Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ความด้อยคุณภาพของการรักษาพยาบาลมาจากการกดขี่ลูกจ้าง

โดย พัชณีย์ คำหนัก

เมื่อประชาชนจ่ายภาษีให้รัฐ ไฉนรัฐจึงไม่สามารถดูแลให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพทัดเทียมกัน หน่วยงานรัฐบริหารอย่างไรจึงไม่สามารถแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน และย่ำแย่ลงเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่าง การบริการสาธารณสุขที่มีปัญหาสัมพันธ์กับสภาพการจ้างงานบุคลากรในโรงพยาบาลของรัฐที่ต่ำกว่ามาตรฐานตามกฎหมาย เท่ากับว่ารัฐซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมายและนโยบายให้เป็นไปตามมาตรฐานมุ่งบังคับใช้กับภาคเอกชน แต่ผู้บริหารหน่วยงานรัฐกลับเพิกเฉยลูกจ้างของตนเอง

คุณภาพการบริการกับสภาพการจ้างงานบุคลากรในโรงพยาบาลของรัฐ

สถานการณ์ที่ 1 บุคลากรโรงพยาบาลรัฐแบกภาระหนักมาก คุณภาพบริการมีความเหลื่อมล้ำ

เมื่อปริมาณคนไข้ล้น โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 896 แห่ง จึงเป็นส่วนที่แบกภาระหนักที่สุด ทำให้บุคลากรไม่สามารถดูแลคุณภาพการบริการได้เท่าที่ควร

เมื่อปี 2562 รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ได้สำรวจภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบต่อผู้ป่วย มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นแพทย์ทั้งสิ้น 1,105 คน และพบว่า มีแพทย์ทำงานเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 90% และมีแพทย์ทำงานเกิน 120 ชั่วโมง/สัปดาห์ คิดเป็น 60% ส่วนแพทย์ที่ตอบแบบสำรวจว่าทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง มีทั้งสิ้น 90% นอกจากนี้ 90% ของแพทย์ผู้ตอบแบบสำรวจ ยังระบุว่า สถานการณ์ภาระงานที่หนักยังมีผลทำให้เกิดการรักษาผิดพลาดเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ

สถานการณ์ที่ 2 โรงพยาบาลเอกชนให้บริการดีกว่า แต่ค่ารักษาแพงมากจนควบคุมราคาไม่ได้ คือมีราคาแตกต่างจากภาครัฐตั้งแต่ 60-400 เท่า ซึ่งประชาชนจำนวนหนึ่งพอมีกำลังจ่าย เพราะอดทนรอคิวรับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐไม่ไหว จึงพากันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งก็ไปพบกับอีกปัญหาหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคเอกชนต้องลงทุนสร้างโรงพยาบาลเอง เป็นการประกอบกิจการตามระบบการค้าเสรีย่อมหวังผลกำไรทางธุรกิจ

เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายและเกิดช่องว่างในด้านการบริการของรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนเจริญเติบโตมาก และมักกระจุกตัวกันอยู่ตามเมืองใหญ่ มี รพ.ในเครือ ก่อตั้งทั้งในระดับชาติและข้ามชาติ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรบุคคลไปจากภาครัฐ โดยเฉพาะหมอ พยาบาล ซึ่งเมื่อบุคลากรส่วนหนึ่งสมองไหลไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน บุคลากรส่วนที่เหลืออยู่ในระบบราชการก็ต้องแบกภาระงานเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งซ้ำเติมต่อคุณภาพบริการ

สถานการณ์ที่ 3 แพทย์กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค และการลาออกจากงาน

เมื่อปี 2560 ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งสิ้น 35,388 คน (ทั้งสังกัดรัฐและเอกชน) เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 66 ล้านคน สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมจะเท่ากับ 1 ต่อ 1,843 คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนแพทย์ต่อประชากรไม่ได้กระจายเท่ากันทุกพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น จ.บึงกาฬ มีแพทย์ทั้งหมด 84 คน ในขณะที่มีประชากรราว 420,000 คน สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรจึงเท่ากับ 1 ต่อ 5,021 คน สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รองลงมาคือ จ.หนองบัวลำภู 1 ต่อ 4,864 คน และ จ.นครพนม มีสัดส่วน 1 ต่อ 4,804 คน ซึ่งภาพรวมทั้งภาคอีสาน ทุกจังหวัดล้วนมีแพทย์จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขนาดประชากร ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีแพทย์ 8,865 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 630 คน หรือในจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ก็เช่นกัน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ในความเป็นจริงแล้วแพทย์ในจังหวัดเหล่านั้นก็ต้องดูแลผู้ป่วยที่เดินทางหรือถูกส่งตัวมาจากจังหวัดรอบๆ ด้วย

สำหรับปัญหากำลังคนที่มาจากภาวะสมองไหล จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือน ก.ค.65 ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นสถานการณ์กำลังคนในกระทรวงดังนี้

  • มีแพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข 40% ต่อปี
  • เวลาขอตำแหน่งแพทย์ไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) มักจะได้แค่ 80% ของที่ขอไป เนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณ
  • สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ไม่รวมแพทย์กำลังศึกษาอยู่ที่ 1 ต่อ 3,626 คน
  • สัดส่วนแพทย์ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1 ต่อ 548 คน แต่บางจังหวัด เช่น อีสาน อาจไปถึง 1 ต่อ 3,500 คน

นอกจากนี้ จำนวนพยาบาลลาออกก็มากเช่นเดียวกับแพทย์ จากเพจเฟซบุ๊คของเครือข่ายพยาบาล (Nurse Connect) ได้เปิดเผยข้อมูลจากสภาการพยาบาลว่า ระบบสาธารณสุขไทยกำลังสูญเสียพยาบาลออกจากระบบ ทั้งเกษียณ เสียชีวิต และลาออก คิดเป็นจำนวนต่อปีอยู่ที่ประมาณ 4% หรือคิดเป็นจำนวนคร่าวๆ อยู่ที่ 7,000 คน/ปี

อีกทั้งพยาบาลจบใหม่ มีแนวโน้มการลาออกทันทีสูงถึง 48.8% ในปีแรก และลาออกเพิ่มในปีที่ 2 ที่ 25% และแม้ว่ารัฐจะผลิตพยาบาลออกมาได้มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถแก้ไขปัญหากำลังคนนี้ให้หมดไปได้ และยังมีปัญหาสภาพการจ้างงานชั่วคราว กับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับภาระงาน ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ระเบิดเวลาของคนทำงานให้หมดไฟและทยอยหนีออกจากระบบไป

สถานการณ์ที่ 4 การจ้างงานชั่วคราว ขาดความมั่นคงในชีวิต

เรื่องราวการจ้างงานชั่วคราวไร้ซึ่งความมั่นคงในชีวิตถูกเปิดเผยอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายสนับสนุน และลามไปยังแพทย์ พยาบาลที่มีการจ้างงานเหมาช่วงมากขึ้น ถูกกดค่าล่วงเวลา พยาบาลเหมาบริการยังต้องวิ่งหางานหลายจ็อบเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น

ในที่นี้ขอยกกรณีสถานการณ์ปัญหาของลูกจ้างฝ่ายสนับสนุนในโรงพยาบาลของรัฐสังกัด สธ. กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 66 สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) นำสมาชิกสหภาพลูกจ้างของรัฐฯ จากทั่วทุกภูมิภาคกว่า 500 คนเดินทางมาติดตามข้อเรียกร้องกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บรรจุพนักงานชั่วคราวเป็นพนักงานประจำ ซึ่งผ่านการตกลงหารือกับ รมต.คนเดิมคือ น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเมื่อปี 2563 แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ สภาพที่ลูกจ้างชั่วคราวถูกกดขี่ คือ

  • จ้างงานไม่มั่นคงทำให้สถานะความเป็นอยู่สั่นคลอน เนื่องจากลูกจ้างของรัฐฯ เป็นลูกจ้างชั่วคราว ต่อสัญญาจ้างทุกปี, ทุก 4 ปี ทั้งจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) ในสายงานต่างๆ 56 สายงาน รวมทั้งสิ้น 1.4 แสนคน เช่น พนักงานขับรถยนต์ พนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานเปล เป็นต้น ซึ่งยังไม่นับแม่บ้านเอ๊าซอร์ซ
  • ถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่งานมีลักษณะประจำ แต่จ้างงานไม่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับพนักงานประจำของรัฐคนอื่นๆ ที่จ้างตรงจากเงินงบประมาณด้านบุคลากรของรัฐ ไม่ใช่จากเงินบำรุงของโรงพยาบาลที่จำกัด ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน เช่น ทำงาน ร.พ.เป็นเวลา 30 ปีจวนจะเกษียณแต่เงินเดือนยังอยู่ที่ 13,000 บาท
  • มีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง อยู่เวรจนไม่มีเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะช่วงโควิด ค่าล่วงเวลาก็ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พนักงานในโรงพยาบาลชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย ส่วนที่ได้ก็ได้รับเพียงเล็กน้อย แตกต่างจากพวกวิชาชีพอย่างมาก

กระทรวงฯ อ้างสารพัดเหตุผลว่า การปรับเป็นลูกจ้างประจำจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรมบัญชีกลางบ้าง กับหน่วยงานอื่นบ้าง นั่นคือ ไม่มีการทำงานผลักดันให้มีการพิจารณาข้อเรียกร้องของคนทำงานเหล่านี้อย่างจริงจัง ไร้ธรรมาภิบาล ทำลายขวัญกำลังใจของพนักงานอย่างมาก และเคยเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือการฆ่าตัวตายของลูกจ้างชั่วคราวอย่างคณาพันธุ์ ปานตระกูล เมื่อเดือนม.ค.ปี 2550 ทั้งนี้รูปแบบการจ้างงานชั่วคราวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของรัฐซึ่งเป็นนโยบายเสรีนิยมใหม่ มาพร้อมกับการที่รัฐส่งเสริมการแปรรูปกิจการสาธารณะ มองประชาชนเป็นลูกค้า ซึ่งรัฐทำไม่สำเร็จในกรณีร.พ. แต่สำเร็จในกรณีมหาวิทยาลัย

เมื่อลูกจ้างไม่ได้รับการดูแลจากรัฐซึ่งเป็นนายจ้าง ทั้งยังกดขี่ขูดรีดแรงงานจากหมอ พยาบาล บุคลากรฝ่ายสนับสนุน ก็ส่งผลต่อคุณภาพของการบริการ และทำให้คนต้องลาออกไปอยู่ ร.พ.เอกชนมากขึ้น ฉะนั้น เราก็จะพบเห็นปรากฏการณ์เดิมๆ คือประชาชนตาดำๆ ในชนบทต่อคิวรักษาหลายชั่วโมง ถึงกับต้องถามหาหมออยู่ที่ไหน ทำไมไม่มารักษาสักที ทั้งยังขาดเครื่องมือเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลจำต้องเดินทางไปรักษาที่ตัวจังหวัด และสุดท้ายกลุ่มคนที่เปราะบางกว่าก็เผชิญชะตากรรมด้วยตัวเอง

แต่เรายังไม่หมดหวัง การกดขี่ย่อมมีการต่อต้าน ปัจจุบัน มีการต่อสู้เรียกร้องมากขึ้นทั้งจากพยาบาล หมอกลุ่มใหม่ และกลุ่มองค์กรที่มีอยู่เดิม คือมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นสหภาพ สมาพันธ์ เครือข่าย เรียกร้องสิทธิแรงงาน ปรับปรุงสภาพการทำงาน และความมั่นคงในการทำงาน ซึ่งสามารถพัฒนาการรวมกลุ่มให้เป็นสมาพันธ์หรือสหพันธ์ ผนึกกำลังบุคลากรภาคการดูแลรักษาทุกคน รวมทั้งแม่บ้าน รปภ.ในโรงพยาบาลที่ถูกละเลย เพื่อให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

อ้างอิง
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป. (กันยาย 2562). ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข. จัดพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com