โดย รุเธียร
“ไม่มีใครเป็นเจ้าของป่าได้ นอกจากพระเจ้าแผ่นดิน”
“มี กูนี่แหละ แล้วกูก็จะไม่ยอมให้ใครเข้ามาด้วย”
บทสนทนาระหว่างจ๋าและบอย (ผีเด็กชายในป่า) จากเรื่อง “ป่า The Forest” ภาพยนตร์นอกกระแสโดยผู้กำกับชาวอังกฤษ Paul Spurrier ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวบนฉากหลังของชนบทภาคอีสานผ่านเด็กหญิงที่ถูกเพื่อนร่วมชั้นรังแกและกีดกันออกไปจากสังคม แต่ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปเมื่อพบเจอกับเด็กชายลึกลับในป่าที่ไม่มีใครกล้าย่างกรายเข้าไป สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การถ่ายทอดคติชนวิทยาว่าด้วยเรื่องผี ๆ ออกมาเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของการต่อสู้ทางชนชั้นที่ยังคุกรุ่นอยู่เสมอและพลวัตของโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เคยหยุดนิ่งในพื้นที่ชนบทที่ไม่ใช่เมืองหลวง ผ่านการประกาศตัวในฐานะเจ้าของป่าของผีเจ้าถิ่น ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินจากรัฐสยาม
ผีคือวิญญาณของมนุษย์หรือสัตว์ที่ตายจากไป แต่ความเป็นผีเองก็มีนัยสำคัญที่มากกว่านั้นในแง่สังคมวิทยาในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง วัฒนธรรมเป็นภาพสะท้อนของมวลมนุษย์ซึ่งใช้แรงงาน เพื่อสร้างและผลิตซ้ำการดำรงอยู่ของพวกเขาภายในธรรมชาติ ด้วยการอาศัยธรรมชาติ และสุดท้ายก็เปลี่ยนแปลงธรรมชาติอย่างมีจิตสำนึก ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ก็ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองบนพื้นฐานของรูปแบบครอบครัวและพัฒนาการของพลังการผลิต วัฒนธรรมของมนุษย์ก็เป็นผลผลิตของการต่อสู้ดังกล่าว เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจบนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเมืองอยู่เสมอโดยแสดงออกผ่านภาษาของพิธีกรรม และมีพลวัตผ่านยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านการช่วงชิงความหมายและผลิตสร้างความหมายใหม่ตลอดเวลา โลกของสิ่งที่เรียกว่าผีเองก็เช่นกัน
ทำไมถึงต้องมีผีในสังคมชนชั้น ผีคือการสร้างตัวตนของผู้คนในสังคมในฐานะที่เป็นทั้งรูปเคารพ (Totem) และข้อห้ามทางสังคม (Taboo) ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเพศเช่นการผิดผี ก็อาจสัมพันธ์กับรูปแบบของครอบครัวที่แปรเปลี่ยนจากครอบครัวแบบสังฆญาติมาสู่ครอบครัวเดี่ยวแบบผัวเดียวเมียเดียว ผียังอาจมีความหมายในแง่ของการปกปักรักษากรรมสิทธิ์ส่วนรวมบนที่ดินผ่านภาษาของพิธีกรรมบวชป่า หรืออาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่มักถูกมองว่าเป็นการล่วงละเมิดผีป่า ความเชื่อดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนของกฎเกณฑ์ที่ชุมชนมีต่อป่า พวกเขาไม่ใช่เจ้าของป่า แต่เป็นเพียงผู้ใช้และผู้ดูแลร่วมกับชุมชนเท่านั้น (Santasombat 1999) ผีมีทั้งผีของชนชั้นบนและผีในสังคมของชนชั้นล่าง และผีเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันในนามของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติเสมอไป ในสังคมล้านนา พิธีเซ่นไหว้เสื้อเมืองจากรัฐสยามซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหนือกว่าต่อดินแดนที่อยู่ใต้ปกครอง ก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากเท่ากับการเซ่นไหว้ผีปู่ย่าซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของคนในท้องที่ (อานันท์ 2555) ผีเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งแปลกปลอมจากต่างถิ่นเท่านั้น ผีจึงเป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งทางชนชั้นที่ในบางบริบทอาจมีอำนาจครอบงำ ขณะที่อีกบริบทก็ต่อต้านการครอบงำ ขึ้นอยู่กับว่าผู้กระทำทางสังคมคือใคร
คำถามที่ถูกต้องจึงอาจจะไม่ใช่ “ผีมีจริงไหม” แต่ ผีมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนของโครงสร้างทางสังคม” ต่างหาก
ที่มาภาพ : “ผีป่า” อาจารย์ยอด. 6 ต.ค. 2017. จากเว็บไซต์ Shock Mthai
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6