Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

กลไกตลาดและการแข่งขัน ไม่ใช่ธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

โดย วัฒนะ วรรณ

บ่อยครั้งเมื่อผู้คนสัมผัสถึงความด้อยประสิทธิภาพในสินค้าและการบริการ ทั้งของรัฐบาลและของบริษัทเอกชน คนจำนวนหนึ่งจะเรียกร้องถามหาการ “แข่งขัน” หรือแม้แต่กลุ่มคนที่รณรงค์เรื่อง เหล้าเบียร์เสรี ก็มองว่าการที่เหล้าเบียร์ถูกจำกัดการผลิตสำหรับรายย่อย ทำให้ความหลากหลายหายไป ก็เพราะกลุ่มทุนใหญ่ “กลัว” การแข่งขัน ต้องการการผูกขาด

เป็นเรื่องจริงที่บริษัทต่างๆ ในระบบทุนนิยมไม่ชอบการแข่งขันถ้าตนเอง “เสียเปรียบ” พวกเขาใช้เครื่องมือหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรัฐกีดกันคู่แข่ง สร้างระบบสัมปทาน ใช้แนวคิดชาตินิยมกีดกันทุนต่างชาติ แต่ในอีกมุมหนึ่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็มักจะเรียกร้องการแข่งขันเสรี เพื่อเข้าไปในพื้นที่ที่ตนเองถูกกีดกัน มีการใช้กองกำลังติดอาวุธ กองทัพ เพื่อกดดันรัฐขนาดเล็กให้เปิดพื้นที่การแข่งขันที่เรียกว่า “จักวรรดินิยม”

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมโลกไม่นานนัก อาจจะเริ่มนับได้จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมอังกฤษ ปี 1760 หรือการเซ็นสัญญาเบาว์ริ่ง ปลายรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ สำหรับการเริ่มต้นทุนนิยมในไทย แต่มันถูกสร้างภาพให้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ จนผู้คนอาจจะละเลย ตรวจสอบ ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพจริง

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ถูกขับเคลื่อนโดย “กลไกตลาด” หรือการแข่งขัน ที่มักจะเรียกกันว่า “มือที่มองไม่เห็น” ตามแนวทางทฤษฎีเสรีนิยมที่มีเจ้าสำนักคนสำคัญคือ อดัม สมิธ

สมิธ อธิบายว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม “กลไกตลาด” จะเป็น “มือที่มองไม่เห็น” คอยจัดการบริหารทรัพยากร และผลผลิตทั้งมวลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสังคมให้เข้าสู่ภาวะ “ดุลยภาพ” เสมอ เช่น ถ้าสินค้ามีจำนวนมากกว่าความต้องการบริโภค ราคาสินค้าจะลดลง กำไรก็จะลดลง ผู้ผลิตก็จะผลิตลดลง ปริมาณสินค้าและความต้องการก็จะเข้าสู่จุดดุลยภาพ ปริมาณสินค้าและความต้องการจะจัดสรรกันพอดีไม่เหลือไม่ขาด

แต่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมอีกสำนักแย้งว่า ระบบเศรษฐกิจจะไม่เข้าอยู่ระบบดุลยภาพเสมอไป โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เคนส์ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า “กับดักสภาพคล่อง” ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ถึงแม้ผู้คนจะมีความต้องการในการบริโภคสินค้าจำนวนมาก แต่เอกชนผู้มีเงินทุนจะไม่กล้าและไม่มั่นใจที่จะลงทุนในการผลิตสินค้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เคนส์ จึงเสนอว่าในสภาวะแบบนี้ รัฐบาลที่มีเงินจะต้องลงทุนในระบบเศรษฐกิจ สร้างงาน ผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนมีสินค้าสำหรับบริโภค มีรายได้จากการทำงาน เพื่อนำมาจับจ่ายกระตุ้นให้เกิดการผลิตในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

จะเห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บางครั้งก็จะใช้รัฐเข้ามาบริหารจัดการ บางครั้งก็เรียกร้องให้รัฐเล็กลง ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต่างๆ จะสามารถสร้าง “กำไร” ได้หรือไม่ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนโดยเท่าเทียม กลไกตลาดไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามันมีการแทรกแซงกันมาตลอดมากบ้างน้อยบ้าง แต่มันจะไม่เป็นปัญหาถ้าการแทรกแซงนั้นๆ ให้ประโยชน์กับชนชั้นนำนายทุน แต่ถ้าการแทรกแซงทำไปเพื่อประโยชน์ต่อคนจนจะเป็นปัญหาทันที เช่น ในยุคทักษิณที่มีนโยบายบางอย่างให้ประโยชน์คนจน ผ่านการลงทุนจากรัฐแบบสำนักเคนส์ ก็ถูกต่อต้านว่าเป็นการทำลาย “วินัยการคลัง” แต่การนำเงินไปช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ หรือการใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยต่างๆ ของชนชั้นนำสามารถทำได้ไม่เคยเป็นปัญหา

ถ้าต้องการสังคมที่มีความเท่าเทียมจริงทางเศรษฐกิจ ผู้ที่รักความเป็นธรรมต้องกล้าที่คิดนอกกรอบเสรีนิยมกลไกตลาดและการแข่งขัน จำเป็นต้องกลับมาทบทวนแนวคิดแบบมาร์คซิสต์ที่เน้นการวางแผนการผลิตตามความต้องการของผู้คนอย่างแท้จริงโดยผู้ผลิตและผู้บริโภค


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement
บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com