โดย สหายกลั่น
“จะโทษใคร ดี เมื่อเกิดวิกฤติเศรษกิจ” คือสิ่งที่ชนชั้นปกครองคิดเสมอเมื่อเกิดวิกฤติเศรษกิจที่พวกเขาก่อขึ้นมาเอง และพวกเขามักโทษว่าชนชั้นแรงงานและประชาชนคนธรรมดา ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยที่ไม่แตะต้องที่มาของปัญหา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาของเรา แต่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์
สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมที่เป็นไปตามกลไกของมันคือ แนวโน้มของการลดลงของอัตรากำไร อันเนื่องมาจากการที่กิจการต่าง ๆ แข่งขันกันทำกำไร และในการที่จะเพิ่มกำไรนั้น จำเป็นจะต้องพัฒนาการผลิตโดยลงทุนในเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ในการผลิต นำมาซึ่งกำไรที่มากขึ้นในช่วงแรก แต่ทุนเจ้าอื่น ๆ ก็ต้องพัฒนาการผลิตตามเพื่อให้อยู่รอดในการแข่งขัน จนต้องลดต้นทุน โดยการเพิ่มระยะเวลาการทำงาน ลดค่าจ้าง ปลดคนงาน ทำให้กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ลดลง ในขณะที่ยังเร่งผลิตสินค้าเพื่อช่วงชิงพื้นที่ตลาด การลดลงของอัตรากำไรจึงตามมาและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น
นอกจากการฟื้นอัตรากำไรบนสันหลังของชนชั้นแรงงานแล้ว ยังมีการทำสงครามเพื่อแย่งชิงและทำลายปัจจัยการผลิตของทุนอีกพรมแดนหนึ่ง แถมยังเป็นวิธีการนำคนว่างงานหรือ “กองทัพสำรองของทุนนิยม” ไปสังเวย ด้วยการปลุกกระแสชาตินิยม เบี่ยงเบนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานในประเทศเดียวกัน เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 ค.ศ.1914-1919 กรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2554 หรือ ประเด็นมวย “กุนขแมร์” ที่ชนชั้นปกครองกัมพูชาพยายามปลุกกระแสชาตินิยมในการอ้างว่ากุนขแมร์คือมวยดั้งเดิมแท้บริสุทธิ์ ทางชนชั้นปกครองไทยเองก็นำประเด็นนี้มาปลุกกระแสชาตินิยมด้วยเช่นกัน โดยพยายามโต้กลับว่า กุนขแมร์เลียนแบบมวยไทย ทั้ง ๆ ที่ ศิลปะการต่อสู้ในที่ต่าง ๆ ก็มีการแลกเปลี่ยน ปรับเปลี่ยนกันอยู่เรื่อยไป ในดินแดนเมียนมาร์ก็มีมวยที่มีลักษณะคล้ายกับมวยไทย เรียกว่า “เลทเว่ย”
เมื่อเกิดวิกฤต ชนชั้นนายทุนมักเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละ เช่น กรณีวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่ชนชั้นนายทุนอุ้มสถาบันการเงินโดยใช้ภาษีของรัฐและสั่งสอนให้ประชาชนพอเพียง ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ตกงานและไม่มีเงิน หรือ กรณีวิกฤตโควิด -19 พวกชนชั้นปกครองบอกให้เราต้องพึ่งตัวเองไม่ใช่รอความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของรัฐต้องช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดวิกฤต และพวกเขามักผลิตวาทะกรรมหยุมหยิมต่างๆเพื่อสนับสนุนแนวคิดของพวกเขาเพื่อบอกว่าพวกเขาไม่มีความผิดเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น พวกเราไม่ประหยัดและทำงานน้อยเกินไป ทั้งยังเรื่องมากและขี้เกียจ แรงงานต่างชาติมาแย่งงาน หรือเราไม่มีวินัยทางการคลัง เพศสภาพอื่น ๆ ทำให้มีประชากรน้อยลง ฯลฯ
ชนชั้นนายทุนไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อวิกฤติ แต่เป็นไปตามแรงขับดันในการแข่งขันกันทำกำไรตามกลไกตลาด และด้วยแรงขับนี้ ยังทำให้ชนชั้นนายทุนไม่จริงใจในการแก้ปัญหาด้วย ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น เราต้องประสบกับวิกฤติโลกร้อน วิกฤติสิทธิเสรีภาพ และวิกฤติสงครามนิวเคลียร์ ดังนั้นคำตอบต่อวิกฤติคือ การต่อสู้เพื่อระบบสังคมนิยม ที่มีการควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองโดยคนส่วนใหญ่ด้วยวิธีประชาธิปไตยแท้ ซึ่งกรรมาชีพ นักสังคมนิยมหรือผู้รักความเป็นธรรมต้องร่วมต่อสู้และต้องวิเคราะห์ปัญหาจากจุดยืนชนชั้นกรรมาชีพ โดยใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมาและพัฒนา เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพปลดแอกตัวเอง และสร้างพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพ
“การควบคุมการผลิตแบบทุนนิยมของชนชั้นนายทุน เปรียบเสมือนเด็กโลภปัญญาอ่อนกลุ่มหนึ่งที่พยายามขับรถไฟขบวนรถด่วน ทุกๆ สิบปีรถไฟขบวนนั้นจะเพิ่มความเร็วจนรถตกราง ซึ่งทำให้ประชาชนที่เป็นผู้โดยสารเดือดร้อนเสมอ แต่นายทุนไม่ยอมเลิกสักทีทั้งๆ ที่ขับรถไฟไม่เป็น จะเอาแต่ขับรถไฟต่อท่าเดียว ภาระหน้าที่ของเราชาวกรรมาชีพที่มีสติ คือต้องยึดขบวนรถไฟจากพวกปัญญาอ่อนแล้วมาร่วมกันวางแผนการผลิตแบบใหม่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่”
อ้างอิง ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ. (2545). อะไรนะ ลัทธิมาร์กซ์ เล่ม 2. กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6