Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

ท่าทีต่อการเลือกตั้ง

โดย กองบรรณาธิการ

ปี 1907-1910 เป็นช่วงที่กระแสการต่อสู้ของกรรมาชีพรัสเซียตกต่ำไม่สู้เลย เลนิน เสนอให้สมาชิกบอลเชวิคเข้าไปทำงานในรัฐสภา หรือสภาดูมา ทั้งๆ ที่สภานั้นมีอำนาจจำกัดมาก (เลนินอธิบายว่าถ้าจำเป็นเราจะต้องยอมทำงานในคอกหมู) หรือทำงานในสหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงทำงานกับพวกเมนเชวิคในระดับหนึ่ง เช่นในการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภา แต่เลนินเตือนว่าพรรคบอลเชวิคจะต้องรักษาจุดยืนที่ชัดเจนและจะต้องวิจารณ์พวกเมนเชวิคตลอด

ปี 1900 โรซ่า ลักเซมเบิร์ก ผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมเยอรมัน เขียนในหนังสือ “ปฎิรูปหรือปฏิวัติ” ใจความส่วนหนึ่งอธิบาย ความสำคัญของการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ในกรอบของระบบทุนนิยม ไม่ใช่สิ่งที่นักปฏิวัติสังคมนิยมละเลยเสรีภาพและประชาธิปไตยในระบบทุนนิยม ช่วยหนุนเสริมกำลังใจ ประสบการณ์การต่อสู้ของกรรมาชีพ เพื่อนำทางไปสู่สังคมนิยมได้

“ถ้ามองจากมุมมองของนายทุน บางครั้งเขาจะไม่ให้ความสำคัญกับระบบประชาธิปไตย หรือเขาอาจรำคาญกับระบบนี้ด้วยซ้ำ แต่สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ ระบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำคัญเพราะรูปแบบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระบบนี้ เช่นการบริหารตนเองและสิทธิในการลงคะแนนเสียง ชนชั้นกรรมาชีพสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแปรรูปสังคมทุนนิยม” (โรซ่า ลักเซมเบิร์ก, 1900)

แต่การพูดเช่นนี้ ไม่ใช่เสนอให้รอคอยผลการลงคะแนนเสียงว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะหรือไม่ เราจำเป็นต้องทำมากกว่านั้น ด้านหนึ่งมันเป็นโอกาสที่จะชวนคนที่กระตือรือร้นต่อการเลือกตั้ง ตั้งคำถามถึงรัฐสภาทุนนิยมว่ามันสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกรรมาชีพและคนจนได้มากน้อยแค่ไหน และเรามีข้อเสนออะไรที่แตกต่างบ้าง อีกด้านหนึ่ง เราจะต้องปลุกกระแสมวลชน ออกมาปกป้องประชาธิปไตยทุนนิยมด้วย เพราะถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งแต่ไม่มีมวลชนขนาดใหญ่ออกมาปกป้อง รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่สามารถทำงานอะไรปฏิรูปอะไรได้ ซึ่งในสังคมไทยมีบทเรียนมาแล้ว นับตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทยจนถึงอนาคตใหม่

เมื่อตอน ฮูโก ชาเวซ ชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศเวเนซุเอลา ช่วงปี 1999-2013 เขาพยายามสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจน เช่น การเพิ่มงบประมาณให้กับโรงเรียน ระบบสาธารณสุข และการอนุญาตให้สตรีมีสิทธิ์ทำแท้งได้ ปฏิรูปสื่อ ปฎิรูปที่ดิน ปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยใช้ความมั่งคั่งของอุตสาหกรรมน้ำมันที่อยู่ในมือนายทุนชนชั้นนำไม่กี่คนมาใช้สร้างรัฐสวัสดิการดังกล่าว แต่เขาต้องเผชิญกับการต่อต้านจากพวกนายทุน นักการเมืองฝ่ายขวาซึ่งร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐที่เสียประโยชน์จากอุตสาหกรรมน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สหภาพแรงงานฝ่ายขวาในอุตสหกรรมน้ำมันให้นัดหยุดงาน รวมถึงใช้สื่อส่วนใหญ่ที่อยู่ในมือฝ่ายขวาโจมตีรัฐบาลชาเวซ และในปี 2002 มีความพยายามทำรัฐประหารจากทหารฝ่ายขวาที่ได้การสนับสนุนจากสหรัฐ ชาเวซถูกจับเข้าคุก แต่ประชาชนออกมาต่อต้านการรัฐประหารบนถนนเป็นแสน จนการรัฐประหารล้มเหลว รัฐบาลซาเวซรอดมาได้ด้วยการปกป้องจากมวลชนขนาดใหญ่ตลอดมา (แต่นี่ก็คือจุดอ่อนของเขาที่ไม่ยอมปฏิวัติทำลายโครงสร้างอำนาจเก่า แต่ใช้วิธีปฏิรูปคู่ขนานกันไป)

ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ควรประเมินพรรคทหารต่ำเกินไป เราจำเป็นต้องใช้กระแสการเลือกตั้งปลุกระดมผู้คนที่รักความเป็นธรรม เสรีภาพ ประชาธิปไตย รวมถึงผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ให้ออกมาช่วยกันกระตุ้นให้คนออกมามากกว่าแค่ลงคะแนนเสียงเลือก ส.ส. ฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งมันไม่พอ ขบวนการมวลชนยังจำเป็น การรื้อฟื้นขบวนการต่อสู้ขึ้นใหม่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่จะต้องหาวิธีเชื่อมประสานงานกันของมวลชนพื้นฐานเอง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในขบวนการเสื้อแดง หรือที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในขบวนการคนหนุ่มสาว แต่เราจะต้องเรียนบทเรียนความพ่ายแพ้ในอดีตด้วย ขบวนการใหม่ควรมีหน้าตาอย่างไร อย่างน้อยที่สุดโครงสร้างการนำควรเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น และความสัมพันธ์ของมวลชนต่อองค์กรควรมีความเหนี่ยวแน่นกันมากขึ้น ที่ไม่ใช่แค่เครือข่ายหลวมๆ แบบปัจเจก

เราอาจเริ่มต้นจากการสร้างแนวร่วมชวนคนออกมาเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ และสร้างสภาจับตาการเลือกตั้ง หรือสภาปกป้องเสียงประชาชน เพื่อประสานงานกันให้เป็นเอกภาพของพื้นที่ต่างๆ


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com