Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

การต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุดของกรรมาชีพ

โดย หม่อมถนัดซ้าย

ในทุกๆ วันกรรมาชีพ ลูกจ้างต้องต่อสู้ต้องแข่งขันกับตัวเอง แข่งขันกันในที่ทำงาน ซึ่งเป็นธรรมชาติของการทำงานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

ในแต่ละวันเราต้องต่อสู้ตั้งแต่ตื่นนอน แข่งกับเวลา สู้กับปัญหาต่างๆ แต่ละคนก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน ซึ่งในการทำงานเราก็ต่างคนต่างทำ ไม่ว่าจะหัวหน้า ลูกน้อง แทบไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น

ในมุมมองของนายจ้าง เราก็คือคนงาน และวันไหนเราไม่สามารถทำงานได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เกิดอุบัติเหตุ พิการทำให้ทำงานไม่ได้ ก็ต้องจบด้วยการเลิกจ้าง โดยที่่รัฐไม่สามารถคุ้มครองการทำงานให้แก่เราได้ และไม่มีใครมาสนับสนุน ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติ บางคนทำงานมาทั้งชีวิต ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราจะรับมือได้ยากกว่าพวกนายทุนเพราะปัจจัยด้านการเงิน

หลายครั้งลูกจ้างออกมาเรียกร้อง ส่วนมากก็เรียกร้องสิทธิ เรื่องปากท้อง หรือความไม่เป็นธรรมต่างๆ จนไปถึงเรียกร้องทางนโยบายการเมือง ลงถนนเรียกร้องการปฎิรูปโครงสร้างรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แล้วก็ส่งต่อให้นักการเมืองที่มักมีแนวคิดทางการเมืองแนวทุนนิยมเสรีนิยม ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่เท่าเดิม และเรายังต้องสู้ต่อไป เรียนรู้ข้อผิดพลาด และปลุกจิตสำนึกทางชนชั้น ประยุกต์ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมวัฒนธรรมขณะนั้น

ผมเคยเห็นประโยคหนึ่งของอันโตนีโอ กรัมชี นักสังคมนิยมปฏิวัติชาวอิตาลี กล่าวว่า กรรมาชีพเราต้องมีปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพเอง ไม่พึ่งปัญญาชนจากชนชั้นนำหรือแยกตัวจากแรงงาน ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่มีบทบาททางความคิดอย่างที่เป็นอยู่ แต่คือมนุษย์ทุกคนที่นอกจากจะมีอาชีพของตัวเองแล้ว ยังทำกิจกรรมทางปัญญาอื่น เช่น งานศิลปะ กิจกรรมด้านวัฒนธรรมที่สร้างทัศนะต่อโลก สะท้อนความคิดใหม่ๆ ออกมา และวิจารณ์โลกเก่าระบบที่เป็นอยู่ เพราะไม่ว่าอาชีพใดก็พัฒนากิจกรรมทางปัญญา วัฒนธรรมของตนเองได้ เช่น คนทำงานบริษัทสามารถอ่าน เขียน พูดปราศรัย ทำเพลง ออกแบบงานศิลปะ และรวมกลุ่มจัดตั้งกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ/เพศในชีวิตประจำวันในชุมชนของตัวเอง ตั้งคำถามกับระบบที่กดขี่และเสนอทางออกและวิธีคิดใหม่ร่วมกัน เพราะการจะเปลี่ยนแปลงสังคมต้องกระทำโดยมวลชนที่มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมอย่างเป็นประชาธิปไตย คือ คิด ตัดสินใจ และกระทำแบบรวมหมู่

เราไม่อาจมอบหมายภารกิจเปลี่ยนแปลงสังคมไว้ที่ผู้นำเพียงไม่กี่คนในพรรค ฉะนั้น มวลชนที่มีจิตสำนึกจึงควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มองค์กรของตนเองที่ไม่ตัดขาดกับชุมชน วัฒนธรรมหรืองานที่ทำอยู่ เช่น สภาคนงาน กลุ่มเพื่อนบ้าน กลุ่มลงแขก และยกระดับหรือต่อยอดการต่อสู้จากการต่อสู้แบบดั้งเดิม เช่น ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือรวมกลุ่มยึดโยงและต่อสู้ มาเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น การต่อต้านแบบปัจเจกเป็นไปเองในชีวิตประจำวันเป็นการต่อสู้แบบรวมหมู่จัดตั้งเป็นองค์กร เป็นต้น

ดูเหมือนพวกเรากรรมาชีพจะยังต้องต่อสู้อย่างไม่สิ้นสุดจนกว่าระบบเดิมจะเปลี่ยนแปลง การต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตการทำงานแต่ละวัน หากพ่ายแพ้ก็ให้บทเรียนแก่เรา หากชนะก็เสริมกำลังใจและก้าวต่อไปให้ได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่กว่าคือเปลี่ยนอุดมการณ์ทุนนิยมเผด็จการในสังคมให้เป็นอุดมการณ์สังคมนิยมของชนชั้นแรงงาน เราจึงควรมาร่วมกันปลูกเมล็ดพันธุ์สังคมนิยมให้เติบโต โดยเริ่มจากการต่อสู้ที่เป็นไปได้ จากความไม่พอใจกับระบบอำนาจ แล้วสร้างปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ รวมกลุ่มทำกิจกรรมเชิงอุดมการณ์ความคิด ถกเถียงให้เกิดปัญญา เป็นมวลชนที่มีจิตสำนึกที่แบกภารกิจร่วมกันคือเปลี่ยนแปลงสังคมที่กดขี่เรา


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com