โดย ธัญเทพ ทองป้อง
จุดยืนของนักลัทธิมาร์กซ์ในการสร้างสังคมนิยม คือ จะต้องขยายการปฎิวัติสังคมนิยมไปทั่วโลก เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบโลก ดังนั้น หากไม่ขยายการปฎิวัติออกไปสู่สากลก็จะถูกชนชั้นนายทุนทั่วโลกสามัคคีกันในการทำลายรัฐสังคมนิยม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในรัสเซียในช่วงหลังปี 1917 ที่ชนชั้นนายทุนทั่วยุโรปต่างสนับสนุนกองทัพขาวในการต่อต้านการปฎิวัติรัสเซีย
แนวความคิดสากลถูกสตาลินพลิกไปอย่างสิ้นเชิง โดยสตาลินเสนอ “ลัทธิสังคมนิยมในประเทศเดียว “ กล่าวคือ ทุ่มเทการปฎิวัติภายในประเทศแทนที่การปฎิวัติสากล ผลคือ มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมหนักและผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตกเพื่อให้รัสเซียเป็นชาติมหาอำนาจและนำไปสู่การกดขี่ขูดรีดชนชั้นแรงงานอย่างหนักเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศเดียว
แนวคิดสังคมนิยมในประเทศเดียวเป็นแนวความคิดของสตาลินและพรรคพวกข้าราชการแดง ที่เกิดขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ในการส่งออกการปฏิวัติ กล่าวคือ เป็นความพ่ายแพ้หลังจากที่การปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพในประเทศอื่นที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมากกว่ารัสเซียไม่ประสบผลสำเร็จ ประเทศสำคัญนั้นเช่น เยอรมนี ที่ล้มเหลวเมื่อปี 1923 นอกจากนั้นยังมีบัลแกเรียและเอสโทเนีย
ความล้มเหลวดังกล่าวทำให้สตาลินที่ขึ้นมาครองอำนาจหลังจากการเสียชีวิตของเลนิน ได้หยิบทฤษฎีสังคมนิยมในประเทศเดียวขึ้นมาใช้ แม้ว่าตัวเขาเองจะเคยเห็นด้วยกับแนวทางสากลนิยม ดังที่ปรากฏในหนังสือ The Foundation of Leninism (1924) ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกว่า “การจัดการผลิตแบบสังคมนิยมซึ่งเป็นงานที่สำคัญสุดของชนชั้นกรรมาชีพยังไม่เสร็จสิ้น. งานเหล่านี้จะเสร็จสิ้นลงได้หรือไม่, ชัยชนะสุดท้ายของสังคมนิยมจะบรรลุผลโดยปราศจากความพยายามร่วมกันของพี่น้องกรรมาชีพจากหลายๆ ประเทศที่พัฒนาอย่างสูงแล้วได้หรือไม่? คำตอบที่ได้ก็คือไม่.” โดยที่หนังสือเล่มเดียวกัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง สตาลินได้แก้ไขข้อความที่ว่านี้ และลดทอนความสำคัญของการร่วมมือกันอย่างสากลออกไปและหันไปทำแนวร่วมกับนายทุนชาติ
ผลก็คือ มีการร่วมมือกันระหว่างสตาลินและชนชั้นปกครองทุนนิยมในประเทศอื่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยความร่วมมือมิได้เป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นของการปฏิวัติทั่วโลก แต่เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของสหภาพโซเวียตแต่ฝ่ายเดียว และหากจะมีการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในบางประเทศ ก็เป็นไปเพื่อต่อรองกับชนชั้นนายทุนเท่านั้น เช่น
กติกาสัญญาฝรั่งเศส-โซเวียต: ปี 1934 ฝรั่งเศสและโซเวียตได้ทำกติกาสัญญาทางการทหารเพื่อต่อสู้กับเยอรมันนี โดยส่วนหนึ่งของกติกาสัญญานี้ เรียกร้องการยุติการต่อสู้ของคนงานในฝรั่งเศสที่ต่อต้านทุนนิยมฝรั่งเศส และผลสุดท้ายอย่างที่พอจะคาดเดาได้ หลังจากที่คนงานฝรั่งเศสถูกกดปราบ นายทุนฝรั่งเศสก็หันมาเล่นงานสหภาพโซเวียต และทำลายกติกาสัญญาที่เคยทำไว้
เชอร์ชิลล์กับสหภาพโซเวียต: ทุกคนรู้ว่าวินส์ตัน เชอร์ชิลล์ เกลียดสหภาพโซเวียตและกรรมกรแรงงานพอๆ กับที่ฮิตเลอร์เกลียด ทั้งเชอร์ชิลล์และทุนนิยมสหราชอาณาจักรต่างอยากให้สหภาพโซเวียตพ่ายแพ้พร้อมกันกับฮิตเลอร์ เพื่อที่สหราชอาณาจักรจะได้ครองโลก แต่สตาลินบังคับให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหราชอาณาจักรยอมแพ้วินส์ตัน เชอร์ชิลล์ เพราะสตาลินต้องทำแนวร่วมกับจักรวรรดินิยมอังกฤษในการตั้งรับการโจมตีของฮิตเลอร์ แต่ผลที่ได้ก็คือ การถูกรัฐบาลทุนนิยมอังกฤษทรยศหลังจากที่ยืมมือโซเวียตไปทำงานสกปรกให้ (กดปราบการต่อสู้ของคนงาน)
สตาลินกับคนงานเยอรมัน: สตาลินขอให้คนงานเยอรมันล้มฮิตเลอร์ ไม่ใช่เพื่อสถาปนารัฐบาลคนงานในเยอรมัน แต่เพื่อนำกลับมาซึ่งสาธารณรัฐทุนนิยม แต่คนงานเยอรมันทราบดีว่าสาธารณรัฐทุนนิยมจะนำมาเพียงแค่การว่างงานและวิกฤติเศรษฐกิจให้กับพวกเขา พวกเขาไม่สามารถเดินประท้วงฮิตเลอร์ด้วยสโลแกนเพื่อสาธารณรัฐทุนนิยมได้ มีเพียงแต่อุดมคติ “สังคมนิยมทั่วโลก” ที่จุดประกายการต่อสู้ของมวลชนรัสเซียเมื่อปี 1917 เท่านั้นที่จะกระตุ้นคนงานเยอรมันให้ต่อต้านลัทธิบูชาฮิตเลอร์
สตาลินกับฮิตเล่อร์ : สตาลินทำข้อตกลงกับฮิตเลอร์เพื่อหวังไม่ให้เยอรมันบุกรัสเซีย แต่ในที่สุดฮิตเลอร์ก็บุก
ทฤษฎีสังคมนิยมในประเทศเดียวได้เพียงแต่สร้างความพ่ายแพ้ให้คนงานทั่วโลกและทำให้สหภาพโซเวียตอ่อนแอจากความพ่ายแพ้เหล่านี้ อนาคตของโซเวียตในตอนนั้น แท้จริงแล้วควรจะเกิดจากการสถาปนาของกรรมาชีพและชาวนายากจนจากทั่วยุโรป เพื่อที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ กรรมาชีพจะต้องปฏิเสธทฤษฎีสังคมนิยมในประเทศเดียวที่ได้สร้างความพ่ายแพ้มากมาย และแทนที่แนวคิดนี้ด้วยความคิดดั้งเดิมแห่งการปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งก็คือ แนวคิดสังคมนิยมสากลนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
C. Charles. (22 November 1941). The Stalinist Theory of “Socialism in One Country”. Soviet Disasters, Defeat of Revolutions Are Fruits of This Theory.
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6