โดย แพรพลอย
ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม การประท้วงเพื่อต่อต้านนโยบายปฏิรูประบบเกษียณอายุได้ปะทุขึ้นในฝรั่งเศส การประท้วงในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเขตเมืองขนาดใหญ่ แต่รวมไปถึงเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980 ประชาชนชาวฝรั่งเศสเกือบ 3 ล้านคนเข้าร่วมการประท้วงในวันที่ 31 มกราคมซึ่งเป็นวันที่ 2 ที่มีการนัดหยุดงานทั่วไปตามการรายงานของสหภาพ และแม้จะมีการประท้วงใหญ่มาแล้ว 4 วัน รัฐบาลฝรั่งเศสก็ยังเดินหน้าผลักดันนโยบายนี้ต่อไป
แล้วจะต้องสู้แบบไหนถึงจะชนะ? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างมากนับตั้งแต่มีการประท้วงมา การประท้วงในครั้งนี้มีการเปรียบเทียบกับการประท้วงในปี 1995 ที่ต่อต้านการยืดเวลาทำงานเต็มเวลาของข้าราชการจาก 37 เป็น 40 ปี และลดเงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีคนลงถนนเป็นล้านคนเช่นกัน ในครั้งนั้นแม้ทุกสหภาพแรงงานจะไม่สามารถรวมตัวกันได้เหมือนการประท้วงในปัจจุบัน แต่คนงาน “ที่มีความสำคัญ” ต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น คนงานโลจิสติกส์อย่างคนงานรถไฟ คนงานบริษัทแก๊ส คนงานบริษัทโทรคมนาคม และคนงานไปรษณีย์ได้เข้าร่วมนัดหยุดงาน การระดมพลในครั้งนั้นนักจัดตั้งสหภาพเลือกใช้วิธีการเดินไปคุยและใช้เวลาโน้มน้าวคนรู้จักที่ไม่เคยเข้าร่วมการนัดหยุดงานมาก่อนมากกว่าการแจกใบปลิว การประท้วงครั้งนั้นทำให้ฝรั่งเศสเป็นอัมพาตอยู่ถึง 3 อาทิตย์ มีเพียงรถเมล์จำนวน 5% เท่านั้นที่ยังให้บริการ และในที่สุดรัฐบาลก็เป็นฝ่ายถอย
แต่ในการชุมนุมครั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาสหภาพแรงงานเลือกใช้กลยุทธ์หยุดงานแบบ 24 หรือ 48 ชั่วโมงก่อนวันประท้วงใหญ่ที่สหภาพประกาศ นอกจากนี้ยังมีการขออนุญาตจากรัฐก่อน ซึ่งรัฐเป็นผู้กำหนดสถานที่ประท้วงให้อยู่ไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ เช่น ที่ว่าการอำเภอหรือย่านเศรษฐกิจ และมีการประกาศล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานให้รัฐบาลได้มีการเตรียมตัว ผู้นำสหภาพแรงงานในปัจจุบัน เช่น นายฟิลิป มาร์ติเนซจากสหภาพ CGT (Confédération Générale du Travail) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส หรือนายลอร็อง แบ็คเจจากสหภาพแรงงาน CFDT (Confédération Française Démocratique du Travail) แม้จะอยู่คนละสหภาพแต่ทั้งสองคนมีจุดร่วมเดียวกันคือการเป็น “นักเจรจา” มากกว่าเป็น “ผู้นำการต่อสู้” เหล่าผู้นำสหภาพยังคงรอให้มีการเจรจา เช่น หลังการประท้วงวันที่ 19 มกราคม สหภาพได้ประกาศวันนัดหยุดงานครั้งถัดไปเป็นวันที่ 31 มกราคม หรือ 12 วันหลังจากการนัดหยุดงานครั้งแรก ซึ่งในวันที่ 29 มกราคม นางเอลิซาเบ็ธ บอร์น นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการเจรจาเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสำคัญของกฎหมายอีกต่อไป ในการประท้วงครั้งล่าสุดที่ผ่านมา สหภาพเลือกนัดหยุดงานในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันหยุด โดยเป็นคำขอจากสหภาพ CFDT (ที่ไม่เคยเข้าร่วมการประท้วงในปี 1995) ในวันที่ 5 ของการประท้วงผู้นำสหภาพเลือกประกาศเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ และวันที่ 6 ของการประท้วงเป็นวันที่ 7 มีนาคม หรือ 19 วันนับจากการประท้วงวันที่ 5! ซึ่งทำให้การประท้วงขาดความต่อเนื่อง และยังไม่มีท่าทีที่แน่ชัดว่ากลยุทธ์ในการเรียกร้องควรเป็นอย่างไร
ในขณะเดียวกันคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ เช่น คนงานการไฟฟ้าต้องการยกระดับการประท้วงให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด โดยเลือกไปปรับมิเตอร์ไฟฟ้าให้ค่าไฟฟรีกับร้านเบเกอรี่หรือสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียนหรือโรงพยาบาล หรือคนงานโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในสังกัดของสหภาพ CGT ก็ต้องการยกระดับและได้มีการเสนอแนวทางการต่อสู้ที่สวนกระแสผู้นำสหภาพที่ตนเองสังกัดอยู่ ด้วยการเสนอให้วันที่ 19 มกราคมมีการนัดหยุดงาน 24 ชั่วโมง ตามมาด้วยวันที่ 26 มกราคม 48 ชั่วโมง และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 72 ชั่วโมง และหลังจากวันที่ 6 จะเป็นการนัดหยุดงานแบบต่อเนื่องจนกว่ารัฐบาลจะยอมแพ้ ซึ่งคนงานกลุ่มนี้ประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการเจรจา ไม่ต้องการกฎหมายฉบับนี้ และต้องการให้อายุเกษียณที่ปัจจุบันอยู่ที่ 62 ปีกลับมาเป็น 60 ปีและ 55 ปีสำหรับคนที่ทำงานหนัก แต่ในปัจจุบันการนัดหยุดงานกลับมีการจัดการแบบรวมศูนย์จากบนล่าง กล่าวคือการสั่งการมาจากผู้นำสหภาพ และไม่มีการปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการต่อสู้ร่วมกับคนงานที่เป็นผู้หยุดงานหรือหยุดกระบวนการผลิต แม้คนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพจะไม่มีอำนาจตัดสินใจมาก แต่ก็สามารถสร้างแรงกดดันให้บรรดาผู้นำสหภาพเริ่มพูดถึงการนัดหยุดงานแบบต่อเนื่อง
นอกจากนี้แนวทางการต่อสู้ของเสื้อกั๊กเหลืองที่ประท้วงในช่วงปี 2018-2019 ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง เพราะการประท้วงในครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ที่มีความต่อเนื่อง ไม่ขออนุญาตรัฐ ไม่ประกาศวันเวลาล่วงหน้าให้รัฐได้เตรียมตัว ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของสหภาพที่เป็นระบบข้าราชการ และเข้าใกล้ศูนย์กลางของอำนาจนั้นเป็นไปได้ เช่น การประท้วงของเสื้อกั๊กเหลืองในปารีส มีการเลือกเดินประท้วงบนถนนฌ็องเซลิเซ่ ซึ่งเป็นย่านคนรวยและย่านเศรษฐกิจ และอยู่ไม่ไกลจากทำเนียบประธานาธิบดี การประท้วงในวันที่ 8 ธันวาคม 2018 ในวันนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเข้าไปถึงบริเวณประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de Triomphe) และพยายามมุ่งหน้าไปยังทำเนียบ จนมาครงต้องเตรียมเฮลิคอปเตอร์ไว้เพื่อบินหนีในกรณีที่ผู้ชุมนุมบุกเข้ามา และมีความพยายามในการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น ใช้กลยุทธ์หอยทาก เข้าไปปิดกั้นทางด่วน มีการทำลายแผงกั้นทางด่วนเพื่อให้ผู้คนได้ใช้บริการทางด่วนฟรี รวมถึงปิดกั้นทางเข้าออกโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้การขนส่งน้ำมันต้องหยุดชะงัก
การเกิดขึ้นของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองอาจจะเริ่มต้นจากความไม่พอใจการปรับขึ้นค่าพลังงาน แต่หลังจากนั้นประเด็นการต่อสู้ถูกยกระดับไปสู่ผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพมากขึ้น มีข้อเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้าง เก็บภาษีคนรวย และมีขบวนการนักศึกษาเข้าร่วมด้วย โดยมีการชูข้อเรียกร้องของตนเองเรื่องการเก็บค่าเล่าเรียน และการกีดกันคนจำนวนมากออกจากระบบมหาวิทยาลัย รวมถึงประเด็นสิทธิทางเพศ ผู้ลี้ภัย คนผิวดำ จากนั้นสหภาพแรงงานก็มาสนับสนุนประกาศนัดหยุดงาน แต่ผู้นำแรงงานระดับชาติก็ยังลังเล
กว่า 30 ปีภายใต้การปกครองในระบอบเสรีนิยมใหม่ สิทธิแรงงานในฝรั่งเศสถูกลิดรอนทีละเล็กทีละน้อย แม้ในปัจจุบันคนเป็นล้านคนลงถนน รัฐบาลก็ไม่รับฟังเพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐบาลยังคงเลือกเดินหน้าลิดรอนสิทธิของแรงงานและให้ความช่วยเหลือคนรวยต่อไป นอกจากนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์หรือ 2 วันหลังจากคนเกือบ 3 ล้านคนลงถนน รัฐบาลได้มีการประกาศเพิ่มเติมว่ากำลังพิจารณาจำกัดสิทธิในการนัดหยุดงานในช่วงเทศกาลวันหยุด ถึงกระนั้นเหล่าผู้นำสหภาพก็ยังคาดหวังที่จะเจรจากับรัฐบาล คาดหวังว่าจะต้องจูงใจรัฐบาล แต่เราจะจูงใจรัฐบาลเสรีนิยมให้หันมาเห็นใจคนจนได้จริงหรือ?
ดังนั้นเพื่อที่จะได้ชัยชนะในครั้งนี้ สหภาพควรเลิกใช้วิธีการประท้วงแบบเดิม ๆ ต้องทำในสิ่งที่มาครงยังไม่เคยเห็น ต้องตั้งเป้าหมายทำให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาตและโจมตีกระเป๋าตังค์ของนายทุนที่เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล เลิกรอการเจรจา ใช้วิธีการนัดหยุดงานแบบต่อเนื่องโดยกลุ่มคนงานที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น คนงานโรงกลั่นน้ำมัน คนงานไฟฟ้า หรือคนงานในระบบโลจิสติกส์ และต้องเปิดระดมทุนสนับสนุนการนัดหยุดงานจากคนงานที่อยู่ในภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจน้อยกว่า เลิกประกาศวันนัดหยุดงานหรือประท้วงล่วงหน้านาน ๆ ให้รัฐบาลคาดเดาได้ยากและไม่มีเวลาเตรียมตัว เลิกไปขออนุญาตรัฐเพื่อประท้วง เพิ่มประชาธิปไตยภายในขบวนการในการกำหนดวิธีการสู้ กดดันผู้แทนในเขตของตัวเอง และเข้ายึดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจหรือสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในศรีลังกา นอกจากนี้นักจัดตั้งสหภาพ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกว่า 300 คนในฝรั่งเศสยังมีการร่วมลงนามเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานแบบต่อเนื่อง และเรียกร้องให้มีการตั้ง “สภาประชาชน” ในสถานที่ทำงานและโรงเรียน และเพื่อให้ได้รับชัยชนะที่แท้จริง เป้าหมายในการประท้วงต้องไม่ใช่แค่เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกความคิดที่จะปฏิรูประบบเกษียณอายุ แต่ต้องเป็นไปเพื่อทำลายรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีมากจนล้นเกินทิ้ง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของนายทุน เช่น มาครงหรือซัคโกซีได้ขึ้นมามีอำนาจ และโจมตีแรงงานเช่นนี้ได้อีก