Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ชำแหละการยืดอายุเกษียณในยุโรป: ต้องทำงานนานขึ้นเพื่อรักษาระบบจริงหรือ

โดย แพรพลอย

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 หลายสำนักข่าวทั่วโลก เช่น บีบีซี รายงานข่าวว่า มีคนกลุ่มหนึ่งร่วมลงขันบริจาคเงินจำนวน 108,682 ดอลลาร์สหรัฐให้กับนายวอร์เรน มาเรียน อดีตทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน ที่ปัจจุบันทำงานเป็นแคชเชียร์ประจำห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ทวัย 82 ปี เพื่อให้นายมาเรียนได้หยุดทำงานและใช้ชีวิตวัยเกษียณหลังมีคนทำวีดีโอขอรับเงินบริจาคบนติ๊กต๊อก (TikTok) และในปี 2015 สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ของอเมริกาก็เคยรายงานว่า วอลมาร์ทจัดงานฉลองวันเกิดให้พนักงานคนหนึ่งที่มีอายุครบ 103 ปี นับว่าเป็นพนักงานที่อายุมากแก่ที่สุด ณ ขณะนั้น แม้แต่ในยุโรประยะเวลาการทำงานก็เริ่มนานขึ้น เช่น เดนมาร์กที่ปัจจุบันอายุเกษียณอยู่ที่ 67 ปี และมีแผนจะเพิ่มเป็น 69 ปีในปี 2035 หรือฟินแลนด์ที่อายุเกษียณปัจจุบันอยู่ที่ 64 ปี และมีแผนเพิ่มเป็น 65 ปีในปี 2027

ในไทยเองก็มีบางสำนักงานเริ่มพิจารณาการยืดอายุเกษียณเนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ตามการรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2559 เคยยื่นเสนอเพิ่มอายุเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปีต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากอัตราการเกิดในไทยน้อย ทำให้คนวัยทำงานไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ การขยายอายุเกษียณจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลบุคลากรทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าบำเหน็จบำนาญ ปัจจุบันตามการรายงานของเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุราชการที่ 63 ปีในปี พ.ศ. 2567 นอกจากนี้ในไทยยังมีการให้เบี้ยคนชราสำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในลักษณะขณะบันไดเริ่มต้นที่ 600 บาท/เดือนในช่วงอายุ 60-69 ปี และสูงสุด 1,000 บาท/เดือนสำหรับคนที่อายุมากกว่า 90 ปีขึ้นไปซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงทำให้คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องทำงานต่อแม้จะถึงอายุเกษียณแล้วก็ตาม

ปัญหาสังคมโลกย่างเข้าสู่วัยชราเป็นปัญหาที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกเริ่มพูดถึงในช่วงปลายทศวรรษ 80 เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรโลกเริ่มลดต่ำลงหลังค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันแรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่กลับได้ค่าแรงน้อยนิด โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงที่ทุนนิยมมองว่า เป็นแรงงานราคาถูกเพราะไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย อีกทั้ง ต้องหยุดงานเมื่อตั้งท้อง และมีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2000-2005 ประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1946-1964 จะกลายเป็นปาปี้หรือมามี้บูมเมอร์และเข้าสู่วัยเกษียณพร้อมกัน ในขณะเดียวกันระบบบำนาญเกษียณของหลายประเทศในขณะนั้นอยู่ในรูปแบบคนที่ทำงานจ่ายเงินบำนาญให้กับคนที่ไม่ได้ทำงานโดยตรง ซึ่งเป็นระบบที่เริ่มใช้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากสงครามทำให้คนแก่ในขณะนั้นไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ นอกจากนี้

ธนาคารโลกยังคาดว่าระบบบำนาญแบบนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนที่ทำงานต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อจำนวนคนเกษียณอายุ อีกทั้ง ยังมองว่าการนำเงินไปให้คนเกษียณอายุโดยตรงเป็นการโยนเงินทิ้ง เนื่องจากเงินตรงนั้นถูกใช้ในการบริโภคโดยตรง ทำให้ไม่เกิดการลงทุนในระบบ และได้ผลักระบบกองทุนบำเหน็จ (Pension fund) เป็นวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว จากเดิมที่คนทำงานเอาเงินไปให้กับคนเกษียณโดยตรง ก็นำเงินไปใส่ไว้ในกองทุนบำเหน็จก่อน จากนั้นกองทุนนี้จะนำเงินไปลงทุน และนำเงินกลับมาให้ผู้เกษียณ และนั่นก็หมายความว่า คนทำงานไม่ได้จ่ายเงินบำนาญให้คนเกษียณอีกต่อไปและเกิดการลงทุนในระบบ ซึ่งโมเดลนี้ผลักดันโดยธนาคารโลกและถูกใช้เป็นครั้งแรกในประเทศชิลีภายใต้การปกครองของเผด็จการปิโนเชต์ ปัจจุบันฝรั่งเศสและสเปนเป็นสองประเทศในยุโรปที่ยังคงใช้ระบบเกษียณที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์นี้อยู่ หากถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อกองทุนบำเหน็จนี้ลงทุนผิดพลาด คำตอบก็คือไม่มีเงินเกษียณ เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตเพราะระบบกองทุนบำเหน็จนี้เป็นเพียงแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ ยกตัวอย่าง ฝรั่งเศสที่กองทุนเคยนำเงินไปลงทุนโดยให้จักรพรรดิรัสเซียยืม และต้องสูญเงินตรงนั้นหลังเกิดการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เนื่องจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ประกาศไม่คืนเงินทันทีที่ขึ้นมามีอำนาจ หรือหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The great depression) ในปี 1929

ในขณะที่รัฐบาลเสรีนิยมใหม่ในหลายประเทศกำลังผลักนโยบายเพิ่มคนงานอาวุโสในระบบ แต่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่กลับไม่อยากได้คนแก่มาทำงานและรัฐบาลในหลายประเทศกลับไม่ช่วยประกันการมีงานทำของคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้ การรับนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่รัฐมุ่งช่วยเหลือนายทุนมากกว่าคนงานก็ได้ให้อำนาจนายทุนในการไล่หรือเลือกคนงานได้มากขึ้น ทำให้คนแก่กลุ่มนี้กลายเป็นคนตกงานและตกลงสู่ความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางการเพิ่มคนงานแก่เข้าระบบนี้ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มคนงานกลุ่มนี้เข้าระบบมากที่สุด ตามการรายงานของสำนักข่าว Alternatives Économiques ของฝรั่งเศส อัตราการจ้างงานของคนกลุ่มอายุ 55-64 ปีสูงถึง 70% เนื่องจากรัฐบาลทำแคมเปญสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนงานกลุ่มนี้ เช่น ใช้สโลแกน “คนแก่คือสมบัติของชาติ” และประณามบริษัทที่ไล่คนแก่ออกจากงานผ่านสื่อว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อผลประโยชน์ของชาติ

ในฝรั่งเศสที่ยังคงใช้ระบบคนทำงานจ่ายเงินบำนาญให้กับคนที่ไม่ทำงานอยู่ ท่ามกลางการผลักดันการปฏิรูประบบเกษียณครั้งใหญ่ของนายเอ็มมานูเอล มาครงที่อ้างเสมอว่า ระบบกำลังจะล่ม แต่จากการรายงานของ COR ซึ่งเป็นองค์กรที่วิเคราะห์ระบบเกษียณของฝรั่งเศสพบว่า ระบบในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตตามที่รัฐบาลอ้าง และคาดว่าค่าใช้จ่ายตรงนี้จะเริ่มลดลงในอนาคตไปจนถึงปี 2070 เนื่องจากรัฐบาลได้ลดจำนวนเงินบำนาญที่ให้กับผู้เกษียณอายุมาหลายปีแล้ว เช่น สำหรับรุ่นคนที่เกิดในปี 1938 นั้นได้เงินบำนาญเป็นจำนวน 79.1% ของเงินเดือนสุดท้ายที่ได้ก่อนเกษียณอายุ ในขณะที่รุ่นคนที่เกิดในปี 1950 ได้รับเงินบำนาญเป็นจำนวน 74.8% ของเงินเดือนสุดท้ายที่ได้ก่อนเกษียณอายุ ระบบเกษียณนี้เองก็ทำให้ปริมาณคนจนฝรั่งเศสที่มีอายุมากกว่า 65 ปีต่ำเป็นอันดับที่สองรองจากลักเซมเบิร์กที่อยู่ในอันดับที่หนึ่งในภูมิภาคยุโรป และต่ำกว่าประเทศในแถบแสกนดิเนเวียตามการรายงานของยูโรสตาท (Eurostat) นอกจากนี้ การที่ระยะเวลาในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ก็หมายความช่วงชีวิตหลังเกษียณหรือเวลาที่จะได้พักจากการทำงานก็ลดน้อยลงไปด้วย และแทนที่เราจะได้ใช้ช่วงเวลาที่ร่างกายยังแข็งแรงไปกับตัวเอง เรากลับต้องมอบช่วงเวลาที่มีค่านี้ให้กับนายทุนที่เห็นชีวิตของเราเป็นเพียงแค่ตัวเลขในกระดาษ

มาถึงตรงนี้ จากการการศึกษาของนายแพทริค ฮิวเวลลีน นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในปี 2022 พบว่า ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรโลกกำลังลดลง โดยในช่วงปี 2019-2020 อายุขัยเฉลี่ยลดลง 0.92 ปี และในช่วงปี 2020-2021 อายุขัยเฉลี่ยลดลง 0.72 ปี ในบางประเทศ เช่น เปรู กัวเตมาลา เม็กซิโก และรัสเซีย อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศเหล่านี้ลดลงมากกว่า 4 ปีในช่วงสองปีนี้ และนับเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่องค์กรสหประชาชาติเริ่มจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวในปี 1950 ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลเสรีนิยมกำลังเพิ่มระยะเวลาการทำงาน โดยอ้างว่าแรงงานอายุยืนขึ้น ในขณะที่ประชากรโลกเริ่มมีอายุสั้นลง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบเกษียณที่ใช้ในฝรั่งเศสยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี ประเด็นการยืดอายุเกษียณเป็นเพียงแค่คำโกหกของพวกเสรีนิยมที่ตั้งใจออกนโยบายเข้าข้างนายทุนหรือคนที่ไม่เคยสัมผัสกับการถูกกดขี่ขูดรีดและไม่เคยต้องอดมื้อกินมื้อ คนงานทั่วโลกควรได้รับสวัสดิการที่ดีตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยเกษียณผ่านการมีรัฐสวัสดิการที่สร้างขึ้นจากการจัดเก็บภาษีคนรวย ภาษีมรดก และภาษีนิติบุคคล เพราะความมั่งคั่งที่คนงานเป็นคนผลิตต้องกลับมาที่คนงาน และเวลาในการทำงานและคนตกงานสามารถลดลงได้ด้วยการแบ่งงานกันทำ


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com