โดย รุเธียร
“แต่มาร์กซ์ รัฐสังคมนิยมของท่านไม่เลิกชนชั้นต่าง ๆ ให้เด็ดขาดออกไป เลยจะเกิดมีชนชั้นสองชนิดขึ้น คือผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ฝ่ายหนึ่งคือปัญญาชนฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นเผด็จการอย่างยิ่ง อวดวิเศษ เต็มไปด้วยความคิดอ่านของตัวเอง พวกนี้จะบงการในนามของความรู้ คนนอกจากนั้นคือมหาชนที่โง่เขลา ซึ่งจะคอยทำตาม” วิวาทะดังกล่าวมาจากบทสนทนาสมมติทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของมอริซ แครนสตัน เรื่อง Political Dialogues โดยวางกรอบให้ไมเคิล บาคูนิน และคาร์ล มาร์กซ์ โคจรมาพบกันในวันที่ 3 พฤศจิกายน 1864 และโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่าด้วยเรื่องอนาธิปไตยที่บ้านพักในกรุงลอนดอน
แม้โดยเป้าหมายของทั้งคู่คือการโค่นล้มชนชั้นนายทุนและกรุยทางไปสู่สังคมไร้ชนชั้นก็ตาม แต่บทสนทนาสมมติดังกล่าวก็ให้ภาพความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างลัทธิสังคมนิยมของมาร์กซ์และอนาธิปไตยของบาคูนิน ซึ่งกินใจความไปถึงนิยามของเสรีภาพ และความจำเป็นของการมีรัฐเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ
มาร์กซ์ : ถ้าปราศจากรัฐสังคมนิยมเสียแล้ว ท่านก็จะไม่สามารถมีความสงบได้ การปฏิวัติตามแบบของท่านจะนำการนองเลือด อัคคีภัยและการทำลายล้างมาให้อย่างแน่นอน แต่มันจะไม่ให้อะไรมากได้ไปกว่านั้นอีก
บาคูนิน : และการปฏิวัติตามแบบของท่านมาร์กซ์ จะนำสิ่งที่เลวกว่ามาให้อย่างสุดคณนาได้ นั่นคือความเป็นทาส
คำกล่าวหาของบาคูนินในบทสนทนานี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของมุมมองที่ฝ่ายเสรีนิยม หรือแม้แต่ฝ่ายซ้ายอื่น ๆ มองคอมมิวนิสต์ว่าท้ายที่สุดแล้วการมีรัฐเผด็จการกรรมาชีพจะนำไปสู่การปกครองอย่างทรราชย์เสมอ บาคูนินมองรัฐว่า “เป็นตัวทำลายสัญชาตญาณ เจตนารมณ์และปัญญาของมนุษย์เรา” มนุษย์ไม่อาจมีอิสรภาพได้ถ้ายังมีรัฐ และโครงการเศรษฐกิจการเมืองในแบบมาร์กซ์หลังการยึดอำนาจรัฐของชนชั้นกรรมกรจะไม่นำไปสู่การบรรลุถึงอุดมคติของสังคมไร้ชนชั้นได้ แต่นี่คือการมองอำนาจและมองรัฐอย่างขาดวิภาษวิธี
แน่นอนว่ารัฐไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากกลไกที่ชนชั้นหนึ่งใช้ปราบปรามอีกชนชั้นหนึ่ง และนักสังคมนิยมเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐทางการเมืองจะต้องสูญสลายหายไป แต่รัฐสังคมนิยมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในการเปลี่ยนชนชั้นกรรมกรให้เป็นชนชั้นปกครองเพื่อบดขยี้การต่อต้านของชนชั้นนายทุนและวางรากฐานของโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมให้เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ เมื่อระหว่างสมาชิกสังคมไม่มีความแตกต่างทางความสัมพันธ์ทางการผลิต รัฐก็ไม่มีความจำเป็นอื่นใดต้องดำรงอยู่อีกและต้องสิ้นสลายไปตามวิภาษวิธีของธรรมชาติ
อีกประการหนึ่ง เรามัก(ถูกทำให้)ได้ยินอย่างเป็นปรกติว่าทุนนิยมประชาธิปไตยคือจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ไม่มีทางเลือกใดดีกว่านี้และคอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว รัฐที่เป็นคอมมิวนิสต์ล้วนตกอยู่ในวังวนของคณาธิปไตยโดยพรรคฯ ความรุนแรงและการนองเลือด ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่นั่นไม่ใช่รัฐของชนชั้นกรรมาชีพในความหมายแบบมาร์กซิสต์ รัฐสังคมนิยมนั้นเป็นประชาธิปไตยโดยแท้ที่ทุกเสียงของผู้ถูกกดทับมีความหมาย แต่รูปธรรมที่เป็นอยู่คือรัฐเผด็จการรวมศูนย์แต่ขาดประชาธิปไตยโดยข้ารัฐการพรรคคอมมิวนิสต์แบบลัทธิสตาลิน-เหมาซึ่งเรืองอำนาจหลังเลนินถึงแก่อสัญกรรม เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักสังคมนิยมที่ต้องแยกความแตกต่างของลัทธิมาร์กซ์และลัทธิสตาลิน-เหมาออกจากกัน เพื่อสร้างยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การขุดรากถอนโคนสังคมเก่าอย่างแท้จริงโดยไม่ลงเอยที่ระบอบเผด็จอำนาจของพรรคปัญญาชน
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6