Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อคนชั้นล่าง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และยิ่งกว่านั้นนักต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าเขาสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่ดำรงอยู่ เราจึงต้องให้ความเคารพกับเขาในฐานะฝ่ายซ้ายรุ่นพี่ อย่างไรก็ตาม พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์ เพราะเป็นพรรคแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา จะขออธิบายรายละเอียด

พคท. ต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นในยุคที่สตาลินเคยเรียกว่า “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องไม่ร่วมมือกับใครที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดของสตาลินที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค ในจีน หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของ พคท. ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฎรว่าเป็น “คณะราษฎรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ดูหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ) คำวิจารณ์ของ พคท. ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ มีการยกเลิกนโยบายซ้ายสุดขั้วของสตาลิน เพื่อหันขวาไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับการที่สตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน แนวนี้เคยมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ สองปีก่อนที่จะหันซ้ายสู่“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” คือหันขวา หันซ้าย และกลับมาหันขวาอีกครั้ง

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและทรอตสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้และ คาร์ล มาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นการมองว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ที่ พคท. ไม่สนใจแปลเป็นไทย

พคท. ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลย เราต้องรอจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฎีมาร์คซิสต์ พวกแนว “สตาลิน-เหมา” ทั่วโลกใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรค กลับหัวหลับหางกับความหมายเดิมทั้งสิ้น

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสต์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้ในที่สุดการแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้มีตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์

สตาลินทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ 1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินหันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก การอ่านและโดยเฉพาะการเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะกรรมาชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเหมาอธิบายเพิ่มว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” แต่มันเป็นเผด็จการแท้ๆ ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายชาตินิยมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย

วันลา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฎหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี

กำเนิดลัทธิสตาลิน

ลัทธิสตาลินมีต้นกำเนิดจากความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนประมาณปี ค.ศ. 1928 ก่อนหน้านั้นผู้นำการปฏิวัติรัสเซียในยุคแรกๆ สมัยปี ค.ศ. 1917 เช่น เลนิน กับ ทรอตสกี ทราบดีว่าการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซีย ต้องอาศัยการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะนำพลังการผลิตที่ก้าวหน้ากว่ามาสร้างสังคมนิยมในรัสเซีย การสร้างสังคมนิยมในความเห็นของนักมาร์คซิสต์ จึงไม่ใช่การสร้างระบบใหม่ภายในขอบเขตของชาติเดียวในระยะยาว แต่เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกกับระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ ซึ่งแปลว่าต้องใช้แนวสากลนิยมแทนชาตินิยม

ความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมันในยุคเลนิน เป็นเหตุให้สังคมนิยมในรัสเซียเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1921-1922 โดยที่ เลนิน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “สงครามโลกและสงครามกลางเมืองรวมทั้งความยากจนต่างๆนาๆ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเราหายไป” และเลนินยังยอมรับอีกว่า “รัฐของเราเป็นรัฐชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแปรรูปเพี้ยนไปเป็นรัฐราชการ” สรุปแล้วถ้าพลังกรรมาชีพอ่อนแอลง จะไม่สามารถสร้างสังคมนิยมได้ ในขณะที่จำนวนกรรมาชีพในรัสเซียลดลงถึง 43% อิทธิพลของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การนำของ สตาลิน ก็เพิ่มขึ้นมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่สุดของสตาลินคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1924 เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่ใช้พัฒนารัสเซียของสตาลินหันหลังให้การต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศของสตาลินก็เปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะพยายามปลุกระดมให้กรรมาชีพในประเทศอื่นปฏิวัติ สตาลินกลับหันมาเน้นนโยบายการทูตแบบกระแสหลักเดิมที่แสวงหาแนวร่วมและมิตรกับรัสเซียโดยไม่คำนึงถึงประเด็นชนชั้นเลย มีการเสนอว่ากรรมาชีพและชาวนาควรสร้างแนวร่วมสามัคคีกับนายทุนเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบขุนนางหรือศักดินา ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์จะเห็นว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

กำเนิดของลัทธิเหมา

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนยุคสตาลินเคยเล็งเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นหลักในการปฏิวัติ โดยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคที่เคยทำงานในหมู่กรรมกร สมัยนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดเป็นกรรมกรในเมืองสำคัญๆ ที่ติดทะเลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สตาลินขึ้นมามีบทบาทในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล มีการเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรสร้างแนวร่วมถาวรกับขบวนการกู้ชาติของนายทุนจีนที่มีชื่อว่าพรรคก๊กมินตั๋ง โดยมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก๊กมินตั๋ง และยกรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดให้ผู้นำก๊กมินตั๋ง

แต่หลักจากที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสลายตัวเข้าไปในพรรคก๊กมินตั๋ง ปรากฏว่าผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะเจียงไคเชค ลงมือจัดการกวาดล้างปราบปรามไล่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ จนเกือบไม่เหลือใคร เหมาเจ๋อตุงซึ่งไม่เคยคัดค้านแนวของสตาลินและใช้นโยบายแบบสตาลินในยุคหลังๆ ตลอด จึงต้องหนีไปทำการสู้รบในชนบท หลังจากนั้นเหมาเจ๋อตุง จึงสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานในชนบทที่เกิดขึ้นไปแล้ว กล่าวคือใช้การอ้างว่าการสู้รบในชนบทโดยใช้ชาวนาเป็นหลัก เหมาะกับสภาพสังคมจีนที่มีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับข้ออ้างอันนี้ของเหมาก็คือ ที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1917 สังคมมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เลนินและพรรคบอลเชวิคก็ยังคงเน้นความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวมาร์คซิสต์ตลอด

แนวการต่อสู้แบบ “ชนบทล้อมเมือง” ของเหมาจึงถูกนำมาใช้ในไทย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยเกิดขึ้นในเมืองเสมอ และในข้อเขียนต่างๆ ของเหมาเจ๋อตุง เราจะพบอิทธิพลของสายความคิดสตาลินตลอด เช่นในเรื่องการเน้นลัทธิชาตินิยมเหนือความขัดแย้งทางชนชั้น

เสื้อแดงเสื้อเหลือง

แนวความคิดสตาลินเหมาเป็นรากกำเนิดของการที่ “สหายเก่า” จาก พคท. แตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ประเด็นหลักคือความคิดที่เสนอว่าทำแนวร่วมกับใครก็ได้ และการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมต้องรอไปถึงชาติหน้า พวกที่เป็นเสื้อเหลืองหลอกตัวเองว่าการทำแนวร่วมกับพวกเชียร์เจ้าและทหารเป็นนโยบายรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการนายทุนอย่างทักษิณ พวกที่เป็นเสื้อแดงก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับนายทุน “ชาติ” อย่างทักษิณ เหมือนที่เคยทำแนวร่วมกับสฤษดิ์

มาร์คซิสต์ปัจจุบัน

พวกเราใน “สังคมนิยมแรงงาน” จะเคารพความพยายามและความเสียสละของสหายเก่าในสมัยที่ พคท. ยังอยู่ แต่เราจะไม่มีวันปกป้องแนวคิด สตาลิน-เหมา ของ พคท. เราจะขยันในการรื้อฟื้นแนวมาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้น และสร้างพรรคปฏิวัติ โดยอาศัยองค์ความรู้ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอตสกกี้ โรซา ลักแซมเบอร์ค กับ กรัมชี่


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com