โดย สหายไผ่แดง
จากกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ สื่อกระแสหลักหลายแหล่งมักจะนำเสนอให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร บรรดากูรูทางการเมืองทั้งหลายต่างวิเคราะห์เกาเหลาระหว่างพลเอกประยุทธ์-ประวิตรกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ นักวิเคราะห์เหล่านี้บางส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านี้ราวกับว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพลวัตทางการเมืองขนานใหญ่
แต่การวิเคราะห์เช่นนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์แค่เปลือกนอกและไม่ได้เข้าใจองค์รวมของปัญหาทั้งหมด แท้จริงแล้วเราไม่สามารถหวังพึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากชนชั้นปกครองได้ และลักษณะความขัดแย้งของชนชั้นปกครองก็มักพบเห็นได้ในการเมืองหลายๆ ประเทศ ยกตัวอย่างเช่นการเมืองแบบอเมริกัน ยูจีน วิคเตอร์ เด็บส์ ก็ได้เคยวิเคราะห์ลักษณะของความขัดแย้งระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพลับลิกัน ว่า “ พรรครีพลับลิกันและเดโมแครต หรือถ้าจะพูดให้ถูกพรรครีพลับลิกัน-เดโมแครตเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน พวกเขาคือค่ายทางการเมืองของระบบทุนนิยม และความแตกต่างกันของพวกเขาคือการขูดรีดปล้นชิงแต่ไม่ใช่ในแง่หลักการ” กล่าวคือพวกเขามีจุดยืนและผลประโยชน์ทางชนชั้นเป็นสิ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ขาด
บางครั้งชนชั้นปกครองก็ทำราวกับว่าพวกเขาขัดแย้งกัน เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมืองโดยเฉพาะช่วงที่มีกระแสการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนอย่างเข้มข้น ตัวอย่างคือ ในช่วงสงครามเย็นขบวนกรรมาชีพไทยมีการสะสมการต่อสู้ทางชนชั้นมาตลอดและพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2516 รูปธรรมหนึ่งที่ชัดเจนคือ ในปีนั้นมีสถิติการประท้วงนัดหยุดงานของขบวนการแรงงานไทยสูงถึง 501 ครั้ง ประกอบกระแสการลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่สั่นคลอนสถานะของชนชั้นปกครอง พวกเขาพยายามสร้างภาพว่ามีความขัดแย้งกันเองอยู่แต่ก่อนแล้วระหว่างชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมกับทหาร พวกอนุรักษ์นิยมมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของพรรคพวกของตนให้ดูเหมือนกับว่าอยู่ข้างประชาชน อย่างที่เราได้เห็นท่าทีของของชนชั้นปกครองในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากเผด็จการถนอม กิตติขจรได้หลบหนีออกนอกประเทศ และมีการแต่งตั้งนายกฯ ขึ้นมาให้ดูเหมือนว่าจะมาเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงละครตบตาเพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในปี 2519 เผด็จการถนอมก็กลับมาในฐานะนักบวชราวกับเป็นผู้ผ่องใสไร้มลทิน พร้อมทั้งยังเกิดการรัฐประหารโดยพวกทหารในวันที่ 6 ตุลาคมในปีเดียวกัน
เพราะฉะนั้น เราไม่ควรหลงกลไปกับความขัดแย้งจอมปลอมของชนชั้นปกครอง พวกเขาทะเลาะเพียงเพราะแบ่งเค้กทั้งก้อนที่ได้ปล้นชิงกรรมาชีพมาไม่ลงตัว แต่เมื่อใดชนใดที่ชนชั้นกรรมาชีพพร้อมที่จะทวงเค้กก้อนนั้นคืน พวกเขาก็จับมือกันเพื่อตอบโต้ต่อสู้กับกรรมาชีพ และเราไม่สามารถไว้วางใจชนชั้นปกครองได้เลยในการที่เราจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะหากไว้ใจคนเหล่านี้ สิ่งที่เราจะได้ คงไม่มีอะไรมากไปกว่าเศษเค้ก มีเพียงแค่กรรมาชีพเท่านั้นที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ จงเชื่อมั่นว่า คนธรรมดาจะสามารถขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ได้ เพราะไม่มีสิ่งใดที่เราต้องเสียนอกจากโซ่ตรวนที่ล่ามขาเรา
แหล่งอ้างอิง
รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ รวม ‘พลัง’ หรือรวมกัน ‘พัง’. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 – 8 ธันวาคม 2565
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6