โดย สหายกลั่น
นอกจากกระแสการจับโป๊ะนักวิชาการแล้ว และมีการแฉโดยนักวิชาการ “ใหญ่ๆ” ออกมาให้เรารับทราบกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นมานาน และมันไม่ใช่เรื่องจริยธรรมอย่างเดียว ที่ผ่านมาสถานศึกษาถูกแปรรูปให้เป็นแบบเอกชน จึงขาดงบสนับสนุนจากภาครัฐ มีเพียงมหาวิทยาลัยเพียงส่วนน้อยที่ได้งบประมาณอันน้อยนิดและมีการเปลี่ยนการบริหารให้เป็นแบบเอกชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเสรีนิยมใหม่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ.2540
การไต่ลำดับความเป็นเลิศของสถานศึกษา จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการดึงเงินอุดหนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ การวางเป้าผลิตบทความ บวกกับความเปราะบางของอาชีพอาจารย์ จากการถูกตัดสวัสดิการและการจ้างสัญญาชั่วคราว ทำให้เกิดความกดดันในการ “โกง” การทำวิจัยดังที่ทราบกันมาแล้ว ทั้งเพื่อความอยู่รอดและความยั่งยืนในอาชีพ หากผลิตบทความไม่ได้ตามเป้า ก็มีสิทธิไม่ได้ต่อสัญญาจ้าง
แน่นอนว่าการแสดงความเป็นเลิศแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ สัมพันธ์กับความ “ขายได้” ในตลาด นั่นคือการวิจัยต่าง ๆ ต้องสามารถเสริมอัตรากำไรแก่บริษัทที่ร่วมทุนวิจัยด้วย บวกกับการวางเป้าการผลิตงานวิจัยแล้ว ทำให้คุณภาพและความหลากหลายของงานวิชาการถูกหั่นเสียไม่เหลือชิ้นดี
มีกรณีของ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ถูกจัดอันดับดีเยี่ยมเลยทีเดียว เป็นหุ้นส่วนวิจัยกับบริษัทค้าอาวุธยักษ์ใหญ่ เนื่องจากการวิจัยต่างๆ เป็นเรื่องของเทคโนโลยีวิศวกรรม จึงผลิตงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทได้ แถมยังจะได้รับเงินอุดหนุนมหาศาลอีกด้วย (ปีเตอร์ เฟลมมิ่ง, 2564)
ความ “ขายได้” ในตลาดนี้ ยังนำมาซึ่งวิกฤตของสายศิลป์ มนุษย์ สังคม ทั้งนี้ผู้เขียนเคยเข้าร่วมเสวนาเมื่อ 2 ปีที่แล้วเกี่ยวกับความอยู่รอดของสายมนุษย์-สังคมในปัจจุบัน ซึ่งจะได้ยินคำว่า ศาสตร์ดังกล่าวไม่ค่อยเป็น “ประโยชน์” ต่อผู้ประกอบการ นั่นทำให้งานวิจัยเกี่ยวกับการค้นคว้าปัญหาสังคม การประดับความรู้ หรือสุทนรียะถูกมองข้ามไป
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากความอ่อนแอของฝ่ายซ้ายหลังความพ่ายแพ้ของแนวสตาลิน-เหมา และการขาดสหภาพแรงงานสถานศึกษา ในไทยเอง ก่อนหน้านี้ นักวิชาการมีจิตสำนึกที่ไม่สัมพันธ์กับอาชีพ ทั้ง ๆ ที่เป็นลูกจ้าง คิดว่าตนมีสถานะสูงกว่าลูกจ้างอื่น ๆ ในสถานศึกษาและนึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับคณะผู้บริหาร
จนตอนนี้ท่ามกลางวิกฤติ นอกจากจะละเมิดจริยธรรมนักวิชาการไปมากแล้ว ยังเพิ่งรู้ตัวและโอดครวญว่าตอนนี้ถูกใช้ “เยี่ยงวัวเยี่ยงควาย” จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะสร้างสหภาพแรงงานสถานศึกษา
2 ปีที่ผ่านมา ในอังกฤษ แคนาดา สหรัฐฯ และฝรั่งเศส มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานการศึกษาที่รวบรวมแรงงานในสถานศึกษาทั้งหมด ในการผลักดันการยกระดับสภาพการจ้างงาน ทั้งนี้ ยังยกประเด็นของคุณภาพการศึกษาด้วย หมายความว่า สภาพการจ้างงานย่อมสัมพันธ์กับคุณภาพการศึกษาที่ผู้เรียนจะได้รับ ในการประท้วงที่ซูดานและศรีลงกาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 สหภาพแรงงานครูยังเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ออกมานัดหยุดงานต่อต้านเผด็จการอีกด้วย
ที่มาภาพ : Barton Swaim. (May 1, 2019). ‘The Adjunct Underclass’ Review: Teachable Moments. ใน The Wall Street Journal.
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6