โดย กองบรรณาธิการ
สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะครบวาระ ๔ ปีในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๖ ซึ่งหากไม่มีการยุบสภา คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งจะได้เลือกตั้งส.ส. ในวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ บรรดาสื่อกระแสหลักต่างรายงานบรรยากาศการประชุมสภาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครบวาระ เราก็จะเห็นว่า มีเหตุการณ์สภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ มีข่าวบรรดา ส.ส.ต่างวิ่งเต้นเกี่ยวกับการย้ายพรรค มีการต่อรองก่อนการเลือกตั้ง สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่คุ้นตาของประชาชน และทำให้ชนชั้นปกครองสร้างแนวคิดขึ้นมาว่า เพราะคนจนเลือกคนเลวเข้าสู่สภา จึงทำให้ได้นักการเมืองเลว ไม่มีอุดมการณ์ และพวกนี้มักเสนอให้ เลือกคนดีเข้าสู่สภาฯ แต่สำหรับพวกเราแล้ว มันไม่เกี่ยวกับคนเลวหรือคนดี สาเหตุที่มีสภาพนักการเมืองเป็นเเบบนี้เกิดขึ้นก็เนื่องจากขาดพรรคการเมืองของคนจนที่มาจากมวลชนเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายขวาและผลักดันการเมืองในสภาให้ก้าวหน้า
ป้ายหาเสียงที่แต่ละพรรคได้ทำข้อเสนอออกมาช่วงเวลานี้ บางนโยบายถ้าเกิดขึ้นจริงก็เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การบริหารจัดการตนเองของต่างจังหวัด อาทิ ปาตานี แต่ป้ายข้อเสนอของแต่ละพรรค เมื่อพวกพรรคการเมืองได้จัดตั้งเป็นรัฐบาล พวกเขาก็หาได้ทำตามนโยบายที่ให้ไว้แต่อย่างใดไม่ เช่น พรรคพลังประชารัฐเสนอนโยบายในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า ค่าแรงขึ้นต่ำ ๔๐๐-๔๒๕ บาทต่อวัน ปริญญาตรีเงินเดือน ๒๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น และมากกว่านั้นคือคณะรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐกับพวกได้ทำการปล้นทรัพยากรประเทศไทยและเอื้อประโยชน์กับพวกชนชั้นนายทุนอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะปล่อยให้มีการควบรวมกิจการที่เป็นกิจการเกี่ยวข้องกับการอาหารการกิน เช่น แมคโคร โลตัส เซเว่น และการบริการสื่อสาร เช่น ทรูกับดีแทค แต่ในอดีตย้อนไปไม่ไกลนัก พรรคไทยรักไทยลงสมัครหาเสียงเลือกตั้ง ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทยเพื่อแข่งขันกับเวทีโลกได้ ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร ซึ่งเมื่อพรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาล พวกเขาก็ได้นำนโยบายมาทำจนเป็นผลสำเร็จ และทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมสูงมาก การดำเนินการของพรรคไทยรักไทยได้เปลี่ยนเเปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยมองว่าคนจนเป็นผู้ร่วมพัฒนา ไม่ได้มองว่าคนจนเป็นภาระ อันเป็นการทำเเนวร่วมประชาธิปไตยผ่านนโยบายการเลือกตั้งกับประชาชน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พรรคไทยรักไทย สามารถครองใจคนจนได้ จนกระทั่งพวกอำมาตย์ไม่พอใจและนำไปสู่การทำรัฐประหารโดยกองทัพในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
จากสภาพข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า พรรคการเมือง นักการเมือง มีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ทำไมก่อนและหลังเลือกตั้งมีสภาพแตกต่างกัน และจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เคียงข้างประชาชน หลายคนอาจจะบอกว่า พรรคเพื่อไทย/ไทยรักไทย พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ยืนข้างประชาชน แต่หากพิจารณาจากนโยบายทางเศรษฐกิจแล้ว เราจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลยึดมั่นแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจอยู่มาก ส่วนพรรคเพื่อไทย/ไทยรักไทยใช้สองระบบผสมกัน โดยในด้านหนึ่งเน้นลงทุนภาครัฐ และในขณะเดียวกันก็ดำเนินเเนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เน้นแปรรูป ซึ่งนโยบายเเบบเคนส์ได้เอื้อประโยชน์ให้กับคนจนอยู่บ้าง อย่างที่กล่าวมาข้างต้น
บทบรรณาธิการฉบับนี้ จะพาผู้อ่านย้อนอดีตไปเมื่อหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ บรรยากาศสังคมในเวลานั้นตื่นตัวมาก กระแสการต่อสู้ของพลเมืองไทยขึ้นสูง มีการนัดหยุดงานประท้วงนายจ้างให้ขึ้นค่าแรง และจัดให้มีสวัสดิการต่างๆ ในที่ทำงาน และเมื่อรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ กำหนดให้มีการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ห่างร้างไปนานถึง ๖ ปี มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่พากันลงสมัคร และมีพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคของนายทุน แต่เป็นพรรคเกิดขึ้นจากการรวมตัวของปัญญาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ชาวไร่ ชาวนา คนธรรมดาเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ โดยพวกเขาเชื่อว่า การต่อสู้ของประชาชนต้องมีพรรคการเมืองและดำเนินนโยบายทางการทางเมืองด้วยแนวคิดสังคมนิยม และได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็น ส.ส. เช่น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้ ส.ส.ถึง ๑๕ คน มีพันเอกสมคิด ศรีสังคม เป็นหัวหน้าพรรค และบุญสนอง บุญโยทยาน อาจารย์สอนมหาวิทยาลัย เป็นเลขาธิการพรรค พรรคแนวร่วมสังคมนิยม มีแคล้ว นรปิติ เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส. ๑๐ คน พรรคพลังใหม่ ๑๒ คน (แต่ทั้งสองพรรคหลังนี้ได้ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง)
ในวันก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยปี ๒๕๑๗ พรรคมีคำประกาศออกสู่สาธารณชน ซึ่งคำประกาศดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวให้กับบรรดาเศรษฐี และชนชั้นนายทุนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็สร้างความหวังให้กับคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ด้วย พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยพูดถึงอุปสรรคในการพัฒนาสังคมไทยคือบรรดาอภิสิทธิชน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมต่างพยายามรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และฐานะทางชนชั้นของตน และความทุกข์ยากของประชาชนเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางชนชั้น อภิสิทธิชนเพียงหยิบมือเดียวได้เบียดเอาผลประโยชน์ของมวลชนไปเสียสิ้น และพวกเขาประกาศนโยบายเด่นชัดว่า คัดค้านนายทุน เจ้าขุนมูลนายและจักรวรรดินิยมต่างชาติ และจะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยด้วยแนวทางอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างแท้จริง ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยในรูปธรรมมีการเสนอให้มีการปฏิรูปที่ดิน เรียนฟรี รัฐต้องรับผิดชอบโดยตรงเมื่อลูกจ้างว่างงาน และโอนกิจการธนาคารพาณิชย์มาเป็นของรัฐ เป็นต้น
เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ถึง ๑๕ คน บรรดา ส.ส.ของพรรคสังคมนิยมฯ ทำหน้าที่ในสภาได้ไม่นานก็ถูกฝ่ายขวาปราบหนัก โดยเฉพาะการลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรค ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ แต่ก่อนหน้านั้นมีการลอบสังหาร ผู้นำกรรมกร ชาวนา ชาวไร่ มาแล้วถึง ๒๗ คน และพรรคสังคมนิยมฯ ยุติบทบาทในเมืองอย่างสิ้นเชิงหลังเหตุการณ์ล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหดโดยเผด็จการขวาจัด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ประวัติศาสตร์ของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจึงทำให้เราเห็นว่า พรรคการเมืองที่ไม่ได้จัดตั้งโดยชนชั้นนายทุนสามารถเกิดขึ้นได้ และคนจนไม่เคยปฏิเสธแนวคิดสังคมนิยม มีแต่พวกชนชั้นนายทุนและลิ่วล้อ กับชนชั้นนายทุนน้อยเท่านั้นที่ปฏิเสธแนวคิดสังคมนิยมและขัดขวางทุกทางผ่านกลไกกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ในอดีต บิดเบือนเเนวคิดผ่านหลักสูตรการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงปริญญา และผ่านคำสอนทางศาสนา เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6