โดย สหายกลั่น
“รักแท้ รักที่อะไร ตับไตไส้พุง หรือรักกางเกงที่นุ่ง ว่าดูสวยดี รักที่นามสกุล รักยี่ห้อรถยนต์ รักเพราะว่าไม่จน มีสตางค์ให้จ่าย” ในสังคมทุนนิยม เราสามารถรับรู้ได้โดยทั่วไปว่า เราต่างโหยหาการสละโสด ถูกกล่อมเกลาว่าหากได้มี “คู่รัก” แล้ว จะต้องทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ส่งเสริมหน้าตาทางสังคมและครอบครัว แต่หากเราตั้งเงื่อนไขมากมาย เราจะมีความรักที่สมบูรณ์จริง ๆ หรือ ในยุคโบราณเอง ก็มีการสร้างกฎกรอบให้ความรัก เช่น วรรณะ ศาสนา เชื้อชาติ การสืบทอดอภิสิทธิ์ของตระกูล ฯลฯ
ในสังคมทุนนิยม สำหรับคนส่วนใหญ่ นั่นคือ ชนชั้นแรงงาน ถูกสอนให้คาดหวังว่าความรักต้องทำให้ชีวิตดีขึ้น เหมือนกับการคิดคำนวนทำสัญญาธุรกิจ เรียกร้องอีกฝ่ายให้มาเติมเต็มความเหงา กักขังอีกฝ่ายในกรงขังแห่งความสัมพันธ์ เราจึงได้เห็นข่าวการตามทำร้ายคู่รักเก่า และความรุนแรงภายในครอบครัว อาเล็กซานดร้า คอลลอนไท นักปฏิวัติ เคยกล่าวไว้ว่า “เราอยู่ในโลกแห่งความสัมพันธ์ในรูปแบบทรัพย์สิน โลกแห่งความขัดแย้งทางชนชั้นที่แหลมคม และโลกแห่ง ‘ศีลธรรมแบบปัจเจก’ เรายังมีชีวิตดำรงอยู่ภายใต้ความวังเวงของวิญญาณที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระบบปัจจุบันมนุษย์รู้สึกโดดเดี่ยวแม้อยู่ในเมืองแออัดเต็มไปด้วยเสียงคน หรือแม้อยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงาน…..การแสวงหาคู่วิญญาณดังกล่าวเป็นไปอย่างผิดธรรมชาติในลักษณะการหาเหยื่อ” (คอลลอนไท, 1909)
อีกด้านหนึ่งที่เรามักไม่ค่อยกล่าวถึงคือ การตกหลุมรักนั้น เรามิอาจรู้ได้เลยว่า เรารักคน ๆ นี้ เพราะอะไร เรายอมรับได้เสมอว่าเขาแตกต่างจากเราขนาดไหน ไม่มีเงื่อนไขหรือ ”สัญญาธุรกิจ” หรือสิทธิ์ในวิญญาณของอีกฝ่าย ซึ่งก็คือการคิดถึงอีกคนด้วยความเคารพอย่างสูง แต่ในปัจจุบัน เราจำต้องทนกับความเปล่าเปลี่ยว
มิใช่แค่ในประเด็นของค่านิยมที่บิดเบือนความรักเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เป็นจริง ในสังคมทุนนิยม ไม่มีอะไรที่ประกันความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพ การที่จะดำเนินความสัมพันธ์หรือแม้กระทั่งแค่ออกไปพบปะกับผู้คน ก็ต้องคิดเรื่องเงินเป็นสำคัญและต้องทำงานหนัก ซึ่งสร้างความน่าปวดหัวและความตึงเครียดให้กับการมีความสัมพันธ์หรือการยุติความสัมพันธ์ และความไม่พอใจจากการทำงานหนักยังส่งผลให้เกิดความรุนแรงภายในครอบครัวด้วย
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ธรรมชาติถาวร แต่เกิดขึ้นภายใต้สังคมทุนนิยมนั่นเอง แน่นอนว่า หากเราจะสามารถมีประสบการณ์ความรักได้อย่างเต็มที่และรอบด้านสมบูรณ์ เราจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมอง แต่จะทำอย่างนั้นได้ จำต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานที่เอื้อต่อศักยภาพในการรักอีกฝ่าย นั่นคือการต่อสู้ไปสู่สังคมนิยม ที่การผลิตต่าง ๆ จะถูกจัดสรรโดยสังคมอย่างเป็นประชาธิปไตย เราจะไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้องหรือคำนวนความเสี่ยงในความสัมพันธ์อีกต่อไปและในเมื่อหมดเหตุผลหรือเงื่อนไขแล้ว เราจะสามารถปลดปล่อยศักยภาพที่จะรักได้อย่างเต็มที่ ดังที่ คอลลอนไท ได้เขียนไว้ตอนท้ายของ “แนวชนชั้นในการปลดแอกสตรีและปัญหาครอบครัว” ว่า
“สหพันธ์แห่งความรัก และความสมานฉันท์ สหพันธ์ของสองคนชาวกรรมาชีพที่มีเสรีภาพ พึ่งตนเองได้ และมีความเท่าเทียมกัน… การแต่งงานจะถูกแปรไปเป็นความผูกพันอิสระและเสรีระหว่างสองวิญญาณบนพื้นฐาน ความรักที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องเงินตรา… ธงแดงแห่งการปฏิวัติสังคมประกาศกับเราว่าในไม่ช้าสวรรค์ที่มนุษย์ใฝ่ฝันถึงมานาน จะเกิดบนโลกนี้แล้ว”