Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

เงื่อนไขการมีความรักของกรรมาชีพ

โดย หม่อมถนัดซ้าย

เดือนแห่งความรักเพิ่งผ่านมาหมาดๆ ผมจึงอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับความรักของกรรมาชีพให้ชวนคิดกัน เพราะรักคือปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตอยู่บนโลก หากเราอยู่อย่างไร้รัก ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้ แต่ก็เป็นชีวิตที่เหี่ยวเฉา เหมือนดอกไม้ที่แห้งเหี่ยวขาดสีสัน

ถ้ากล่าวถึงความรักในปัจจุบัน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเราก็จะเห็นความรักหลากหลายรูปแบบ แต่บทความนี้ผมจะพูดถึงความรักของชนชั้นกรรมาชีพ คนที่ต้องทำงานหนักในอ๊อฟฟิศจนไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะรักใครสักคน ลำพังคิดแต่เรื่องหาเงินก็หมดวันซะแล้วเหมือนคนหาเช้ากินค่ำยังไงยังงั้น หรือกระทั่งจะรักษาความสัมพันธ์กับคนรักก็ยากขึ้น

รักที่มีอุปสรรคของกรรมาชีพ

หลายคนมองว่าแรงงานกรรมาชีพรักไม่เป็น เป็นแต่ผลิตลูกหลาน ซึ่งไม่เป็นความจริง พวกเรารักเป็น และยังวางแผนเกี่ยวกับความรักอย่างรอบคอบ แต่ที่มันเป็นอย่างทุกวันนี้ยกตัวอย่างเช่น รักกันแล้วสักพักก็เลิก มันก็มีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักคือเรามีความรักภายใต้ระบบทุนนิยม ที่สร้างเงื่อนไขให้เรามุ่งแข่งขันกันจนหลงลืมการสร้างความรักที่แท้จริงที่มนุษย์ควรจะมี

เรามีชุดความเชื่อที่ปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นว่า ต้องเก็บเงินให้ได้เยอะๆ มีบ้านมีรถก่อนจะคิดมีภรรยาและลูก เพื่อจะได้เลี้ยงดูพวกเขาอย่างสบาย มีคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงนั้น มันไม่ได้ง่ายและสวยงามอย่างที่เราคิดนัก เนื่องจากกลไกของระบบทุนนิยม ที่ลูกจ้างไม่มีความมั่นคงในการทำงาน สวัสดิการไม่เพียงพอ อาจจะถูกไล่ออกเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องยากที่เราจะมีความรักที่แท้จริงและอยู่ร่วมกับใครสักคนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง

ในที่ที่ผมอยู่นั้น คนทำงานส่วนมากจะเป็นหนุ่มสาวที่โสด โดยที่พวกเราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสมวัยด้วยซ้ำ เพราะต้องทำงานแลกกับเงินที่ไม่พอจุนเจือเหมือนคนที่เขย่งขาในสระว่ายน้ำ ซึ่งต่างจากลูกคนรวยหรือพวกชนชั้นนายทุน ที่พวกเขาจะรัก หรือ จะเลิก หรือจะอะไรก็ตามแต่ แทบไม่ต้องมีภาระแบกหลัง

ความรักของกรรมาชีพนั้นจึงมีเงื่อนไขเหมือนเรากำลังทำสัญญาข้อตกลงอะไรสักอย่าง ซึ่งมันห่างไกลจากความรักที่แท้จริงเหลือเกิน นั่นคือเราเป็นมนุษย์เราต้องการความรักให้แก่กันและกัน แต่ด้วยเงื่อนไขของระบบที่กดขี่กดดันเรานี้ มันไม่เอื้อให้เรารู้จักความรักที่แท้จริง เราอยู่กับคนรักเพียงเพื่อช่วยประคับประคองให้อยู่รอดทางเศรษฐกิจ ช่วยกันจ่ายบิลค่าต่างๆ แบบครอบครัวใครครอบครัวมัน จึงไม่สามารถมาครุ่นคิดหาความหมายของความรัก ความสัมพันธ์ของคนสองคนควรอยู่บนหลักการพื้นฐานอะไร ควรมีลักษณะอย่างไรหรือควรมีเป้าหมายอะไรบ้าง

ความรักที่แท้จริงสำหรับกรรมาชีพอย่างผม

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ ความเท่าเทียมของมนุษย์ทุกคนในสังคมประชาธิปไตย ผมเชื่อเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ควรอยู่บนหลักการความเสมอภาค ซึ่งเป็นความเชื่อแบบสังคมนิยม ไม่มองเรื่องสถานะลำดับชั้นทางสังคม ที่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งกำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่อยู่ฝ่ายเดียว หรือยึดติดผลประโยชน์ของอีกฝ่าย หรือฝ่ายที่หาเงินได้น้อยกว่าโดยเฉพาะฝ่ายหญิงต้องติดกับดักความสัมพันธ์ หรือมองความรักเป็นสินค้าที่ต้องหาซื้อ เป็นเจ้าของกันตามทัศนะของทุนและนักการตลาด ต้องจัดงานแต่ง ซื้อของหมั้นของกำนัล ทำให้รักกลายเป็นเครื่องมือแสดงสถานะทางเศรษฐกิจไป ดังนั้น ตามแนวทางสังคมนิยมบนหลักความเสมอภาคและเสรีภาพ ความรักที่ดีงามจึงควรมาจากศักยภาพที่จะรักของคนสองคน ที่มีอิสระในการคิด ตัดสินใจ เป็นตัวของตัวเอง และมีพลังสร้างสรรค์ ต่อสู้กับวัฒนธรรมที่กดขี่ขูดรีด มากกว่าการทำร้ายเชือดเฉือนอารมณ์ต่อกัน

เมื่อเรายังมีอุปสรรคสำคัญคือ เราอยู่ในสังคมที่มีการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ การศึกษา ระบบเผด็จการ กดขี่ขูดรีด เราจะต้านทานความรุนแรงที่กระทำโดยคนมีอำนาจได้อย่างไร ผมมองว่า ถ้าเราตระหนักถึงความสำคัญของการมีความรักที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ พลังความรักของเรากรรมาชีพก็ควรนำไปใช้ปลดแอกจากระบบสังคมชนชั้น สร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการที่ทำให้พวกเราทำงานน้อยลง ไม่ถูกปฏิบัติเยี่ยงหุ่นยนต์ ใช้เงินเป็นตัวล่อให้เราทำงานไม่หยุด มีการกระจายอำนาจ รายได้ หลักประกันต่างๆ และเพิ่มเวลาพักผ่อนที่มนุษย์ค่าจ้างอย่างเราพึงมี


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com