Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ใครกดขี่สตรี “ชาย” หรือ “ชนชั้น”

โดย วัฒนะ วรรณ

“แนวโน้มเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศจะเป็นไปในทิศทางใดถ้าเรามีสังคมใหม่ที่เราร่วมกำหนด? สิ่งใดที่จะถูกยกเลิกหลังจากที่ได้มีการล้มล้างระบบทุนนิยมไป? อะไรใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา? คำถามเหล่านี้ จะถูกตอบโดยคนอีกรุ่นหนึ่งที่เติบโตขึ้นจากวิถีการผลิตแบบใหม่ ชายรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักการซื้อขายหญิงด้วยเงินตราหรือตำแหน่ง ยศศักดิ์ และอำนาจทางสังคม หญิงรุ่นใหม่ที่รู้จักการมอบกายให้กับชายโดยมีเงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือ “ความรัก” ยิ่งกว่านั้นเธอจะไม่รู้จักความกลัวว่าถ้าไม่ยอมกระทำตามความต้องการของชายที่ตนรัก จะมีผลร้ายที่ต้องเผชิญทางด้านเศรษฐกิจ”

“และเมื่อคนเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นเต็มโลกใบใหม่ เขาจะไม่สนใจว่าคนยุคอดีตจะมองพฤติกรรมของเขาเช่นไร พวกเขาจะกำหนดประเพณีการปฏิบัติค่านิยมต่าง ๆ ของสังคมใหม่ขึ้นมา กลายเป็นวัฒนธรรมที่รับใช้มนุษย์อย่างแท้จริง”

(Engels 1978, 96)

“ท่านยังอายุน้อย ท่านรักกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข อย่ากลัวการแต่งงานถึงแม้ว่าการแต่งงานในระบบทุนนิยมเคยเป็นโซ่ล่ามชายกับหญิง ที่สำคัญที่สุดอย่ากลัวการให้กำเนิดของคนงานรุ่นใหม่ พลเมืองใหม่ที่เป็นเด็ก สังคมกรรมาชีพต้องการพลังการผลิตใหม่ๆ เราต้อนรับเด็กเกิดใหม่ทุกคน ท่านไม่ต้องเป็นห่วงอนาคตของลูก ลูกท่านจะไม่รู้จักความหิวหรือความหนาว ลูกของท่านจะไม่ถูกทอดทิ้งและไร้ความสุขเหมือนหลายกรณีในสังคมทุนนิยม เด็กตั้งแต่แรกเกิดและแม่ทุกคนจะได้รับอาหารเพียงพอและการดูแลที่เหมาะสมจากสังคมคอมมิวนิสต์, จากรัฐกรรมาชีพ เด็กทุกคนจะมีอาหารการกิน จะได้รับการเลี้ยงดู และจะได้รับการศึกษาจากบิตุภูมิคอมมิวนิสต์ แต่บิตุภูมินี้จะไม่แย่งลูกของท่านไป ผู้ปกครองใดต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษากับลูกก็ทำได้ สังคมคอมมิวนิสต์จะรับภาระในการให้การศึกษาเด็ก แต่ความสุขของการเป็นพ่อแม่จะไม่ถูกแย่งไปจากผู้ใดที่มีความสามารถเพียงพอและเห็นความสำคัญของความสุขประเภทนี้”

(Alexandra Kollontai, อ้างอิงใน ใจ อึ๊งภากรณ์ ๒๕๔๕, ๑๒๘)

สองประโยคที่ยกมาแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของนักมาร์คซิสต์ในการทำความเข้าใจปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพศและการกดขี่สตรีที่ซับซ้อน และสร้างข้อเสนอรูปธรรม

ในหนังสือ “กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระเบียบสังคมของมนุษย์” ของ Friedrich Engels แปลและเรียบเรียงโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ อธิบายว่า การกดขี่สตรีไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นธรรมชาติจากสภาพร่างกายที่แตกต่างกันของหญิงชาย แต่มันถูกสร้างขึ้นมาจากความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป จากระบบที่ไม่มีการสะสมมูลค่าส่วนเกิน พัฒนาการผลิตไปจนสังคมมีมูลค่าส่วนเกินเหลือพอให้สะสม ชายทื่ถืออาวุธล่าสัตว์ได้เปรียบหญิงที่รับผิดชอบงานบ้านและการดูแลเด็ๆ ตั้งแต่ยุคบุพกาล เมื่อชายกลุ่มหนึ่งถือปัจจัยการผลิต เลี้ยงสัตว์ได้ เริ่มสะสมมูลค่าส่วนเกิน พวกเขาต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของทรัพย์สินส่วนบุคคลจึงจำต้องส่งต่อมรดกไปสู่ลูกๆ ของพวกเขา จากแต่เดิมที่ลูกๆ จะรู้เพียงว่าใครเป็นแม่ แต่จะไม่รู้เลยว่าใครเป็นพ่อ ในยุคสมรสหมู่หรือครอบครัวหมู่

เมื่อสังคมพัฒนาไปเช่นนี้ ชายก็สะสมมูลค่าส่วนเกินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็เริ่มสะสมทาสสตรี และข่มเหงสตรีทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจเรื่อยมา แต่นั่นเป็นชายชนชั้นปกครองมิใช่ชายชนชั้นล่าง ถึงแม้จะมีชายชนชั้นล่างจะพยายามทำตามพวกชนชั้นปกครองบ้าง แต่นั่นก็เพราะเขาเติบโตมาในสังคมที่พบเห็นการกดขี่เกิดขึ้นราวกับเป็นธรรมชาติ

แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงสิทธิสตรีที่ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย ปี 1917 โดยมี อาเลคซานดรา คอลอนไท นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่สำคัญที่สุดในยุคนั้นมีบทบาทสำคัญ

หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม คอลอนไท ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม เธอมีส่วนในการเสนอกฏหมายที่ก้าวหน้าที่สุดเกี่ยวกับสิทธิสตรีในโลกในยุคนั้น สตรีรัสเซียได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งก่อนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มีการออกกฏหมายปกป้องสิทธิสตรี กฏหมายเพื่อปฏิรูปการหย่าร้างให้ง่ายและรวดเร็ว และกฏหมายสนับสนุนสิทธิในการคุมกำเนิดและการทำแท้ง มีการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล โรงเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร และโรงซักผ้าสาธารณะ เพื่อ “แยกครัวออกจากการแต่งงาน”

ในสังคมไทย เราอยู่ในยุคที่การต่อสู้สิทธิสตรีมีก้าวหน้า และมีอิทธิพลในสังคมไม่น้อย สตรีเริ่มมีสิทธิในร่างกายตนเองสามารถเลือกทำแท้งได้ถึงแม้จะยังมีอุปสรรคอยู่ ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี สิทธิทางเพศ LGBTQ มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมา ถึงแม้จะพ่ายแพ้ก็ตาม แต่ก็ทิ้งร่องรอยของความก้าวหน้าในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเอาไว้ในขบวนการประชาธิปไตย มันเป็นการต่อสู้ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิสตรีและเสรีภาพทางการเมือง แต่ในขบวนการสิทธิสตรีก็ยังมีคำถามสำคัญที่เราจะต้องถกเถียงกันระหว่างต้นเหตุของการกดขี่สตรีมาจาก “แนวคิดชายเป็นใหญ่” หรือมาจากสังคม “ชนชั้น”

เราถกเถียงเรื่องสำคัญนี้ ไม่ใช่เพื่อเป็นศัตรูกัน แต่เพื่อหายุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดถูกต้องมากที่สุด นำพาขบวนการไปสู่การปลดแอกสตรีอย่างถาวร

นักมาร์คซิสต์มองว่าแนวคิดชายเป็นใหญ่มีปัญหาไม่สามารถใช้นำการต่อสู้ได้ เพราะมองการกดขี่สตรีมาจากลักษะความแตกต่างของเพศ ซึ่งมันสามารถชักนำให้ขบวนการสตรีทำแนวร่วมข้ามชนชั้น หรือไปสนับสนุนจุดยืนของชนชั้นกลางและชนชั้นนายทุน เช่นการเน้นจำนวนสัดส่วนผู้หญิงในสภา หรือในสัดส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครอง แทนที่จะสร้างความร่วมมือกับกรรมาชีพชายเพื่อต่อสู้ล้มระบบชนชั้น ระบบชนชั้นเป็นแอกที่หนักของทั้งกรรมาชีพชายและกรรมาชีพหญิง ไม่ว่าชนชั้นปกครอง ชนชั้นนำ ผู้บริหารระดับสูงในกิจการต่างๆ จะมีสัดส่วนผู้หญิงมากเพียงใด คุณภาพชีวิตของหญิงและชายกรรมาชีพก็จะไม่ดีขึ้น แรงกดดันต่างๆ ยังถาโถมเข้าสู่ครอบครัว การแต่งงาน การมีลูก ยังเป็นภาระที่หนักอึ้ง สร้างความกังวล

นักมาร์คซิสต์มองว่าระบบ “ชนชั้น” เป็นปัญหาสำคัญเริ่มต้นของการกดขี่สตรี การต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ภายในระบบทุนนิยมมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เราไม่ปฏิเสธเรื่องนั้น แต่มันยังไม่พอที่จะสร้างการเปลี่ยนอย่างถาวรถ้าไม่ล้มระบบทุนนิยม องค์กรสังคมนิยมแรงงานขอชวนผู้ที่รักความเป็นธรรมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงสิทธิสตรี สิทธิทางเพศไปไกลกว่านี้ มาร่วมกันสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเพื่อรื้อฟื้นขบวนการแรงงาน สร้างความร่วมมือกันระหว่างกรรมาชีพทั้งชายและหญิง เพื่อเป็นกองหน้านำการต่อสู้ล้มระบบชนชั้น ปลดแอกสิทธิสตรี สิทธิทางเพศไปพร้อมกัน


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com