โดย ทาเคโอะ ยูกิ
“เราไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ประเภทที่ไม่สนใจเสรีภาพปัจเจก เราไม่มีความปรารถนาที่จะแลกเสรีภาพกับความเสมอภาคเท่าเทียม เราม้่นใจว่าไม่มีระบบสังคมไหนที่จะประกันเสรีภาพได้ นอกจากระบบสังคมที่ทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม”
มาร์กซ์และเองเกิลส์
พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยจัดประชุมสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ประกาศนโยบาย เปลี่ยนตัวผู้นำให้มีอายุน้อยลง ให้ดูก้าวหน้าทันสมัยสอดรับกับการเปิดประเทศเป็นระบบกลไกตลาดเสรี คือ แทนที่จะเป็นรุ่นคุณปู่อายุ 70-80 ก็ลดมาที่ 50-60 ปี แต่ประธานาธิบดีกลับอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต ที่แล้วมาการเปลี่ยนเกณฑ์การรับสมาชิกที่ไม่จำกัดเฉพาะกรรมาชีพ แต่สามารถรับนายทุนเข้าเป็นได้ เหตุผลง่ายๆคือหลายปีมานี้สมาชิกพรรคสายข้าราชการแดง ได้ผันตัวเป็นนายทุนกันไปหมดแล้ว หากยังใช้กฎเดิม สมาชิกกว่าครึ่งคงขาดคุณสมบัติ แล้วใครจะค้ำจุนระบบทุนนิยมโดยรัฐ ที่เป็นเผด็จการต่อไปได้ ?
ในคำแถลงพรรคคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์และเองเกิลส์ เราจะมองเห็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่อุดมด้วยเสรีภาพ และ ความเป็นมนุษย์ เรามองเห็นอนาคตที่ผู้คนไม่ต้องผูกติดกับเครื่องจักร และเป็นทาสของนายทุน เรามองเห็นครอบครัวอบอุ่นที่ไม่ถูกแยกสลายเพราะการดิ้นรนเลี้ยงปากท้อง และสถานะความไม่มั่นคงของระบบคนกินคนที่พ่อไปทาง แม่ไปทาง และลูกสาวถูกขายเป็นโสเภณี ขณะที่ลูกชายเป็นแรงงานเด็ก เราไม่ต้องการเห็นเด็ก 5 ขวบวิ่งตามแม่อยู่ตามสี่แยกไฟแดงเพื่อขายพวงมาลัย และแน่นอนเราจะไม่เห็นการถูกปราบปรามเข่นฆ่าด้วยอาวุธสงครามอย่างกรณีเทียนอันเหมิน….กรณีสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 กรณียิงผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริงในเหตุการณ์ พฤษภา 35 และ 53 และอีกหลายกรณี
แนวคิดของมาร์กซ์ที่พร่ำเสนอว่า สังคมนิยมเป็นประชาธิปไตยสูงสุดเป็นเพียงคำหลอกลวงหรือไม่? เสรีภาพในสังคมคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่ในพรรคมาร์กซิสต์ มีจริงหรือไม่?
ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายอกหัก กล่าวหาว่าแนวมาร์กซิสต์เป็นเผด็จการโดยรัฐและพรรค
สิ่งที่ฝ่ายขวาพูดอาจจะรับฟังได้ยากและเป็นข้อโจมตีมาแต่ไหนแต่ไร ฝ่ายซ้ายอกหักทั่วโลกที่พบกับประสบการณ์ภายใต้การนำของพรรคสายสตาลิน–เหมา อย่างพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็เจอะเจอมา เราน่าจะมีคำอธิบายที่มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง ไม่ใช่ฝ่ายซ้ายอกหักจะสรุปว่าพรรคมาร์กซิสต์เป็นเผด็จการ ฝ่ายซ้ายปฏิรูป และฝ่ายก้าวหน้าก็มองไม่ต่างกัน และยังกล่าวหาเพิ่มว่าเราไม่สนใจจิตใจมนุษย์ ไม่สนับสนุนการสร้างสรรค์ หรือการพัฒนาเสรีภาพที่แท้จริง แต่พวกซ้ายมาร์กซิสต์ยังจมอยู่กับเศรษฐศาสตร์และวัตถุนิยม
รูปธรรมของการพัฒนางานศิลปะภายหลังการปฏิวัติรัสเซียเมื่อ 1917 น่าจะเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของการเพิ่มศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ ด้วยศิลปะที่หลากหลาย และไม่จำกัดรูปแบบ ซึ่งต่างกับศิลปะ จีน-รัสเซียหลังยุคสตาลินที่เสนอแกมบังคับศิลปะให้มีทิศทางไปในแนวเดียว ส่วนศิลปะในระบบทุนนิยมที่ดูเหมือนให้อิสรภาพกลับถูกบังคับด้วยกลไกตลาดที่ทำให้ศิลปินไม่กล้าผลิตงานศิลปะที่ฉีกแนวออกไป แต่กลับผลิตซ้ำและลอกเลียนเพื่อเพิ่มยอดขาย นอกจากนี้ ศิลปะยังถูกทำให้เป็นสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ และจำกัดการเสพในแวดวงผู้มีอำนาจซื้ออีกด้วย
ความเป็นเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพต่อชนชั้นนายทุนก็คือ การดึงเอาเสรีภาพของคนส่วนใหญ่กลับคืนมาโดยจำกัดสิทธิของชนชั้นนายทุนที่ปล้นไปจากเรา พรรคคอมมิวนิสต์ทำหน้าที่บริหารจัดการ แต่ภายในพรรคจะเป็นเผด็จการโดยชนชั้นนำหรือฝ่ายนำของพรรคเพียงไม่กี่คนไม่ได้ สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคสายสตาลิน-เหมาอื่นๆ ทำคือ เผด็จการเบ็ดเสร็จที่เสวยสุข เสวยอำนาจในหมู่พวกพ้องข้าราชการแดง และกดขี่ประชาชน เราต้องจำแนกตรงนี้ให้ได้
เสรีภาพขของปัจเจกภายในพรรคมาร์กซิสต์เป็นอย่างไร…
ความจริงก็คือ ปัจเจกในพรรคมาร์กซิสต์ กับปัจเจกในสหภาพแรงงาน จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น ในการแสดงความเห็นออกไปที่ไม่ตรงกับเสียงส่วนใหญ่ หรือการไม่ยอมนัดหยุดงานตามเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น การให้เสรีภาพแก่ปัจเจกเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนนโยบายทางการเมือง มีความสำคัญยิ่ง และเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้พรรคดำรงอยู่ได้โดยไม่เกิดลัทธิพรรคพวก เป็นการควบคุมตรวจสอบภายในพรรคเพื่อไม่ให้เกิดเผด็จการภายในพรรค ดังนั้นเสรีภาพของปัจเจกและการสร้างประชาธิปไตยภายในพรรคจึงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างพรรค เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ประชาธิปไตยรวมศูนย์ภายในพรรค ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์บิดเบือนหลักการนี้โดยอ้างสถานการณ์สงคราม กฏงานลับ การจัดตั้งแบบมีลำดับชั้น เพื่อรวมศูนย์อย่างเดียว ห้ามสมาชิกมีความเห็นแตกต่าง กระทั่งสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล เพื่อเสริมอิทธิพลและอำนาจ (ที่มองไม่เห็น) ของ “ท่านผู้นำ” หรือ “จัดตั้ง”
ประเด็นการใช้ประชาธิปไตยรวมศูนย์ของเลนินในการสร้างพรรค ถูกพรรคสายสตาลินนำมาใช้อย่างกลไก ดังเช่นบทเรียนที่นักศึกษาที่เข้าป่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ต่างได้ประสบพบมาอย่างถ้วนหน้า ความคิดที่ต่างจากพรรคกลายเป็นความผิดถึงขั้นเป็นขบถ มีการแจกหมวก “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ” ให้สวมกัน จนไม่มีใครกล้าคิด กล้าทำ กล้าสร้างสรรค์ พรรคคอมมิวนิสต์ที่ส่วนใหญ่มีผู้นำมาจากชาวนาบริหารจัดการพรรคอย่างคับแคบ และเป็นเผด็จการ เน้นการรวมศูนย์มากกว่าประชาธิปไตย เน้นการฟังคำสั่งมากกว่าการคิดด้วยตนเอง เหมือน “ซีอีโอในระบบทุนนิยม” ที่ไม่ต้องฟังใคร ได้แต่สั่งอย่างเดียว
ซึ่งหลักการจริงในการรวมศูนย์นั้นก็เพื่อนำมติเสียงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นภายหลักการถกเถียงอย่างเสรีของสมาชิกปัจเจกทุกคนเพื่อไปกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกัน คือ เป็นการหนุนส่งให้เสรีภาพที่แสดงออกโดยทุกคนถูกนำไปใช้อย่างมีพลังมากกว่าการจำกัดเสรีภาพ เช่น ในการนัดหยุดงานของสหภาพ หากสมาชิกเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยก็สามารถเสนอเหตุผลต่อที่ประชุม แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นว่าควรนัดหยุดงาน เสียงส่วนน้อยก็ต้องร่วมปฏิบัติ เสรีภาพของคนงานจึงมาจากการรวมพลังและการรวมตัวกัน และพร้อมจะทบทวนหากเกิดความผิดพลาด
ถ้านายทุนจะเสรี เขาต้องเน้นเสรีภาพปัจเจก ในเมื่อเขาคุมรัฐและปัจจัยการผลิต คุมแม้แต่กลไกการสร้างวัฒนธรรมที่มอมเมาให้คนยอมจำนน ดังนั้น เสรีภาพที่นายทุนเอ่ยอ้างจึงเป็นเสรีภาพจอมปลอมที่พันธนาการโดยระบบผูกขาดพร้อมจะกดขี่ขูดรีดชนชั้นอื่น
ในระบบทุนนิยมมีแต่ชนชั้นนายทุนเท่านั้นที่มีเสรีภาพที่จะขูดรีดเอารัดเอาเปรียบพวกเรากรรมาชีพ
ตัวอย่างรูปธรรมมีให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในครอบครัว ในสถานศึกษา ในที่ทำงาน ในสังคม คนที่มีความเห็นต่างจากผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา และรัฐ ล้วนถูกเรียกว่าพวกหัวแข็ง พวกหัวรุนแรง พวกขบถ พวกหัวเอียงซ้าย ฯลฯ เรามีแค่เสรีภาพที่จะคิดคล้อยตามกระแสหลักของสังคมตามกฎ กรอบ ที่ชนชั้นปกครองกำหนด
สำหรับสังคมใหม่ ชีวิตส่วนตัว วิถีการดำเนินชีวิต รสนิยม ความเชื่อ และศิลปะอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของแต่ละปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องที่ไม่มีใครมาครอบงำกำหนด แม้แต่การเลือกนับถือศาสนา ก็ยังถือเป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจก สังคมนิยมปลดปล่อยพลังการผลิตเพื่อนำมารับใช้คนส่วนใหญ่ของสังคมจึงมีเสรีภาพมากที่สุด เสรีภาพของปัจเจกที่แท้จริงจะได้มาก็ต่อเมื่อเรากรรมาชีพร่วมกันโค่นล้มทำลายระบบทุนนิยม และจำกัดเสรีภาพของเหล่านายทุนลงไปเท่านั้น….
(เรียบเรียงจากคลัง นสพ.ของสำนักพิมพ์ กปร.)
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6