โดย กองบรรณาธิการ
การต่อสู้กับเผด็จการที่นำโดยคนหนุ่มสาวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประสบกับความพ่ายแพ้และแกนนำถูกรัฐปราบปรามจับกุมคุมขังดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก กฎหมายหมิ่นฯ ยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายเผด็จการที่ใช้เล่นงานฝ่ายประชาธิปไตยคนที่รักความเป็นธรรมต่อเนื่อง
การพ่ายแพ้ดังกล่าวไม่ได้ทำลายกระแสการต่อสู้ไปทั้งหมด มีความพยายามชักชวนคนออกมาสู้ผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น ยืนหยุดขัง หรือการชุมนุมย่อยๆ ตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงความพยายามต่อสู้แบบปัจเจกด้วยการอดอาหารของนักโทษการเมือง ความพยายามดังกล่าวแสดงออกถึงจิตวิญญาณความรักในเสรีภาพ ความกล้าหาญและเสียสละ แต่การต่อสู้แบบปัจเจกที่เน้นสัญลักษณ์มีปัญหาที่ฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องถกเถียงกันถึงประสิทธิภาพในการต่อสู้ที่หวังผลแพ้ชนะด้วย
การต่อสู้แบบปัจเจกมีจุดอ่อนเป็นการเอาตัวเองมาแทนมวลชนและในที่สุดจะล้มเหลว ลักษณะเดียวกับมหาตมะ คานธี ผู้มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ อดอาหารแทนการปลุกพลังมวลชน คิดว่าความชอบธรรมมีพลัง แต่หันหลังให้พลังแท้ของแรงงานกรรมาชีพที่จะไล่เจ้าอาณานิคมหรือล้มเผด็จการได้ ปัญหาสำคัญของแนวทางคานธี เขามักคัดค้านการต่อสู้ของมวลชน การนัดหยุดงาน และการกบฏของทหารต่ออังกฤษ ดังนั้นเวลามีการต่อสู้ของมวลชน คานธีจะเรียกร้องให้มวลชนสงบนิ่ง กลับบ้านเพื่อให้ตัวเขาเองเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ต่อไปด้วยการอดอาหาร
ทว่าคานธีไม่ได้ปลดแอกอินเดียคนเดียว มีการต่อสู้ของมวลชนในอินเดียจำนวนมากทั้งในและนอกพรรคคองเกรส ก่อนที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษมักจะเป็นการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมและเสรีภาพ เช่นที่เกิดขึ้นในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 มีการลุกฮือครั้งใหญ่สองครั้งเพื่อต่อต้านบริติชราช และในปี 1927 ปีต่อมามีการนัดหยุดงานทั่วอินเดีย 129 ครั้ง จากนั้นระหว่างปี 1928-1929 เพียงปีเดียวมีการนัดหยุดงาน 209 ครั้ง รวมทั้งการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 26 เมษายน – 6 ตุลาคม 1928 โดยพรรคกรรมกรและชาวนา อีกทั้ง มีการต่อสู้ที่สามัคคีคนยากจนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดูหรือศาสนาอื่น
แต่การสู้แบบปัจเจกจะตัดขาดจากมวลชนซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลงคิดว่าการกระทำที่สร้างข่าวจะสามารถปลุกกระแสมวลชนได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำงานจัดตั้งทำงานร่วมกับมวลชนอื่นๆ แต่ถ้าเราเห็นใจและต้องการสมานฉันท์กับผู้ที่สู้แบบปัจเจก เราต้องกลับมาพิจารณารื้อฟื้นการสร้างขบวนการมวลชนที่มีพลัง เช่น ขบวนการแรงงาน ขบวนการคนหนุ่มสาว
แต่แค่ชื่นชมการต่อสู้ จิตใจกล้าหาญของนักสู้ปัจเจก ไม่เพียงพอ ต้องหาทางฟื้นขบวนการมวลชน และต้องเดินออกห่างจากการเน้นการต่อสู้แบบปัจเจกชน แม้บางครั้งอาจจะปลุกระดมคนได้บ้างชั่วคราว แต่พอกระแสลงจะไม่เหลือองค์กรที่สามารถรักษาระดับการต่อสู้ในระยะยาวได้ต่อไป นั่นคือสาเหตุที่เราชาวสังคมนิยมเน้นการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้าย พร้อมกับการสร้างมวลชนระบบสมาชิกขึ้นมา
การต่อสู้ของขบวนการคนหนุ่มสาวที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างการปลุกระดมมวลชนเป็นแสน มันเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาพสังคมการเมือง แต่การต่อสู้ครั้งนั้นมีบทเรียนสำคัญที่สอนเรา มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้สนใจการจัดตั้งพลังกรรมาชีพ เน้นเพียงความชอบธรรม เน้นสัญลักษณ์ เน้นการสร้างเครือข่ายหลวมๆ และชูตัวบุคคลที่เป็นแกนนำ ทั้งๆ ที่ประกาศว่าไร้ผู้นำ
เราต้องลดความโรแมนติกในการต่อสู้แบบปัจเจกลง และเลิกออกมาแสดง “ความเคารพ” เฉยๆ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมของนักต่อสู้กล้าหาญที่เลือกแนวทางปัจเจกตัดขาดจากมวลชน เพราะมองไม่ออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6