีไว้เพื่อกระทำสิ่งที่เสื่อมทราม”

เออเนส แมนเดล นักมาร์กซิสต์ชาวเบลเยียมได้ศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของการคอร์รัปชั่นของรัฐอย่างละเอียด เขาสรุปว่า “ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทุนละเมิดกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ” จนพวกเราสามารถสังเกตได้ คือ บริษัทรู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำผิด แต่ก็คาดการณ์ว่า ค่าปรับที่จะถูกเรียกเก็บ จะเป็นจำนวนเพียงเศษเสี้ยวของกำไรที่ได้รับจากการละเมิดกฎหมายนั้น และเรายังพบเห็นด้วยว่า รัฐเพิกเฉยต่อกรณีการหลีกเลี่ยงภาษี หลบเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของบริษัท การปิดบริษัท เลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ที่อาจมีการจ่ายใต้โต๊ะติดสินบนหรือได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กระทรวงก็เป็นได้

นอกจากนี้ พรรคการเมืองกระแสหลักไม่มีความคิดทำลายกลไกรัฐที่เอื้อชนชั้นนายทุน กลไกที่ควบคุมคนงาน นักการเมืองต่างต้องการเข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศเพื่อใช้อำนาจปกครอง แต่กลับไม่สามารถใช้อำนาจการปกครองขจัดลักษณะที่น่ารังเกียจที่สุดประการหนึ่งของรัฐทุนนิยมได้ คือ การทุจริต ที่จะต้องเข้าไปจัดการกับระบบราชการ ที่เพาะสร้างความรุนแรงเชิงระบบ (bureaucratic violence) จากการทำงานที่ล่าช้า กฎระเบียบล้าหลังและมากเกินไปทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม มีตำแหน่งบังคับบัญชาแนวตั้ง ปลูกฝังอุดมการณ์เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาสูงสุด ไม่มีการตรวจสอบจากลูกจ้างรัฐระดับล่าง และไม่อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน

ชนชั้นปกครองเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง และกลุ่มทุนพวกพ้องเพื่อดำรงรักษาอำนาจของคนส่วนน้อยนี้ไว้ ด้วยการทุจริตมากกว่าทำตามกฎหมาย ดังนั้น จุดจบของพวกทุจริตที่เห็นกันคือ ถูกประชาชนขับไล่ และให้ยุบสภาฯ ในหลายประเทศ หรือมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ ระบบยุติธรรม ผู้บริหารในระบบราชการต้องมาจากการเลือกตั้ง กระจายอำนาจแก่ประชาชน เก็บภาษีจากคนรวย ให้มีการรวมกลุ่มของแรงงานอย่างเสรี และสามารถวิจารณ์ประมุขของประเทศได้เพื่อสร้างความโปร่งใส ไปจนถึงการเรียกร้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต เพื่อทำลายวัฒนธรรมลอยนวล กระนั้น หากจะแก้ปัญหาที่ต้นตอ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระบบรัฐทุนนิยม ให้ชนชั้นแรงงานมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจควบคุมตรวจสอบตัวแทนในสภาฯ เจ้าหน้าที่รัฐและนายทุน โดยอาจออกแบบสภาคนงานควบคุมการบริหารประเทศ การบริหารในระบบราชการ ผู้บริหารระดับสูงมาจากการเลือกตั้ง คนงานร่วมเป็นเจ้าของกิจการ

แหล่งอ้างอิง

  1. Juan Resendiz. (February 2018). Corruption: Part and parcel of the capitalist system. ในเว็บไซต์ Freedom Socialist Party.
  2. นภธร ศิวารัตน์ และ รศ.ดร.ภักดี โพธิ์สิงห์. ทิศทางการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย. ใน วารสารสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน กรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2561.

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com