Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ทำไมนักวิชาการ ถึงสนับสนุนรัฐประหาร

โดย วัฒนะ วรรณ

อาชีพนักวิชาการหรืออาจารย์ที่สอนหนังสือในสถาบันการศึกษา จัดอยู่ในชนชั้นกรรมาชีพเพราะไม่ได้ถือครองปัจจัยการผลิต ถึงแม้บางครั้งบางคนจะหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นชนชั้นพิเศษหรือมีสถานะพิเศษก็ตาม แต่เมื่อเกิดวิกฤติในอาชีพ เสี่ยงถูกเลิกจ้าง หรือถูกบังคับให้ต้องทำงานมากขึ้นแต่ไม่เพิ่มค่าจ้างหรือเพิ่มค่าจ้างนิดหน่อย บางคนอาจจะตระหนักได้ว่าตนเองคือกรรมาชีพ ส่วนตำแหน่งทางวิชาการมักจะสัมพันธ์กับรายได้ และโอกาสสร้างรายได้เพิ่มในอนาคตของอาชีพ มันไม่ได้บ่งบอกถึงระดับจิตสำนึกทางการเมืองชนชั้นที่ตนเองสังกัด หรือระดับจิตสำนึกของประชาธิปไตย

เมื่อรัฐประหาร ปี ๒๕๔๙ มีคนที่ทำอาชีพนักวิชาการในมหาวิทยาลัยไม่กี่คนออกมาคัดค้าน และในจำนวนไม่กี่คนนั้นมีส่วนหนึ่งเป็นฝ่ายซ้าย นักสังคมนิยม ทั้งๆ ที่สังคมคาดหวังไว้ว่าคนที่ทำงานในสถาบันการศึกษา น่าจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างน้อยที่สุดก็ในทางประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยม ด้วยการเรียนการสอน การศึกษาที่ร่ำเรียน ล้วนสัมพันธ์กับประชาธิปไตย

เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะอธิบายว่า “จิตสำนึกทางการเมือง” ไม่ได้สัมพันธ์กับอาชีพที่บุคคลเหล่านั้นทำ แต่เป็นชุดความคิดทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมโดยเฉพาะแนวคิดกระหลักที่ถูกสร้างจากระบบทุนนิยมเพื่อใช้ครองใจคนในสังคมให้ภักดีต่อระบบการผลิตทุนนิยม กับแนวคิดกระแสรองไม่ว่าจะเป็นขวาหรือซ้าย ซึ่งจะมีบทบาทชิงความคิดจากกระแสหลักเมื่อเกิดวิกฤติในการดำเนินชีวิตของกรรมาชีพ

กรัมชี่ อธิบายว่าถ้าเราจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพ เราต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจว่าในสมองของคนคนเดียวกัน มักจะมีความคิดขัดแย้งดํารงอยู่เสมอ ความคิดสายหนึ่งมาจากการพยายามครอบงําความคิดในสังคมโดยชนชั้นปกครอง ดังนั้นเราทุกคนจะถูกกล่อมเกลาให้เชื่อแนวคิดของนายทุนที่เรียกว่า “กระแสหลัก” ซึ่งการกล่อมเกลาดังกล่าวกระทําผ่านสถาบันใน “ประชาสังคม” เช่นโรงเรียน ศาสนา สื่อต่างๆ และแม้แต่ครอบครัวเราเอง อย่างไรก็ตาม ในสมองของเราจะมีความคิดที่ขัดแย้งกับแนวแรกดํารงอยู่เสมอ ซึ่งความคิดรูปแบบที่สองมาจากประสบการณ์ประจําวันของเรา (อ้างถึงใน ใจ อึ๊งภากรณ์, ๒๕๔๕, น. ๒๑๙ )

บางครั้งจึงเห็นคนที่เป็นอาจารย์สอนประชาธิปไตย สอนเรื่องความยุติธรรม ลุกขึ้นมาสนับสนุนเผด็จการ อาจจะเป็นเพราะพวกเขากังวลต่อความมั่นคงในอาชีพ ถึงแม้จะอยู่ในรัฐบาลประชาธิปไตยเสรีนิยมก็ตาม พวกเขากลับเชื่อมั่นในแนวคิดฝ่ายขวาที่ก่อรัฐประหารด้วยเสื้อคลุมอนุรักษ์นิยมจะสามารถปกป้องความมั่นคงให้พวกเขาได้

แต่ต้องเข้าใจว่าสังคมทุนนิยมไม่เคยสร้างความมั่นคงให้กับกรรมาชีพ ระบบทุนนิยมมักเกิดวิกฤติอยู่เสมอๆ ด้วยการแข่งขันกันจะนำไปสู่การลดลงของอัตรากำไร วิกฤติจะนำความยากลำบากมาสู่กรรมาชีพ วิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ นำมาสู่การลดงบประมาณในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง บางแห่งถูกแปรรูปออกจากการสนับสนุนจากรัฐ บางแห่งถูกลดกำลังคนทำงาน ทำให้คนทีเหลืออยู่ต้องทำงานต้องเพิ่มขึ้น

วิกฤตินำมาซึ่งความไม่มั่นคง ทำลายความมั่นใจ และในสังคมที่ฝ่ายซ้ายอ่อนแอ แนวคิดฝ่ายขวาจะสามารถสร้างอิทธิพลเพิ่มขึ้นได้ง่าย มันมักจะพาคนกลับหลังไปสู่อดีตที่ปลอดภัยในบางช่วง หรือไม่ก็อดีตที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงแต่ถูกสร้างขึ้นมาแค่ครองใจคนเท่านั้น

ถึงแม้ว่าจิตสำนึกทางการเมืองชนชั้นจะเกิดขึ้นได้จากการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของกรรมาชีพ แต่มันจะก้าวข้ามแนวคิด “กระแสหลัก” ได้ยาก จำเป็นต้องใช้การอัดฉีดแนวคิดทางการเมืองจากภายนอกโดยเฉพาะแนวสังคมนิยมที่วิเคราะห์สังคมเพื่อชวนกรรมาชีพออกจากแนวคิดกระแสหลัก การอัดฉีดแนวคิดจากภายนอกต้องใช้การทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่สามารถจะกระทำโดยคนคนเดียวได้ ต้องมีการรวมกลุ่มแบบพรรคการเมืองสังคมนิยมซึ่งเป็นแหล่งรวมปัญญาชนอินทรีย์ของชนชั้นกรรมาชีพ


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com