โดย สหายไผ่แดง และ นฤพล ปัญญาชนซ้ายจัด
รัฐ คือ เครื่องมือที่ชนชั้นหนึ่งใช้เพื่อกดขี่อีกชนชั้นหนึ่ง ในระบบทุนนิยมนั้น รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนที่ใช้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ โดยชนชั้นนายทุนอาศัยกลไกการปราบปรามของรัฐเพื่อบังคับใช้ความรุนแรงในการควบคุมชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งกระทำผ่านองค์กรพิเศษติดอาวุธไม่ว่าจะเป็น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ และนอกจากนี้ยังมีกลไกทางอุดมการณ์โดยมีสถาบันทางสังคมต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อสารมวลชน สถาบันการเมือง สถาบันกฎหมาย และสถาบันทางวัฒนธรรม เป็นต้น
ซึ่งสถาบันเหล่านี้ทำหน้าที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ในการกล่อมเกลาทางความคิดเพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพยอมรับเงื่อนไขในการกดขี่อย่างพินอบพิเทา จากที่กล่าวมาข้างต้นไม่ว่าจะเป็นกลไกการปราบปรามของรัฐ หรือ กลไกทางอุดมการณ์ ก็ดี รัฐทุนนิยมจำเป็นต้องพึ่งพากลไกทั้งสองรูปแบบเพื่อให้การกดขี่ทางชนชั้นมีประสิทธิภาพ
กลไกทางอุดมการณ์อย่างสถาบันการศึกษาเองก็ถือเป็นจุดสำคัญหนึ่งที่ถัดจากสถาบันครอบครัวและศาสนา ซึ่งมีส่วนทำให้เราทุกคนสามารถเริ่มยอมรับกับรูปแบบและโครงสร้างของสังคมทุนนิยม นับตั้งแต่เราพ้นจากอ้อมอกของพ่อแม่ และย่างก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียน กระบวนการกล่อมเกลาได้ปรากฏเด่นชัดขึ้น ในแง่มโนทัศน์เรื่องการไต่เต้าทางสังคม การแบ่งแยกลำดับชั้นได้ถูกบ่มเพาะลงในความคิดของเราทุกคน มีการกำหนดสร้างและวางบทบาททางสังคมผ่านวิชาหน้าที่พลเมือง แล้วยังรวมไปถึงการปลูกฝังศีลธรรมของชนชั้นปกครอง
ในอีกแง่หนึ่งสถาบันการศึกษายังเป็นรูปจำลองที่สะท้อนภาพของกลไกรัฐทุนนิยมได้เป็นอย่างดี เพราะมีทั้งการกล่อมเกลาทางอุดมการณ์อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และการใช้ความรุนแรงผ่านการควบคุมระเบียบวินัยนักเรียน อย่างที่เราเห็นได้ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการที่ครูกล้อนผมนักเรียน ไปจนถึงการที่ครูทำโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง
แต่การกล่อมเกลาของรัฐทุนนิยมไม่ได้หยุดแค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น สามารถเห็นได้จากสถานที่ทำงาน มีการออกกฎระเบียบการแต่งกายของพนักงาน หรือเห็นได้ชัดจากที่รัฐมีกฎให้ข้าราชการสวมใส่ชุดยูนิฟอร์ม สิ่งที่ทำให้เรามองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เกิดจากการทำงานของกลไกทางอุดมการณ์ที่เหล่านายทุนใช้เพื่อกล่อมเกลาเราให้เชื่อง หรือที่กรัมชี่อธิบายว่าเป็นแนวคิดของนายทุนที่เรียกว่า “กระแสหลัก” ซึ่งการกล่อมเกลาถูกกระทำผ่านสถาบันใน “ประชาสังคม” เช่น สถาบันการศึกษา ศาสนา หรือแม้แต่ครอบครัวเองก็เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ดี ตัวเราจะมีความคิดที่ขัดแย้งกับกระแสหลักอยู่เสมอ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา คือ เราอาจเชื่อคำสอนของพุทธศาสนาที่ก่อให้เกิดความเมตตา แต่เราก็อาจได้ยินพระสงฆ์พูดว่าควรมีโทษประหาร ควรรักชาติและเชื่อฟังผู้นำ ในขณะเดียวกันเราก็อาจเห็นผู้นำนั้นกอบโกยผลประโยชน์และความร่ำรวยจากการขูดรีดคนไทยด้วยกันเอง เป็นต้น หากความขัดแย้งดังกล่าวดำรงอยู่ในระดับความคิดเพียงเท่านั้น โดยที่ไม่ทำอะไรอาจก่อให้เกิดความสับสัน ตัดสินใจไม่ได้ เลือกแนวทางไม่ถูก
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหานี้ในระยะสั้น คือ การจัดตั้งสหภาพครูและนักเรียน หากปัจเจกเกิดการรวมตัวกันจนสามารถต่อสู้กับชนชั้นปกครอง ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจะถูกคลี่คลายลงในบางส่วนจากการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างสองฝ่าย แต่ปัญหาที่ว่าไม่อาจสามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด หากเรายังอยู่ภายใต้รัฐทุนนิยมและสังคมที่ยังมีการแบ่งแยกชนชั้น
ในระยะยาวเราจำเป็นจะต้องสร้างองค์กรมวลชนที่มีประชาธิปไตยภายในเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง แล้วเมื่อการปฏิวัติมาถึงเราต้องบดขยี้กลไกเหล่านี้ให้สิ้นซาก และสร้างสังคมใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6