Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

บอยคอตท่อน้ำเลี้ยงเผด็จการเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพจริงหรือ

โดย แพรพลอย

เมื่อสามปีก่อนหลังนายรังสิมันต์ โรม ส.ส. จากพรรคก้าวไกลอภิปรายไม่ไว้วางใจหน้ารัฐสภาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของมูลนิธิป่ารอยต่อที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณนั่งเป็นประธาน และมีการรับบริจาคเงินจากนายทุนรายใหญ่ซึ่งบริษัทซีพีเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีรายชื่อเป็นผู้บริจาคเงินเข้ามูลนิธิ กระแสการรณรงค์ให้คว่ำบาตรหรือบอยคอตสินค้าของเจ้าสัวซีพี เช่น #pausemob หรือ #เว้นเซเว่นทุก Wednesday ก็ดังขึ้นบนโลกทวิตเตอร์ เนื่องจากชาวทวิตเตอร์มองว่าบริษัทเหล่านี้เป็น “ท่อน้ำเลี้ยงของเผด็จการ” และเลือกใช้วิธีการบอยคอตสินค้าหรือการรณรงค์ให้ผู้บริโภคงดซื้อผลิตภัณฑ์บางชนิดจากตลาดเพื่อกดดันให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบกิจการเป็นวิธีในการต่อสู้กับบรรดาเจ้าสัว

ซึ่งการบอยคอตเป็นวิธีการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันทั้งในไทยและในระดับสากล เช่น ล่าสุดหลังมีการเปิดโปงเรื่องการใช้แรงงานทาสสร้างสนามฟุตบอลในการ์ตา กระแสการรณรงค์ให้แบนการแข่งขันฟุตบอลโลกก็ตามมาเช่นกัน หรือหลังจากสารคดี Seaspiracy ซึ่งเป็นสารคดีตีแผ่อุตสาหกรรมประมงของค่ายเน็ตฟลิกซ์ถูกปล่อยออกมาในปี 2021 นอกจากสารคดีนี้จะดังเป็นพลุแตกจนติดหนึ่งในสิบรายการที่มีคนดูมากที่สุดในปีนั้นแล้ว ยังได้สร้างทั้งความตระหนักรู้ทางด้านอุตสาหกรรมประมงกับสิ่งแวดล้อมและสร้างกระแสการบอยคอตอาหารทะเลขึ้นด้วย แต่ “การบอยคอต” เป็นวิธีการต่อสู้ที่ดีและจะสามารถช่วยท้องทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมได้จริงหรือ?

ยกตัวอย่างกรณีบริษัทโคคา-โคล่าหรือบริษัทโค้กซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่ขายสินค้าของตัวเองไปทั่วโลก ในยุคที่ระบบทุนนิยมแผ่ขยายตัวไปทั่วโลกและสร้างการผูกขาดทางการค้า การบอยคอตจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้บริโภคโค้กทั่วโลกพร้อมใจกันไม่ซื้อสินค้าที่ตัวเองชอบ ดังนั้นการรณรงค์จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นในระดับสากลจากประเทศทางซีกโลกเหนือที่ร่ำรวยไปจนถึงประเทศทางซีกโลกใต้ที่ยากจน ขณะเดียวกันในบางประเทศ เช่น เม็กซิโก ราคาน้ำขวดอัดลมกลับถูกกว่าราคาน้ำดื่มสะอาด นอกจากนี้โค้กยังเป็นเจ้าของเครื่องดื่มอย่างอื่นด้วย เช่น น้ำผลไม้ยี่ห้อ “ทรอปิโก” (Tropico) หรือเครื่องดื่มชูกำลัง “อควอเรียส” (Aquarius) ในปี 2016 เว็บไซต์ i-boycott.org ได้จัดแคมเปญคว่ำบาตรบริษัทโค้กขึ้นด้วยเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อม และแม้โค้กจะตกเป็นเป้าโจมตีของการบอยคอต แต่บริษัทก็ยังคงดำเนินการได้ตามปกติและแคมเปญนี้ยังคงลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2017 เว็บไซต์ i-boycott.org รณรงค์ให้มีการบอยคอตบริษัทผลิตเส้นพาสต้าแพนซานี (Panzani) ในประเด็นที่บริษัทใช้ไข่ไก่จากแม่ไก่ในเล้าปิดมาทำเส้นพาสต้า ในครั้งนั้น i-boycott.org ประกาศบนเว็บไซต์ว่าได้รับชัยชนะ หลังแพนซานีแถลงการณ์ว่าจะใช้ไข่ที่มาจากแม่ไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มเปิดโล่ง 100% ภายในปี 2025 แต่คำสัญญาลอย ๆ ของแพนซานีถือว่าเป็นชัยชนะแล้วอย่างนั้นหรือ? แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแพนซานีรักษาสัญญา? โดยปกติแล้วในบริษัทใหญ่เช่นนี้โครงสร้างบริษัทมีความซับซ้อนเพราะมีทั้งบริษัทลูกและบริษัท outsource ในลักษณะที่แม้แต่คนงานในบริษัทนั้นไม่สามารถรู้ได้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตพาสต้ามาจากไหน

เมื่อทั้งคนงานและผู้บริโภคไม่สามารถควบคุมและเข้าถึงข้อมูลของบริษัทนั้นได้ การชี้วัดว่าไข่ที่นำมาใช้มาจากไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มเปิดโล่งจริงหรือไม่นั้นทำได้ยาก นอกจากนี้ นายมาร์ค ดริลเลช (Marc Drillech) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือ “การบอยคอต: ฝันร้ายของบริษัทและการเมือง” (Le boycott: le cauchemar des entreprises et des politiques) เปิดเผยว่าบริษัทใหญ่เหล่านี้ยังมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดเพื่อรับมือกับการบอยคอตผ่านการสื่อสารอีกด้วย

และหากต้องการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน การแบนบริษัทโค้กที่ผลิตขยะพลาสติกจำนวนมากนั้นเพียงพอแล้วจริงหรือ เมื่อสาเหตุที่โค้กเปลี่ยนจากเดิมที่บรรจุในขวดแก้วมาเป็นขวดพลาสติกในช่วงทศวรรษ 90 ก็เพราะขวดพลาสติกมีราคาถูกกว่าขวดแก้ว ในส่วนของผักและผลไม้ออร์แกนิคที่แม้จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับหนึ่งเพราะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาหญ้าแมลง แต่กลับมีปัญหาเรื่องการผลิตขยะพลาสติกเช่นเดียวกันกับโค้ก เนื่องจากมีการใช้พลาสติกห่อหุ้มเพื่อแยกผักออร์แกนิคออกจากผักที่ไม่ออร์แกนิค และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สินค้าเหล่านี้เริ่มมีราคาที่เอื้อมถึงได้และแพร่หลายในประเทศซีกโลกเหนือที่ร่ำรวยอย่างยุโรปนั้นมาจากการเพาะปลูกในประเทศยากจนทางซีกโลกใต้ที่มีค่าแรงราคาถูก และนั่นก็หมายความว่าสินค้าเหล่านี้ต้องเดินทางไกลไปพันกิโลเพื่อมาถึงมือผู้บริโภค ซึ่งขั้นตอนการขนส่งนี้เองก็เป็นขั้นตอนที่ก่อมลพิษ

ดังนั้น หากต้องการให้กลยุทธ์นี้ได้ผล การบอยคอตบริษัทโค้กเพียงบริษัทเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องบอยคอตอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตพลาสติกและผู้ก่อมลพิษ หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรคก็สร้างมลภาวะและทำให้แม่น้ำเป็นพิษ โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในปี 2022 เปิดเผยว่าพบส่วนผสมของยารักษาโรค เช่น พาราเซตามอล หรือยารักษาโรคเบาหวานจากแม่น้ำ 258 แห่งใน 100 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น หากต้องการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอาจจำเป็นต้อง…บอยคอตทุกอย่าง แต่ถ้าเราบอยคอตทุกอย่างแล้วเวลาหิวเราจะกินอะไรหรือเราจะใช้อะไรรักษาตัวเวลาป่วย?

การบอยคอตนั้นไม่เพียงพอหากต้องการทำลายท่อน้ำเลี้ยงของเผด็จการหรือแม้กระทั่งเผด็จการ เพราะสิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เหล่าเจ้าสัวสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการคือผลกำไรและความต้องการทำลายคู่แข่งเพื่อผูกขาดทางการค้า ซึ่งเป็นอาการที่มาจากระบบทุนนิยมที่มีแนวคิดมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดโดยทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นแรงงานเงินเดือนน้อยไม่ใช่พระเจ้า ยกตัวอย่างแรงงานจนในเม็กซิโกที่ต้องดื่มน้ำอัดลมแทนน้ำเปล่าเพราะมีราคาถูกกว่า ปัจจุบันสำนักข่าว Equal Times รายงานว่า กว่า 75% ของชาวเม็กซิกันที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานและเป็นโรคอ้วน

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ในรูปแบบของผู้บริโภคนั้นแม้จะเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายแต่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่ได้มีเป้าหมายในการทำลายระบบทุนนิยมที่เป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่างบนโลก ตั้งแต่การใช้แรงงานอุยกูร์ การทรมานสัตว์ ไปจนถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงทางการเงินและไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่านายทุนเพราะมีความเสี่ยงโดนไล่ออก อีกทั้ง การบอยคอตไม่ได้สร้างความสมานฉันท์ในหมู่คนงานเพื่อโค่นล้มนายทุนที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ

วิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพคือวิธีการต่อสู้ในรูปแบบของแรงงานที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิตและกระบวนการผลิต และถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจจากนายทุนที่สนใจแค่ผลกำไรมายังผู้ผลิตสินค้าตัวจริงอย่างคนงาน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ทำได้ยากกว่าเพราะต้องใช้การจัดตั้งมวลชน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท SCOP-TI อดีตบริษัทผลิตชาฝรั่งเศสในเครือยูนิลิเวอร์ที่คนงานได้กลายเป็นเจ้าของร่วมกันในปี 2014 ตามการรายงานของสำนักข่าวเรอป็อคแต (Reporterre) ของฝรั่งเศสในปี 2019 คนงานในบริษัทตัดสินใจสั่งใบลินเดน (Linden) ที่ใช้ในการทำชาจากเดิมที่ยูนิลิเวอร์สั่งมาจากจีนและอเมริกาใต้เป็นแคว้นโรนาลป์ (Rhône-Alpes) ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงงาน และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศที่กำลังพ่ายแพ้ต่อการแข่งขันกับจีนอีกด้วย

นอกจากนี้ในด้านของระดับการรณรงค์ การบอยคอตเป็นวิธีการที่ต้องจูงใจคนจำนวนมาก เช่น หากโรงงาน ก. มีคนงานจำนวน 300 คน ผลิตสินค้าให้คนจำนวน 1 แสนคน นั่นหมายความว่า การบอยคอตจะสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจูงใจคนส่วนใหญ่จากจำนวน 1 แสนคนที่เป็นผู้บริโภคของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ขณะที่ในการต่อสู้ในรูปแบบของแรงงานที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในกระบวนการผลิตจากภายในจำเป็นต้องมีการจูงใจคนจำนวนแค่ 300 คนที่เป็นคนงานในโรงงานเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในบริษัท SCOP-TI เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า การที่คนงานเข้าครอบครองบริษัทยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทนี้เพียงบริษัทเดียวนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทุนนิยมที่เราอยู่ได้ คนงานทั่วโลกต้องยึดเอาบริษัทนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต เพิ่มประชาธิปไตยภายในองค์กร และความเท่าเทียมเป็นธรรมกับทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com