โดย สหายเข็มแดง
ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์มีคำกล่าวหนึ่งว่า “มีคนกล่าวหาว่าชาวคอมมิวนิสต์ต้องการที่จะยกเลิกปิตุภูมิและประเทศชาติ…แน่นอนที่สุด! เพราะชนชั้นแรงงานไม่มีชาติ และชนชั้นแรงงานทั่วโลกต่างเป็นพี่น้องกัน”
ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่มีต้นสายจากมาร์กซ์ ปฏิเสธแนวคิดแบบชาตินิยมและสร้างความเป็นสากลอย่างมาก แต่หลายคนคงสับสนว่า ถ้าเกิดว่าแนวคิดมาร์กซิสต์ปฏิเสธลัทธิชาตินิยมจริง แล้วจะอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในช่วงศตวรรษที่ 20 อย่างไร เมื่อขบวนการส่วนใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ล้วนขับเคลื่อนด้วยแนวคิดชาตินิยม
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ขบวนการคอมมิวนิสต์ช่วงศตวรรษที่ 20 ส่วนใหญ่เป็นขบวนการที่มีต้นธารทางความคิดมาจากสตาลิน จากระบอบข้าราชการแดงในโซเวียตหลังสงครามกลางเมืองในรัสเซียที่กรรมาชีพในโซเวียตเหลือน้อยมาก และกำลังการผลิตอยู่ในสภาวะที่ร่อยหรอ จึงเปิดโอกาสให้พวกข้าราชการในโซเวียตทำการปฏิวัติซ้อน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พรรคคอมมิวนิสต์ที่สังกัดองค์กรคอมมิวนิสต์สากล ในช่วงที่สตาลินมีบทบาทนำ จำเป็นที่จะต้องทำตามนโยบายความร่วมมือข้ามชนชั้นที่สตาลินและพวกข้าราชการแดงออกแบบมาเพื่อให้โซเวียตมีพันธมิตรในการปกป้องชาติ แต่ในทางตรงกันข้ามการกระทำเช่นนี้เป็นการชะลอการต่อสู้ทางชนชั้นให้เป็นปัญหารองทางการเมืองเช่นกัน เพราะในประเทศตะวันตกหลายประเทศที่มีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่จะต้องคอยทำตามนโยบายสตาลิน
เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือสงครามกลางเมืองในสเปนที่พรรคคอมมิวนิสต์ละทิ้งการต่อสู้ของกรรมกรและกลับหันไปสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้น ที่มีสมาชิกในขบวนการอยู่หลากหลายชนชั้นมาก โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อสร้างประชาชาติประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นนโยบายการปฏิวัติ 2 ขั้นตอนของสตาลิน ที่มองว่าการปฏิวัติในขั้นแรกจะต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อสร้างประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนก่อน เพื่อให้ทุนนิยมทำงานได้อย่างเต็มที่ และค่อยสร้างสังคมนิยมทีหลัง โดยที่สตาลินละทิ้งการพิจารณาระบบทุนนิยมในยุคนั้นว่า ปัญหาของทุนนิยมในยุคนั้นไม่ใช่การที่บางส่วนของภูมิประเทศเป็นศักดินา และในตัวเมืองเป็นทุนนิยม ระบบทุนนิยมได้เข้าไปในทุกภาคส่วนของสังคมอยู่แล้ว สิ่งที่แตกต่างกันคือระดับการพัฒนาของทุนนิยมในประเทศที่มีบางส่วนเป็นอุตสาหกรรมแล้ว แต่บางส่วนเป็นทุนนิยมที่ยังเป็นระบบเกษตรที่ยังพัฒนาช้าเพียงเท่านั้น
นโยบายดังกล่าวมีอิทธิพลกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกอย่างมาก ที่มองว่าประเทศเป็น “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” จึงมีการวิเคราะห์การต่อสู้ว่าให้ทำแนวร่วมกับพวกขบวนการชาตินิยมชนชั้นนายทุนเพื่อขับไล่พวกจักรวรรดินิยมออกไป ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดและมีอิทธิพลต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชียมากๆ คือ การร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคก๊กมินตั๋งในช่วงปี 1926 ในการพัฒนาชาติจีน โดยที่สมาชิกพรรคไปเข้าร่วมพรรคก๊กมินตั๋งตามนโยบายของสตาลิน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ทุนนิยมเติบโตในจีนและทำการปฏิวัติได้ แต่ผลตรงกันข้ามคือ เจียง ไคเช็ค ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งในช่วงเวลานั้นที่มีสั่งกวาดล้างทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เหมาเจ๋อตุงและสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ต้องหลบหนีเข้าไปเคลื่อนไหวในป่า และสร้างทฤษฎีป่าล้อมเมืองขึ้นมา กล่าวคือกำลังหลักของการปฏิวัติกลับไม่ใช่กรรมาชีพอีกต่อไป แต่เป็นชาวนาติดอาวุธแทน โดยให้เหตุผลว่าในจีนตอนนั้นมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่ย้อนแย้งกันคือ ความจริงแล้วการปฏิวัติในรัสเซียช่วง 1917 ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศก็เป็นชาวนาเช่นกัน แต่เลนินและบอลเชวิคก็ยังคงให้กรรมาชีพเป็นหัวหอกของการปฏิวัติโดยมีชาวนายากจนเป็นแนวร่วม
การปฏิวัติของเหมาในจีนมีอิทธิพลมากต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นการปฏิวัติในเวียดนาม ที่การปฏิวัตินำไปสู่การสร้างสังคมที่ยังมีการขูดรีดแรงงานโดยพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ เนื่องจากขบวนการปฏิวัติใช้แนวคิดชาตินิยมในการขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกาและทำแนวร่วมกับพวกนายทุนชาติ และนายทุนน้อย ผลสรุปคือหลังการปฏิวัติในปี 1975 มีการขับไล่คนเชื้อสายจีนทุกคนในเวียดนามพร้อมกับชาวตะวันตก พร้อมกับปิดประเทศเพื่อตัดตัวเองออกจากโลกภายนอกและขูดรีดคนงานในประเทศ โดยที่เวียดนามไม่มีสภาคนงานในการบริหารสังคมเลย ทั้งๆ ที่การต่อสู้ของกรรมกรเวียดนามในเมืองเหง๋ตินในช่วง 1930 ได้สร้างสภาคนงานขึ้นมา และเป็นการต่อสู้ของคนงานจริงๆ และหลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์กลับใช้นโยบายชาตินิยมซึ่งทำให้พลังของคนงานถูกแทนที่ด้วยชาวนาติดอาวุธและพวกเจ้าของที่ดิน ด้วยเหตุผลว่า “พวกเขารักชาติ”
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6